xs
xsm
sm
md
lg

บทวิจารณ์หลังอ่าน “กลกิโมโน”

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


ช่วงปิดเทอมนี้มีโอกาสหยิบบทประพันธ์เกี่ยวกับญี่ปุ่นเรื่องหนึ่งที่เขียนโดยคนไทยขึ้นมาอ่านซ้ำ ซึ่งก็คือ “กลกิโมโน” ก่อนหน้านี้เคยเล่าให้คนญี่ปุ่นฟังไว้ว่า “คนไทยสนใจญี่ปุ่นขนาดนี้เลยนะ ถึงกับแต่งนิยายญี่ปุ่นเป็นภาษาไทย และเอาไปทำละครด้วย” ตอนที่เล่านั้น คนญี่ปุ่นก็ทำตาโต เพราะไม่นึกว่ารวมมิตรผีของญี่ปุ่นจะกลายเป็นเรื่องเป็นราวได้ขนาดนั้น และมีซูเปอร์สตาร์ของเมืองไทยแสดงนำอีกด้วย

เหตุที่นำ “กลกิโมโน” มาอ่านอีกทีเพราะตอนนี้เป็นฤดูดอกไม้ พลอยทำให้นึกถึงดอกไม้ในเรื่องนี้ว่า “เออแฮะ ดีเหมือนกันที่คนแต่งจงใจไม่นำเสนอดอกซากุระ แต่เน้นดอกวิสทีเรียแทน” ภาษาญี่ปุ่นเรียกดอกวิสทีเรียว่า “ฟุจิ” (藤; Fuji) และการนำดอกไม้ชนิดอื่นที่ไม่ใช่ดอกซากุระมาเสนอถือว่าเป็นการแหวกขนบนิยายเกี่ยวกับญี่ปุ่นได้อย่างสร้างสรรค์ แต่สำหรับตัวบทประพันธ์โดยรวมแล้ว อาจเป็นเพราะผมใกล้ชิดญี่ปุ่นมานาน จึงทำให้รู้สึกว่าเฉยๆ และต้องใช้ความอดทนสูงพอสมควรกว่าจะอ่านจบรอบแรก สำหรับละครที่ก่อให้เกิดกระแสขึ้นมาเมื่อปี 2558 นั้น ผมคงละเว้นการวิจารณ์เพราะไม่เคยดูเต็มๆ แต่จะหันมาดูในเชิงบทประพันธ์


“กลกิโมโน” บอกเล่าเรื่องราวของรินดารา ซึ่งเป็นนักศึกษาไทยที่ได้ทุนไปเรียนต่อในญี่ปุ่น แต่เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ทำให้ต้องไปเป็นผู้ช่วยดูแลเด็กในครอบครัวญี่ปุ่น แล้วเธอก็ได้พบกับท่านชายโฮชิ (โปรดสังเกตว่าปัจจุบันญี่ปุ่นไม่มีการเรียกฐานันดรศักดิ์ว่าท่านชายกันแล้ว) ซึ่งเป็นบุรุษลึกลับผู้อาศัยอยู่กับครอบครัวนี้ โฮชิผู้นี้จริงๆ แล้วก็คือเทพเจ้านกกระเรียนที่กลับสวรรค์ไม่ได้เพราะกิโมโนที่จะต้องใส่นั้นชำรุด รอคอยให้หญิงคนรักมาซ่อมเพื่อจะได้ใส่บินกลับสวรรค์ โฮชิรอแล้วรอเล่า จนในที่สุด รินดาราซึ่งเป็นร่างอวตารของคนรักที่อยู่บนสวรรค์ก็มาเกิด (โปรดสังเกตว่าแปลกดีที่มาเกิดเป็นคนไทย) แล้วก็ฝ่าฟันอุปสรรคอันเกิดจากเทพเจ้าจิ้งจอกซึ่งเป็นศัตรูคู่อาฆาตของโฮชิ และท้ายสุดก็ได้ขนของนกกระเรียนทองคำมาซ่อมแซมกิโมโนให้โฮชิ เทพเจ้านกกระเรียนในร่างโฮชิก็กลับสู่สวรรค์ได้

เรื่องนี้แต่งโดยพงศกร และเป็นเรื่องหนึ่งในตระกูล “ผีผ้า” ที่ผู้เขียนตั้งใจสร้างสรรค์ออกมาเป็นชุดโดยกำหนดให้ผ้าเป็นองค์ประกอบหลัก สำหรับศิลปะการประพันธ์นั้น เข้าใจว่าผู้แต่งหาข้อมูลมามากพอสมควรและพยายามบรรจุลงไปเรื่อง เช่น การทอกิโมโน (ซึ่งมีแค่ประปราย) หรือโดยเฉพาะเรื่องผีซึ่งมีมากชนิดล้นเกิน จนบางทีรู้สึกว่า “อีกแล้วเหรอ? โผล่มาอีกแล้วเหรอ?” เพราะเรื่องนี้มีภูตผีปีศาจป้วนเปี้ยนเต็มไปหมด (คนญี่ปุ่นมองว่าสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติในเรื่องนี้เป็น “ปีศาจ” ไม่ใช่ผี) ทั้งปีศาจตาเดียว คัปปะ ปีศาจคอยาว ผู้แต่งอาจคิดว่าน่าสนใจสำหรับคนไทย จึงระดมสารพัดปีศาจมาใส่ไว้และเหมือนการ์ตูนเข้าไปทุกที โดยให้ผีนางหิมะเป็นนางร้ายตัวแม่

