xs
xsm
sm
md
lg

“อาโอกิกาฮาระ” ป่าอาถรรพ์กับมุมมองเรื่องการฆ่าตัวตายของคนญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชื่อว่าหลายคนคงจะเคยได้ยินชื่อ ป่าอาโอกิกาฮาระ (Aokigahara Forest/青木ヶ原) หรือป่าแห่งการฆ่าตัวตายมาบ้าง เพราะที่นี่คือหนึ่งในสถานที่สุดเฮี้ยนของญี่ปุ่น ที่ดึงดูดให้ผู้คนเดินทางมาหาจุดจบของชีวิตนานหลายทศวรรษมาแล้ว

ป่าอาโอกิกาฮาระ = ป่าแห่งการฆ่าตัวตาย

บรรยากาศเงียบสงบกลางป่าลึกทึบที่ไร้ผู้ใดมารบกวน ทำให้ป่าอาโอกิกาฮาระกลายเป็นสถานที่ในอุดมคติสำหรับใครก็ตามที่ต้องการจะฆ่าตัวตาย แต่ชื่อ “ป่าแห่งการฆ่าตัวตาย” เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากนวนิยายของเซโจ มัทสึโมโตะในปีค.ศ. 1960 เรื่อง Kuroi Jukai ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับคู่รักที่ไปฆ่าตัวตายในป่าแห่งนี้ เช่นเดียวกับหนังสือ The Complete Manual of Suicide (คู่มือฆ่าตัวตายฉบับสมบูรณ์) ของวาตารุ สุรุมิ ที่ตีพิมพ์ในปี 1993 ยิ่งไปกว่านั้น ชื่อเสียงของป่าอาโอกิกาฮาระยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงขนาดฮอลลีวู้ดนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Forest ในปี 2016 ที่ผ่านมาด้วย ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นการนำเสนอป่าอาโอกิกาฮาระว่าเป็นป่าแห่งการฆ่าตัวตายทั้งสิ้น

ญี่ปุ่นกับแนวคิดเรื่องการฆ่าตัวตาย

การฆ่าตัวตายเป็นปัญหาที่ฝั่งรากลึกในวัฒนธรรมและความคิดของคนญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน ในยุคศักดินาญี่ปุ่น นักรบหรือซามูไรที่พ่ายศึกมักจะถูกบังคับให้ฆ่าตัวตายด้วยการคว้านท้องหรือที่เรียกว่าฮาราคีรี ซึ่งแม้ว่าญี่ปุ่นจะผ่านพ้นจากยุคศักดินามานานมากแล้ว แต่ความคิดเรื่องฆ่าตัวตายเมื่อพบกับความพ่ายแพ้หรือล้มเหลวก็ยังคงมีอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

มุมมองเรื่องการฆ่าตัวตายของญี่ปุ่นแตกต่างจากประเทศที่นับถือศาสนาพุทธอย่างประเทศไทย เช่นเดียวกับหลายประเทศในยุโรปที่นับถือศาสนาคริสต์ที่เชื่อว่าการฆ่าตัวตายนั้นเป็นบาปมหันต์ ยิ่งไปกว่านั้นประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นยังหล่อหลอมให้คนญี่ปุ่นรู้สึกว่าการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่ “มีเกียรติ” จึงไม่น่าแปลกใจที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว

อาจจะถึงเวลาแล้วที่ญี่ปุ่นต้องย้อนมองบริบททางความคิดที่เกี่ยวกับการฆ่าตัวตายเสียใหม่ เพื่อแก้ปัญหาหรืออย่างน้อยที่สุดเพื่อบรรเทาแนวคิดที่ฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาช้านานนี้

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ anngle.org

กำลังโหลดความคิดเห็น