“เอกิเบ็น” หรือ ข้าวกล่องสถานีรถไฟ คือตัวแทนอาหารแต่ละภูมิภาคของญี่ปุ่น ทุกวันนี้ “เอกิเบ็น” มุ่งเอาใจนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยจำหน่ายข้ามภูมิภาค และจัดกิจกรรมโปรโมท ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถลิ้มลองรสชาติที่หลากหลายจากทั่วทั้งประเทศญี่ปุ่นได้
ในพื้นที่แต่ละภูมิภาคของญี่ปุ่นต่างมีอาหารท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อ อาหารเหล่านี้ถูกนำมาทำเป็น “เอกิเบ็น” หรือ ข้าวกล่องที่จำหน่าย ณ สถานรถไฟ นักเดินทางไม่เพียงแค่ได้ประทังความหิว แต่ยังได้ลิ้มรสอาหารดังของแต่ละภูมิภาคด้วย
แต่หลังจากระบบรถไฟของญี่ปุ่นพัฒนาจนมีความเร็วมากขึ้น ระยะเวลาเดินทางสั้นลงจนผู้โดยสารส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องรับประทานข้าวกล่องบนรถไฟอีกต่อไป “เอกิเบ็น” จึงถึงคราวซบเซา ปริมาณการจำหน่ายลดลงอย่างมาก ในปี 1964 “เอกิเบ็น” มียอดขายสูงสุดกว่าวันละ 4,240,000 กล่อง แต่ทุกวันนี้ยอดขายลดลงเหลือไม่ถึง 1 ใน 4 หรือวันละ 970,000 กล่องเท่านั้น
ผู้ผลิต “เอกิเบ็น” จึงต้องหันมาจับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาเยือนญี่ปุ่นมากกว่าปีละกว่า 20ล้านคน นักท่องเที่ยวต่างชาติชื่นชอบ “ข้าวกล่อง” ของญี่ปุ่นอย่างมาก ไม่เพียงถ่ายรูปอวดเพื่อนฝูงบนโลกออนไลน์ แต่ยังมีกลุ่ม “แฟนพันธุ์แท้” ที่ตระเวนลิ้มรสข้าวกล่องตามสถานีต่างๆทั่วญี่ปุ่น และเขียนเป็นหนังสือก็มี
ผู้ผลิต “เอกิเบ็น” รู้ว่าชาวต่างชาติส่วนใหญ่ ชอบทานข้าวร้อนๆ จึงคิดค้นเทคโนโลยี “ข้าวกล่องอุ่นอัตโนมัติ” โดยเพียงแค่ฉีกแผ่นฟลอยปิดกล่อง ข้าวกล่องก็จะร้อนขึ้นได้เอง
ร้านอาหารภายในสถานีรถไฟหลายแห่งยังขายข้าวกล่องข้ามภูมิภาค จากแต่เดิมที่ข้าวกล่องในแต่ละท้องถิ่นจะแตกต่างกันไป ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถลิ้มรสอาหารทั่วประเทศญี่ปุ่นได้ในที่เดียว
นอกจากนี้ ยังเพิ่มป้ายภาษาอังกฤษบอกถึงข้าวกล่องแต่ละชนิด รวมทั้งข้าวกล่องพิเศษที่แนะนำในแต่ละวันด้วย
สถานีรถไฟหลายแห่งยังจัดกิจกรรมโปรโมท “เอกิเบ็น” ทั้งจัดพนักงานขายเพื่อเรียกลูกค้า บางแห่งยังมีเครื่องแต่งกายหรือกิจกรรมเล็กๆน้อยๆ เพื่อให้ลูกค้าร่วมถ่ายรูปเป็นที่ระลึกด้วย
“เอกิเบ็น” แต่เดิมคือ “ข้าวกล่อง” อิ่มสะดวกสำหรับนักเดินทาง แต่ทุกวันนี้ “เอกิเบ็น” ได้กลายเป็นวัฒนธรรมอาหารของญี่ปุ่น และเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ที่ไม่เพียงอิ่มอร่อย แต่ยังเป็นหนึ่งในเครื่องมือสนับสนุนการท่องเที่ยวด้วย.