เติ้งลี่จวินคือนักร้องเชื้อสายจีนที่ทั่วโลกรู้จักดีที่สุด เพลงของเธอยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คนถึงแม้เธอจะเสียชีวิตไปกว่า 20ปีแล้ว เติ้งลี่จวินอาจนับเป็นศิลปินจีนที่ใกล้ชิดญี่ปุ่นมากที่สุด เธอไม่เพียงมีผลงานเพลงภาษาญี่ปุ่น แต่เพลงดังจำนวนมากเป็นผลงานของนักแต่งเพลงชาวญี่ปุ่น
8 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย เติ้งลี่จวิน หรือ Teresa Teng นักร้องผู้สร้างตำนานราชินีแห่งเพลงจีนได้จากโลกนี้ไปด้วยโรคหอบหืด ในวัยเพียง 45 ปี แต่เสียงเพลงของเธอยังคงอยู่ในความทรงจำของคนทั่วโลก
เติ้งลี่จวิน เกิดในหมู่บ้านเล็กๆที่เมืองหยุนหลิน เกาะไต้หวัน ชีวิตในวัยเด็กของเธอแวดล้อมด้วยครอบครัวที่อบอุ่น ประกายความสามารถในการร้องเพลงและการแสดงของเธอได้ปรากฏจากการเป็นตัวแทนของโรงเรียนในการร้องเพลงตามงานต่างๆ และในที่สุดเด็กหญิงเติ้งลี่จวินในวัยเพียง 10 ปีก็ได้แจ้งเกิดครั้งแรกบนถนนมายา ด้วยการคว้ารางวัลชนะเลิศจากการประกวดร้องเพลงของสถานีวิทยุแห่งชาติจีนในปีค.ศ. 1963
เติ้งลี่จวินได้เลือกทางเดินชีวิตให้กับตัวเองด้วยการลาออกจากการเรียนในชั้นมัธยม 3 เพื่อก้าวสู่การเป็นนักร้องอาชีพ โดยเธอได้บันทึกแผ่นเสียงครั้งแรกภายใต้สังกัด Universal Records
ชาวไต้หวันพร้อมใจกันปรบมือต้อนรับเติ้งลี่จวินในฐานะดาวดวงใหม่ ด้วยวัยแรกรุ่นเพียง 16 ปี เติ้งลี่จวินมีทั้งผลงานเพลง ภาพยนตร์และพิธีกร ชื่อของเติ้งลี่จวินก็กลายเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
มุ่งสู่แดนอาทิตย์อุทัย สู่เวที “โกอินเตอร์”
ในปี ค.ศ. 1973 เติ้งลี่จวินเซ็นสัญญากับค่ายแผ่นเสียงในญี่ปุ่น และที่ญี่ปุ่นนี่เอง เติ้งลี่จวินได้มีโอกาสพัฒนาทักษะการแสดงบนเวทีควบคู่ไปด้วย
เธอยอมรับว่า “แต่ก่อนเมื่ออยู่บนเวที ฉันได้แต่ร้องเพลงไปตามทำนอง โดยไม่รู้ว่าจะทำอารมณ์หรือสีหน้าอย่างไร จนเมื่อได้มาที่ญี่ปุ่น ฉันจึงได้เรียนรู้ว่าการแสดงที่แท้จริงคืออะไร “
เติ้งลี่จวินใช้ชีวิตในญี่ปุ่นนานถึง 6 ปี เธอไม่เพียงมีผลงานเพลงภาษาญี่ปุ่นจำนวนมาก แต่เพลงดังในภาษาจีนจำนวนมากของเธอ เป็นผลงานประพันธ์ทำนองต้นฉบับจากโปรดิวเซอร์ชาวญี่ปุ่น
นักดนตรีที่คุ้นเคยกับเพลงจีนและญี่ปุ่นยอมรับว่า “เพลงของเติ้งลี่จวินเล่นง่าย เพราะใช้คอร์ดพื้นฐานไม่กี่คอร์ด ซ้ำไปซ้ำมา แต่การเรียบเรียงเพลงโดยฝีมือของโปรดิวเซอร์ชาวญี่ปุ่น ทำให้เพลงเติ้งลี่จวินหวานและรื่นหู นอกจากนั้นผู้เรียบเรียงเพลงยังฉลาดที่จะนำเครื่องดนตรีสมัยใหม่มาเล่นกับทำนองพื้นเมือง และในบางเพลงยังใช้ขิมและซอบรรเลงร่วมด้วย”
