xs
xsm
sm
md
lg

เล่าเรื่อง “คุณตาดอกไม้บาน” ณ เวลาซากุระผลิ

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


ห้านิทานเอกของญี่ปุ่น

คนญี่ปุ่นชอบจัดอันดับหรืออย่างน้อยก็จัดหมวดหมู่ แม้บางครั้งการทำเช่นนั้นอาจไม่ตรงใจใครหลายคน แต่ก็สร้างความเห็นพ้องได้ในวงกว้าง และในหลายๆ กรณีก็มีประโยชน์เชิงการศึกษา เพราะคนเราไม่สามารถนำข้อมูลทุกอย่างในโลกมากรองด้วยตัวเองอยู่แล้ว และหากมองลึกลงไปอีกหน่อย ก็จะพบว่าการจัดอันดับคือการจัดระเบียบให้ง่ายต่อความเข้าใจ ซึ่งสะท้อนนิสัยรักความเป็นระเบียบเรียบร้อยอันนำไปสู่ความสะดวกในที่สุด

การจัดอันดับของคนญี่ปุ่นครอบคลุมแม้กระทั่งเรื่องนิทาน มีนิทานห้าเรื่องที่คนญี่ปุ่นจัดให้เป็นตัวแทนเชิงคติชน การจัดนี้มีมาแล้วประมาณช่วงปลายสมัยมุโระมะชิ (室町時代; Muromachi jidai; พ.ศ.1879 - 2116) ถึงต้นสมัยเอะโดะ (江戸時代; Edo jidai; พ.ศ. 2146 – 2411) ห้าเรื่องนี้ได้รับการขนานนามว่า “ห้านิทานเอกแห่งญี่ปุ่น” ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “นิฮง โกะ ได มุกะชิบะนะชิ” (日本五大昔話;Nihon go dai mukashibanashi; ญี่ปุ่น-ห้า-ใหญ่-นิทาน) ได้แก่

โมะโมะทะโร (桃太郎; Momotarō)
ภูเขาเปรี๊ยะเปรี๊ยะ (かちかち山; Kachikachi yama)
สงครามลิงกับปู (猿蟹合戦 ; Saru kani gassen)
นกกระจอกลิ้นขาด (舌切り雀; Shitakiri suzume)
คุณตาดอกไม้บาน (花咲爺; Hanasaka jijī)

เรื่องเหล่านี้ไม่ได้เรียงลำดับว่าเรื่องใดดีเด่นกว่ากัน แต่พจนานุกรมญี่ปุ่นก็บรรจุรายละเอียดไว้โดยมักเขียนเรียงลำดับตามข้างต้น คนไทยหลายคนคงมีโอกาสได้รู้จักนิทานห้าเรื่องนี้กันบ้างแล้ว (ด้วยชื่อเรื่องที่อาจจะแตกต่างกันออกไป) เพราะมีการแปลเป็นภาษาไทยมาเนิ่นนาน ญี่ปุ่น ไม่มีคนญี่ปุ่นคนไหนที่ไม่รู้จักห้าเรื่องนี้ นอกจากห้าเรื่องนี้ ญี่ปุ่นยังมีนิทานอีกเป็นร้อยๆ เรื่อง หากนับรวมนิทานระดับท้องถิ่นและอีกหลากหลายเวอร์ชันในแต่ละภูมิภาคด้วย ก็มีนิทานเป็นพันๆ บางเรื่องก็คล้ายกัน บางเรื่องได้รับอิทธิพลจากจีน บางเรื่องเป็นของดั้งเดิมของญี่ปุ่น

แน่นอนว่าเรื่องที่น่าเล่าที่สุดในช่วงที่ดอกซากุระกำลังบานพร้อมๆ กับปีงบประมาณใหม่ของญี่ปุ่นซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน คือ “คุณตาดอกไม้บาน” เรื่องนี้มีความเศร้าตอนต้นเรื่อง แต่ก็มีความปีติตอนท้าย เหมาะกับบรรยากาศที่มีแต่รอยยิ้มกับความสดชื่นในฤดูแห่งการเริ่มชีวิตใหม่ของหลายคน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนนักศึกษา หรือพนักงานใหม่

“คุณตาดอกไม้บาน” เป็นเรื่องแนว “คันเซ็นโชอะกุ” (勧善懲悪; kanzen chōaku) แปลตามตัวอักษรคือ “ส่งเสริมความดี ลงทัณฑ์ความชั่ว” ภาษาอังกฤษใช้คำว่า poetic justice ศัพท์บัญญัติภาษาไทยใช้ว่า “ยุติธรรมแบบกวี” ฟังแล้วอาจจะเข้าใจยาก ถ้าใช้ภาษาชาวบ้านก็คือ “กรรมตามทัน” หรือ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ซึ่งเป็นขนบหรือกลวิธีอย่างหนึ่งในการแต่งนิทาน

