xs
xsm
sm
md
lg

สะดุดคำ เรื่องวุ่นๆ ของ “สตรีหมายเลขหนึ่งญี่ปุ่น” กับ “โมะริโตะโมะกะกุเอ็ง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

ชินโซ อะเบะกับภรรยา อะกิเอะ อะเบะ สตรีหมายเลขหนึ่ง (แฟ้มภาพเอพี)
ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


สะดุดคำ คือ มุมพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึกที่ลงทุกวันจันทร์ มุมนี้จะเป็นการบอกเล่า ‘ความเคลื่อนไหว’ หรือ ‘สิ่งที่อยู่ในความสนใจ’ ของคนญี่ปุ่นตามโอกาสพิเศษผ่าน ‘คำสำคัญ’ หรือ ‘คำเด่น’ ในช่วงเวลาหรือฤดูกาลนั้น มีกำหนดนำเสนอเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถติดตามสิ่งที่เป็นปัจจุบันหรือร่วมสมัยได้ในเวลาใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่น อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ที่เรียนหรือสนใจภาษาญี่ปุ่นได้นำคำหลักและคำที่เกี่ยวข้องไปใช้พูดคุยกับคนญี่ปุ่นหากมีโอกาสเพื่อให้บทสนทนาน่าสนใจและมีชีวิตชีวา โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อคนหรือคำญี่ปุ่นไว้ในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม อนึ่ง การถ่ายเสียงจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยในทุกบทความอิงหลักการเขียนคำทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นของราชบัณฑิตยสถานเป็นหลักแม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียงสั้นและเสียงยาวตามหลักภาษาญี่ปุ่น

การก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเป็นเรื่องยาก แต่เรื่องที่ลำบากกว่านั้นคือการบริหารบริวาร ตอนนี้นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในฐานะผู้นำประเทศก็กำลังตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเพราะบริวาร ซึ่งก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล แต่เป็นภรรยาของตนนั่นเองอันสืบเนื่องจาก “ที่ดิน” และกลายเป็นประเด็นร้อนแรงที่สุดในญี่ปุ่นตลอดช่วงเดือนมีนาคม ประชาชนก็กำลังรอคอยความกระจ่างอย่างไม่วางตา

ภริยาของนายกรัฐมนตรีได้รับการเรียกขานว่า “สตรีหมายเลขหนึ่ง” หรือ First lady ซึ่งเป็นคำที่สื่อตะวันตกชอบใช้ ญี่ปุ่นเองก็ได้รับอิทธิพลและใช้หลายคำสื่อความหมาย คำเต็มในภาษาญี่ปุ่นคือ “ไนกะกุ-โซริไดจิง-ฟุจิง” (内閣総理大臣夫人; naikaku-sōridaijin-fujin) ซึ่งมีความหมายตามตัวอักษรว่า “คณะรัฐมนตรี-นายก-ภริยา” หรือเมื่อพูดสั้น ๆ จะได้ว่า “ชุโช-ฟุจิง” (首相夫人; shushō fujin) หรือ “โซริ-ฟุจิง” (総理夫人; sōri fujin) รวมทั้งคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษก็ใช้ด้วย โดยออกเสียงเป็นสำเนียงญี่ปุ่นว่า “ฟาซึโตะ เรดี” (ファーストレディ;fāsuto redi)

“สตรีหมายเลขหนึ่ง” เป็นสถานภาพมากกว่าเป็นหน้าที่เพราะไม่ได้มีกฎหมายรองรับ แต่สื่อมวลชนก็ให้ความสนใจนำเสนอข่าวเป็นระยะๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สตรีหมายเลขหนึ่งคนล่าสุดของญี่ปุ่น เธอผู้นี้คือ “อะกิเอะ อะเบะ” (安倍昭恵; Abe, Akie) นามสกุลเดิมคือ “มะสึซะกิ” (松崎; Matsuzaki) เกิดเมื่อปี 2505 เป็นลูกสาวของอดีตประธานบริษัทโมะรินะงะ (Morinaga & Company, Ltd.) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำและทรงอิทธิพลอย่างสูงในวงการขนมของญี่ปุ่น อย่างเช่น การที่ผู้หญิงญี่ปุ่นให้ช็อกโกแลตแก่ผู้ชายในวันวาเลนไทน์จนเป็นธรรมเนียมมาถึงทุกวันนี้ก็เป็นผลมาจากแผนการตลาดในทศวรรษ 1960 ของบริษัทนี้ หรือแม้แต่การจ้างคนดังระดับโลกอย่าง The Carpenters มาเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาสินค้า บริษัทนี้ก็เคยทำมาแล้ว อะกิเอะ มะสึซะกิจึงเป็นคุณหนูผู้เกิดในแวดวงชั้นสูงและมีอันจะกิน