เสน่ห์ของเพลงเติ้งลี่จวินอยู่ที่มนต์เสียงของเธอ ซึ่งนักวิจารณ์เพลงหลายคนบอกว่า เสียงของเติ้งลี่จวินประกอบด้วยความหวาน 7 ส่วนและน้ำตาอีก 3 ส่วน
“เพลงเติ้งลี่จวินเป็นเพลงป็อปธรรมดา แต่สิ่งที่ทำให้เธอโดดเด่น คือ เทคนิคการร้องและเอื้อนเสียง ซึ่งเธอจะไม่ใช้เสียงดังแต่ร้องได้ชัดเจนเหมือนกระซิบข้างหู เทคนิคการร้องของเธอเทียบได้กับพุ่มพวง ดวงจันทร์ของบ้านเรา”
ชาวญี่ปุ่นรู้จักเติ้งลี่จวินในชื่อ “เทเรซา เต็ง” เธอเป็นศิลปินต่างชาติเพียงไม่กี่คนที่เป็นขวัญใจของแฟนเพลงแดนอาทิตย์อุทัย ไม่เพียงคว้ารางวัลมากมาย แต่ทุกวันนี้เพลงของเติ้งลี่จวินยังคงถูกถ่ายทอดซ้ำโดยนักร้องชาวญี่ปุ่นนับครั้งไม่ถ้วน
เสียงเพลงหวาน ละลายความบาดหมางทางการเมือง
เติ้งลี่จวินโด่งดังขึ้นมาในช่วงทศวรรษที่ 70 ซึ่งไต้หวันเต็มไปด้วยบรรยากาศการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ยิ่งเมื่อไต้หวันต้องสูญเสียที่นั่งในสหประชาชาติ และถูกสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นตัดความสัมพันธ์ทางการทูตด้วยแล้ว เกาะแห่งนี้จึงเสมือนถูกปกคลุมด้วยเมฆหมองของความไม่แน่นอน การที่ไต้หวันมีศิลปินที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติจึงช่วยกู้หน้าชาวไต้หวันได้ไม่น้อย เติ้งลี่จวินได้ใช้เวลาหลายเดือนในการทัวร์คอนเสิร์ตเพื่อเยี่ยมทหารทั่วเกาะไต้หวัน และถ่ายทำรายการโทรทัศน์ “เติ้งลี่จวินจากแนวหน้า”
อย่างไรก็ตาม ความใกล้ชิดกับรัฐบาลไต้หวันทำให้หลายคนมองว่า ศิลปินสาวผู้นี้ได้รับแรงสนับสนุนจากรัฐบาลไต้หวัน ถึงกับมีเสียงร่ำลือว่าเธอเป็น “สายลับ” แต่กาลเวลาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ความโด่งดังของเติ้งลี่จวินอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง
เหยื่อปฏิวัติวัฒนธรรม
ขณะที่ชาวไต้หวันและผู้คนทั่วเอเชียต่างหลงใหลกับเสียงเพลงของเติ้งลี่จวินตั้งแต่ปี 1970 แต่ประชาชนในจีนแผ่นดินใหญ่กลับไม่มีโอกาสชื่นชมผลงานของเธอ เนื่องจากจีนในช่วงนั้นอยู่ภายใต้บรรยากาศของการปฏิวัติวัฒนธรรม เพลงในจีนล้วนเป็นเพลงปฏิวัติที่ส่งสารในเรื่องการเมือง
เพลงของสาวน้อยจากไต้หวันซึ่งมีเนื้อหาเรื่องความรักหนุ่มสาวจึงถูกตีตราว่าเป็นวัฒนธรรมทุนนิยม ถึงขนาดที่เพลง “เมื่อไรคุณจะกลับมาอีกครั้ง” หนึ่งในเพลงฮิตของเธอ ถูกรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ตั้งคำถามว่า “กลับมาหมายถึงอะไร” และ “ใครจะกลับมา”