หากใช้ทฤษฎีวรรณกรรมวิเคราะห์จะพบว่าเรื่องนี้มี “สัมพันธบท” เกี่ยวโยงกับความเชื่อของญี่ปุ่นอยู่มาก แต่ด้วยลักษณะการแต่งที่ผสมนู่นนี่นั่นลงไปมาก เป็นไปได้ว่าคนอ่าน (หรือคนดูละคร) ที่ไม่รู้ที่มาของความเชื่อนั้นจะแยกแยะไม่ออกว่าประเด็นไหนมีจริงในวัฒนธรรมญี่ปุ่นและประเด็นไหนไม่มี ดังนั้น ผมขอแยกแหล่งที่มาหลัก ๆ ของสัมพันธบทไว้ 4 แหล่งดังนี้คือ ทะนะบะตะ, นกกระเรียน, สุนัขจิ้งจอก, นางหิมะ ซึ่งเป็นความเชื่อที่คนญี่ปุ่นรู้จักกันอย่างแพร่หลาย

อันดับแรก คือ ทะนะบตะ (七夕; Tanabata) หรือเทศกาลดวงดาวของญี่ปุ่น เป็นแนวคิดที่ญี่ปุ่นรับมาจากจีน โดยฉลองในคืนวันที่ 7 เดือนเจ็ด (กรกฎาคม) เพราะเชื่อว่าเทพธิดาโอะริฮิเมะผู้ทำหน้าที่ทอผ้า กับฮิโกะโบะชิผู้เลี้ยงวัว ซึ่งต่างคนต่างอยู่กันคนละฟากฝั่งของทางช้างเผือกจะได้มาพบกันในคืนนี้ ใน “กลกิโมโน” ตัวเอกรินดาราได้ชื่อนี้มาก็เพราะเกิดในวันนั้น และจะเห็นได้ว่าตำนานนี้มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทอผ้า ผู้แต่งจึงนำประเด็นมาเปิดเรื่องแม้จะไม่มีผลต่อพล็อตเลยก็ตาม

อันดับต่อไปซึ่งมีความสำคัญต่อเรื่องและ ‘ถูกบิด’ มากที่สุดคือ นกกระเรียนกับสุนัขจิ้งจอก ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความหมายพิเศษในวัฒนธรรมญี่ปุ่น สำหรับนกกระเรียนนั้น ในญี่ปุ่นมีคำกล่าวอยู่ว่า “นกกระเรียน (อยู่) พันปี เต่า (อยู่) หมื่นปี” (鶴は千年亀は万年;Tsuru wa sen nen, kame wa mannen) ซึ่งหมายความว่า คนญี่ปุ่นเชื่อว่านกกระเรียนเป็นสัตว์มงคล มีอายุยืน (แม้จะแพ้เต่าก็ตาม) แต่ความเชื่อเกี่ยวกับนกกระเรียนเรื่องนี้รู้จักแพร่หลายในต่างประเทศน้อยกว่านิทานเรื่อง “นกกระเรียนแทนคุณ” ซึ่งในเนื้อเรื่องเล่าว่า นกกระเรียนถอนขนตัวเองออกมาทอผ้าให้แก่ผู้ที่ช่วยชีวิตตัวเองไว้ อย่างไรก็ตาม พงศกรนำสองจุดนี้มาเชื่อมโยงกันและนำเสนอให้นกกระเรียนใน “กลกิโมโน” เป็นเทพแห่งสุขภาพและอายุมั่นขวัญยืน และปรับอย่างพลิกหน้าพลิกหลังโดยให้นกกระเรียนในบทประพันธ์ของตนเป็น “ผู้ชาย” ขณะที่นกกระเรียนในนิทานนั้นเป็น “ตัวเมีย”

ส่วนสุนัขจิ้งจอกนั้น เป็นสัตว์ที่มีภาพลักษณ์ 2 ภาค คือ ภาคหนึ่งคือสัตว์เจ้าเล่ห์ ส่วนอีกภาคหนึ่งคือเทพผู้บันดาลความอุดมสมบูรณ์ สำหรับคนไทย ภาคเจ้าเล่ห์อาจจะคุ้นกว่า แต่ในกลกิโมโน พงศกรยกมาใช้ทั้งสองภาค แรกสุดคือให้ภาพจิ้งจอกเป็นเทพจิ้งจอกผู้อวยพรให้ชาวเมืองได้ผลผลิตการเกษตรดกดื่น แต่หลังจากนั้น เทพจิ้งจอกกับเทพกระเรียนก็ผิดใจกัน และเทพจิ้งจอกก็เปลี่ยนท่าที กลายเป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้น คอยแต่จะหาเรื่อง