อะกิเอะ อะเบะ เป็นสตรีที่มีบุคลิกโดดเด่น มั่นใจในตัวเอง เป็นที่สนใจของสังคมและสื่อมวลชนมาพักใหญ่ตั้งแต่นายชินโซ อะเบะ (ซึ่งก็เป็นคุณหนูในตระกูลนักการเมืองเก่าแก่) เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปลายปี 2555 (สมัยแรกคือช่วงปี 2549-2550) เธอเป็นที่กล่าวขวัญถึงในฐานะผู้หญิงนักกิจกรรม เป็นคนที่กล้าแสดงออก เคยร่วมขบวนพาเหรดของ LGBT ในกรุงโตเกียวอย่างเปิดเผยด้วยเมื่อปี 2557 ในฐานะผู้สนับสนุนสิทธิของคนกลุ่มน้อยทางเพศ และเธอสร้างสีสันให้แก่วงการเมืองญี่ปุ่นถึงแม้ว่าตัวเองไม่ใช่นักการเมืองก็ตาม
01นายกรัฐมนตรีตอบกระทู้ในรัฐสภา
สำหรับการถูกจับตามองครั้งล่าสุดของอะกิเอะ อะเบะนี้ไม่ใช่สิ่งที่เจ้าตัวปรารถนาอย่างแน่นอน เพราะทั้ง ๆ ที่ตัวเองไม่ใช่นักการเมือง แต่ก็ถูกโยงเข้ากับการเมืองจนได้ และส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสามีด้วย กรณีที่เกิดขึ้นคือ อะกิเอะถูกโยงเข้าไปพัวพันกับเรื่องเงินๆ ทองๆ ระดับประเทศ และความเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งนี่เองที่ทำให้ประชาชนทั้งประเทศกำลังเฝ้าดูไม่วางตา สืบเนื่องจากกรณีที่ดินรัฐถูกขายให้แก่ “โมะริโตะโมะกะกุเอ็ง” (森友学園;Moritomo Gakuen) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโรงเรียนอนุบาลในจังหวัดโอซะกะในราคาที่ถูกลงมาก (จนน่าสงสัย) และฝ่ายที่สงสัยก็ตั้งข้อสังเกตว่า ภริยานายกรัฐมนตรี (และตัวนายกรัฐมนตรีเอง) เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรงเรียนแห่งนี้ด้วย เช่น อะกิเอะได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์ใหญ่กิตติมศักดิ์สำหรับโรงเรียนที่วางแผนว่ากำลังจะสร้างใหม่บนที่ดินนั้น

ลำดับเหตุการณ์คร่าวๆ ที่นำไปสู่คำครหาคือ

20 มิถุนายน 2559 รัฐบาลกับโมะริโตะโมะกะกุเอ็งเซ็นสัญญาซื้อขายที่ดิน 8,770 ตารางเมตรในราคา 134 ล้านเยน ซึ่งถูกกว่าราคาประเมินที่ 956 ล้านเยนถึงกว่า 800 ล้านเยน เหตุผลของส่วนต่างก็คือ ในที่ดินนั้นมีขยะ ซึ่งผู้ซื้อต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะอีก

10 กุมภาพันธ์ 2560 กระทรวงการคลังเปิดเผยราคาการซื้อขายที่ดินผืนนั้น

27 กุมภาพันธ์ 2560 นายกรัฐมนตรีชินโซ อะเบะแจ้งต่อคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่าภรรยาของตนลาออกจากการเป็นอาจารย์ใหญ่กิตติมศักดิ์ของโรงเรียนประถมที่วางแผนกำลังจะเปิด