ชาวจีนในยุคเกือบ 40 ปีก่อนย้อนความหลังว่า “ สมัยนั้นจีนแผ่นดินใหญ่ปิดกั้นวัฒนธรรมทุกชนิดจากต่างประเทศ การเมืองเข้าไปเกี่ยวพันในทุกเรื่องแม้แต่เรื่องความรัก รัฐบาลคอมมิวนิสต์มองว่าเพลงรักของเติ้งลี่จวินทำให้วัฒนธรรมเสื่อม เช่น เพลงหนึ่งที่มีเนื้อหาพูดถึงหญิงสาวชวนผู้ชายดื่มเหล้าอำลา เพราะหลังคืนนี้ไปแล้วไม่รู้ว่าจะได้พบหน้ากันเมื่อไร เพลงนี้ถูกรัฐบาลวิจารณ์ว่าวิถีชีวิตแบบนี้ขัดขวางอุดมการณ์ปฏิวัติ”
เพลงของเติ้งลี่จวินได้เริ่มแทรกซึมเข้าไปอยู่ในใจของคนจีนแผ่นดินใหญ่ แรกเริ่มด้วยเพลงที่กล่าวชมความงามของธรรมชาติและชีวิตในชนบท จนกระทั่งเติ้งเสี่ยงผิงขึ้นเป็นผู้นำ รัฐบาลจีนจึงอนุญาตให้เพลงจากฮ่องกงและไต้หวันเข้ามายังแผ่นดินใหญ่ได้ เพลงของเติ้งลี่จวินได้เข้าไปเติมความชุ่มชื่นในใจของชาวจีนในแผ่นดินใหญ่ ที่ขาดความหวานจากบรรยากาศของการปฏิวัติ
เพียงแค่ 2-3 ปีหลังเติ้งเสี่ยวผิงปกครอง เพลงของเติ้งลี่จวินไหลทะลักเข้ามาในแผ่นดินใหญ่ ทุกบ้านเปิดเพลงของเติ้งลี่จวิน ชาวจีนได้ซึมซับความรักแบบใหม่ที่ปลอดพันธทางการเมืองเข้าไปเต็มหัวใจ จนมีคำพูดว่า “เวลากลางวันเติ้งเสี่ยวผิงปกครองแผ่นดินจีน แต่ยามราตรีคนจีนตกอยู่ใต้มนต์เพลงของเติ้งลี่จวิน”
นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991 เติ้งลี่จวินได้ลดบทบาทในอาชีพการร้องเพลงลง เธอเลือกใช้เวลาพักผ่อนส่วนใหญ่ในประเทศไทยและฝรั่งเศส ผู้คนเริ่มมีโอกาสฟังเสียงเพลงของเธอเฉพาะในงานกุศลและจากผลงานเก่าๆที่เธอได้บันทึกทิ้งไว้ จนกระทั่งดาวจรัสแสงดวงนี้ได้จากโลกไปในปี 1995
เติ้งลี่จวินเป็นสัญลักษณ์ของหญิงสาวที่เติบโตและยืนหยัดท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของวัฒนธรรมทั้งในไต้หวัน จีนแผ่นดินใหญ่ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาที่เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ ชาวญี่ปุ่นยอมรับว่าเติ้งลี่จวินไม่เพียงร้องเพลงภาษาญี่ปุ่นได้ แต่เธอยังนำพาท่วงทำนองดนตรีแบบญี่ปุ่นไปสู่เวทีสากล
ท่ามกลางอุตสาหกรรมดนตรีที่เป็นเหมือนโรงงานผลิตนักร้อง ในญี่ปุ่นมีศิลปิน “ไอดอล” มากจนจำแทบไม่หวาดไม่ไหว แต่เพลงของเติ้งลี่จวิน และถูกยกระดับขึ้นจากเพลงรักธรรมดากลายเป็นเพลงคลาสสิกระดับแม่แบบเพลงจีนสมัยใหม่ และตกตะกอนอยู่ในความทรงจำวัยเยาว์ของผู้คนทั้งหลาย.