สุดท้ายคือ นางหิมะ ซึ่งเป็นปีศาจที่รู้จักกันดีในวัฒนธรรมญี่ปุ่นจากเรื่องเล่าหลายสำนวน (สำนวนที่โด่งดังที่สุดคือของลาฟคาอิโอ เฮิร์น ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษเมื่อปี พ.ศ. 2447) ในเรื่องนี้โมะซะกุซึ่งเป็นชายชราตัดฟืน กับมิโนะกิชิผู้ช่วยของเขา ติดอยู่กลางพายุหิมะ แล้วโมะซะกุก็ถูกหญิงลึกลับฆ่า แต่นางไว้ชีวิตมิโนะกิชิผู้ช่วย โดยให้เขาสัญญาว่าจะไม่เล่าเรื่องนี้ให้ใครฟังเด็ดขาด ต่อมามิโนะกิชิก็แต่งงานและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข จนวันหนึ่งขณะที่มองเมียตัวเอง ก็นึกได้ว่าคล้ายๆ กับผู้หญิงที่เคยเจอเมื่อครั้งที่ติดอยู่กลางหิมะ แล้วเขาก็เล่าเรื่องนั้นให้เมียฟัง นางโกรธจัดและเผยตัวว่านางนี่แหละคือ “นางหิมะ” ที่ฆ่านายของเขาวันนั้น พร้อมทั้งประณามมิโนะกิชิที่ไม่รักษาสัญญา

ในคติชนของญี่ปุ่น สี่ความเชื่อนี้แยกกันเป็นอิสระ แต่ใน “กลกิโมโน” พงศกรนำมาเชื่อมโยงกันและใส่จินตนาการเข้าไป หากไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับญี่ปุ่นมาก่อน ก็คงไม่สะดุดใจอะไร หรือถ้าใครรู้ ก็อาจจะขัดอกขัดใจเพราะผิดไปจากขนบเดิมมาก เช่น ทำไมเทพกระเรียนเป็นชาย ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่คนญี่ปุ่นบอกว่ามันขัดกับความรู้สึกมาก เพราะภาพลักษณ์ที่คนญี่ปุ่นมองนกระเรียนคือ “ผู้หญิง” นอกจากนี้ก็ไม่มีตำนานใดที่บ่งบอกว่านกกระเรียนเป็นเทพเจ้า (แต่มีตำนานจิ้งจอก) แล้วนกกระเรียนกับสุนัขจิ้งจอกกลายเป็นเพื่อนกันได้อย่างไร (อันนี้ก็ไม่มีตำนานอีกเช่นกัน)

อีกจุดหนึ่งที่รู้สึกขัดๆ คือ การเขียนให้นางหิมะตกหลุมรักเทพกระเรียน เพราะตำนานเดิมก็ไม่มีอะไรใกล้เคียงกับจุดนี้ และอีกอย่างที่น่าสงสัยอย่างยิ่งคือ ขณะที่ตัวละครหลักเกือบทุกตัวเป็นคนญี่ปุ่นและเรื่องก็เกิดในญี่ปุ่นเกือบทั้งหมด แต่ทำไมนางเอกถึงได้แบ่งภาคมาเกิดเป็นคนไทยอยู่คนเดียว? นอกจากนี้ยังได้เจอนางร้ายคนญี่ปุ่นที่มีนิสัยละม้ายนางร้ายในละครทีวีของไทยอีกด้วย?

การนำตำนานเดิมมาเขียนหรือตีความใหม่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำในวงการวรรณกรรม ทั้งในวรรณกรรมตะวันตกและวรรณกรรมญี่ปุ่น ผู้เขียนจะเติมส่วนที่ตำนานไม่เคยอธิบายไว้ หรือตีความใหม่ หรือเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่าขณะที่อิงเนื้อหาเดิม ซึ่งทำให้เกิดสัมพันธบท เหล่านี้ถือว่าเป็นศิลปะของการเขียนอย่างหนึ่ง แต่สำหรับ “กลกิโมโน” แม้จะเป็นการเขียนใหม่โดยมีสัมพันธบทปรากฏชัด แต่ให้ความรู้สึกว่าเป็นการยำใหญ่สารพัด จนจัดได้ว่าน่าจะเป็นสารคดีท่องเที่ยวมากกว่า ถ้ามองในแง่บทประพันธ์นวนิยาย ผมถือว่ายังไปไม่ถึงจุดที่เรียกว่าดี แต่ถ้ามองในด้านสารคดี ผมคิดว่าสำเร็จ เพราะนับตั้งแต่มีละครออกมา ก็มีคนไทยพากันไปเที่ยวตามสถานที่ถ่ายทำกันอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะที่อุโมงค์ดอกฟุจิที่คิวชู

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น