มีนาคม 2560 เกิดกระบวนการขุดคุ้ยและสืบหาความจริงขนานใหญ่

การลาออกจากตำแหน่งอาจารย์ใหญ่กิตติมศักดิ์ของอะกิเอะนั้นไม่ได้ทำให้เรื่องจบลง การเสาะหาความจริงกลับทวีความเข้มข้นขึ้นด้วยข้อสงสัยที่ว่า ทำไมถึงลดราคาได้มากขนาดนั้น ตลอดจนเรื่องที่ว่าอาจมีอิทธิพลทางการเมืองเข้าไปกดดัน แล้วประธานของโมะริโมะโตะกะกุเอ็งก็ถูกเรียกตัวมาให้การต่อรัฐสภาญี่ปุ่น และกล่าวว่า อะกิเอะ อะเบะได้บริจาคเงิน 1 ล้านเยน (ประมาณ 3 แสนบาทเศษ) ในนามของนายกรัฐมนตรีให้แก่ผู้ประกอบการรายนี้เพื่อใช้สร้างโรงเรียน อีกทั้งยอมรับว่าในการซื้อขายที่ดิน มีการเมืองเข้าไปแทรกแซง ทำให้ราคาที่ดินที่ซื้อนั้นถูกลงมาก

จุดที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ โรงเรียนดังกล่าวเป็นโรงเรียนแนวชาตินิยม สื่อมวลชนนำเสนอภาพของนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่ร้องตะโกนว่า “นายกฯ อะเบะ สู้ ๆ” เพื่อสนับสนุนให้ผู้นำญี่ปุ่นปกป้องญี่ปุ่นให้พ้นจากภัยคุกคามของจีน และหลักสูตรของโมะริโตะโมะกะกุเอ็งก็ออกแบบมาให้สอนความเป็นชาตินิยมแก่นักเรียน เช่น ต้องโค้งคำนับเมื่อเดินผ่านภาพของราชวงศ์ญี่ปุ่น ไปทัศนศึกษาที่ฐานทัพ ร้องเพลงชาติทุกเช้าพร้อมกับปลูกฝังการเทิดทูนพระจักรพรรดิ สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องไม่ปกติในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากนี้ ก็ยังมีวีดิทัศน์บันทึกช่วงที่อะกิเอะ อะเบะบอกกับผู้ปกครองว่าสามีของเธอ “คิดว่านโยบายการศึกษาของโรงเรียนนี้ดีมาก”
ฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านเห็นไม่ตรงกันเรื่องค่ากำจัดขยะ
ประเด็นในขณะนี้อยู่ที่ว่า การเมืองเข้าไปแทรกแซงหรือไม่ รัฐเสียผลประโยชน์หรือไม่ และเมื่อมีการตั้งกระทู้ถามในรัฐสภา ผู้นำญี่ปุ่นก็ถึงกับพูดว่าตนจะลาออกจากตำแหน่งหากภรรยาหรือเจ้าหน้าที่ของตนมีส่วนพัวพันกับข้อตกลงซื้อขายดังกล่าว พร้อมทั้งปฏิเสธเรื่องเงินบริจาคตามที่ถูกกล่าวหา ขณะเดียวกันก็มีกระแสเรียกร้องให้อะกิเอะ อะเบะมาสาบานตนให้การแก่รัฐสภาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดความกระจ่าง แต่ขณะนี้ทางฝ่ายรัฐบาลยืนยันว่าไม่มีความจำเป็นต้องทำเช่นนั้น และผู้นำญี่ปุ่นเองก็ยึดจุดยืนด้วยว่า อะกิเอะภรรยาของตนมิใช่บุคคลสาธารณะในฐานะนักการเมือง เหตุใดจึงต้องทำอย่างกับเป็นอาชญากร

ความจริงจะเปิดเผยออกมาอย่างไรนั้น ต้องรอดูกันต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ การเมืองก็ยังคงเป็นการเมืองอยู่นั่นเอง และสิ่งที่ผู้นำพึงระวังอย่างยิ่งคือ การบริหารประเทศนั้นย่อมรวมถึงการบริหารบริวารด้วย และการบริหารบริวารไม่ใช่แค่การจัดระเบียบไม่ให้คนใกล้ตัว รวมทั้งคู่ชีวิต ทำเรื่องนอกลู่นอกทางจนผู้นำต้องเดือดร้อนใจ แต่ยังหมายรวมถึงการดูแลบริวารไม่ให้กลายเป็นจุดอ่อนให้ผู้อื่นโจมตีจนส่งผลกระทบไปถึงตัวผู้นำด้วย เพราะอย่างไรเสีย การเมืองก็ยังเป็นการเมืองอยู่วันยังค่ำ

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น