จากชื่อเรื่อง ย่อมอนุมานได้ว่าจะต้องมีตัวละครคุณตา และมีดอกไม้เป็นองค์ประกอบสำคัญ และด้วยขนบญี่ปุ่นดั้งเดิม เมื่อเอ่ยคำว่า “ดอกไม้” แม้มิได้ระบุชื่อเฉพาะลงไป แต่คนญี่ปุ่นก็จะนึกถึงดอกซากุระก่อนเป็นอันดับแรก ดอกไม้ในเรื่องนี้จึงหมายถึงดอกซากุระนั่นเอง นี่คือความแนบแน่นที่คนญี่ปุ่นมีต่อดอกซากุระ เช่นเดียวกับที่คนไทยมีต่อข้าว ดังกรณีที่ถามว่า “กินข้าวรึยัง” แล้วคนตอบก็ตอบว่า “กินแล้ว” ถึงแม้ว่าเพิ่งกินก๋วยเตี๋ยวหรือพิซซ่ามา

คุณตาดอกไม้บาน

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ตายายผู้ใจดีมีเมตตาเจอสุนัขตัวน้อยสีขาวถูกทิ้งไว้ที่ริมแม่น้ำ ลำพังสองคนตายายอยู่กินกันมานานก็ไม่มีลูกหลาน จึงเก็บเจ้าหมาน้อยมาเลี้ยงอย่างเอ็นดู และทำมาหากินอย่างสงบกันต่อไป

วันหนึ่งขณะที่ตาทำงานในไร่นา สุนัขตัวนั้นก็ตะกุยดิน และเห่าบอกเจ้าของว่า
“วัง! วัง! – โฮ่ง โฮ่ง”
“อะไรเรอะ? อ้อ ขุดตรงนี้รึไง” ตาพยักหน้ารับรู้ “ได้ ได้ จะลองขุดดูละนะ”

พอตาขุดลงไปก็เจอเหรียญทองตรงนั้น แต่ปรากฏว่ารู้ไปถึงหูตาแก่เพื่อนบ้านผู้มีความละโมบโลภมาก เขาเกิดความอิจฉาริษยาขึ้นมา จึงวางแผนขอยืมตัวเจ้าหมาน้อยไป

“ขุดเข้าสิ ขุดลงไป” ตาแก่สั่งสุนัข ครั้นสุนัขตัวน้อยขุดลงไป เขาก็ตกใจผงะ “หา? นะ...นี่...นี่มัน”

ตาแก่เจอเพียงกระดูก และโมโหสุดขีด ทุบตีเจ้าหมาน้อยอย่างหนักจนมันตายที่สุด และไปแจ้งกับเจ้าของ ซึ่งก็เสียอกเสียใจและนำร่างสุนัขไปฝัง และเพื่อป้องกันหลุมศพจากลมและฝนจึงปลูกต้นไม้ไว้ ไม่ช้าไม่นานต้นไม้ก็เติบโตอย่างรวดเร็ว แล้วคืนหนึ่งเจ้าหมาน้อยก็มาเข้าฝันตาเจ้าของเดิม

“วัง! วัง! ตา ตาจ๋า ไปตัดต้นไม้เถอะจ้ะ แล้วก็เอาไม้ไปทำครกนะ”
“หือ อย่างนั้นรึ ว่าแต่ เจ้าสบายดีรึ”
“ฉัน...”

แล้วตาก็ตกใจตื่น แต่ก็ตั้งใจว่าจะทำตามที่เจ้าหมาน้อยบอกไว้ ครั้นตัดไม้มาทำครก พอนำข้าวใส่ลงไปเพื่อจะตำให้เป็นแป้งโมะชิ ข้าวก็กลายเป็นเหรียญทองขึ้นมาอีก ตาแก่เพื่อนบ้านเห็นดังนั้นเข้า ก็มาขอยืมครก หวังจะนำไปตำข้าวเช่นกัน แต่ปรากฏว่า

“นี่มันอะไรกัน! ทำไมมันเหม็นอย่างนี้ ไอ้แก่นั่นมันต้องหลอกข้าแน่ ๆ”

สิ่งที่ปรากฏในครกกลับกลายเป็นของเน่าเสียไปหมด ตาแก่โกรธจัด จึงฟันครกจนแตกและนำไปทำฟืน

คืนนั้น เจ้าหมาน้อยก็ไปเข้าฝันคุณตาใจดีอีก และบอกให้นำขี้เถ้าจากการเผาไม้ไปโปรยไว้ที่ซากต้นซากุระที่เหี่ยวแห้ง ตาก็ทำเช่นนั้นอีก แล้วต้นซากุระก็ออกดอกบานสะพรั่งสวยงามยิ่งนัก

ไดเมียวเจ้าครองแคว้นเดินทางผ่านมาพอดี เมื่อได้เห็นก็ประหลาดใจยิ่งนัก

“มาทำให้ต้นไม้แห้งเหี่ยวออกดอกบานกันเถิด” แล้วประโยคนั้นกลายเป็นคำกล่าวที่ติดหูคนญี่ปุ่นต่อมา

ไดเมียวชอบใจยิ่งนัก จึงมอบรางวัลให้แก่คุณตามากมาย ขณะเดียวกัน ตาแก่เพื่อนบ้านพยายามจะเลียนแบบอีก แต่กลับกลายเป็นว่าขี้เถ้าปลิวเข้าตาไดเมียว จึงสั่งให้ลงโทษตาแก่โลภมาก
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น