กัมมันตภาพรังสีที่รั่วไหลจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะหลังเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ในญี่ปุ่น ทำให้พืชและสัตว์ในพื้นที่เปลี่ยนแปลงจนมีลักษณะแปลกประหลาด หากแต่ญี่ปุ่นไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากจำใจยอมรับความเสี่ยงในการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์
ถึงแม้เหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ในญี่ปุ่นจะผ่านไปแล้ว 6 ปี แต่ประชาชนในพื้นที่ใกล้โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะมากกว่า 56,000 คนที่ต้องอพยพหรือภัยกัมมันตภาพรังสียังคงไม่สามารถกลับบ้านของตัวเองได้ ส่วนการกอบกู้โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะคาดว่าต้องใช้เวลานานกว่า 20ปี และงบประมาณมหาศาล ซึ่งประชาชนชาวญี่ปุ่นอาจต้องร่วมแบกรับค่าใช้จ่ายด้วย
รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามยืนยันว่า ปริมาณกัมมันตภาพรังสีในพื้นที่ประสบภัยลดลงอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตราย พร้อมเกลี้ยกล่อมให้ชาวญี่ปุ่นวางใจซื้อและใช้ผลิตภัณฑ์จากพื้นที่เพื่อช่วยฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย รวมทั้งเจรจาให้ประเทศต่างๆปลดล็อดคำสั่งห้ามนำเข้าสินค้าการเกษตรและอาหารจากพื้นที่ประสบภัย
อย่างไรก็ตาม ในโลกออนไลน์ได้ปรากฏภาพพืชและสัตว์ในพื้นที่ฟุกุชิมะ ซึ่งมีความผิดแปลกต่างๆ ทั้งพืชผักที่มีรูปร่างผิดแปลก, ผลไม้ที่ใหญ่โตผิดปกติ และสัตว์ที่อวัยวะผิดปกติ ซึ่งคาดว่าเกิดจากผลของกัมมันตภาพรังสี
พืชประหลาด สัตว์พิสดารเหล่านี้เป็นประจักษ์พยานที่ไม่อาจปฏิเสธได้ถึงมหันตภัยของนิวเคลียร์ หากแต่ความจริงที่ต้องยอมรับอีกเรื่อง คือ ญี่ปุ่นจำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์เพื่อผลิตไฟฟ้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยภูมิประเทศที่เป็นเกาะและแทบไม่มีทรัพยากรใดๆ พลังงานนิวเคลียร์จึงเป็นทางเลือกที่ประหยัดที่สุดในการผลิตไฟฟ้าเพื่อให้ประชาชนใช้ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
หลังเหตุภัยพิบัติที่ฟุกุชิมะ รัฐบาลญี่ปุ่นสั่งระงับการใช้งานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกแห่งในประเทศเพื่อตรวจสอบความปลอดภัย หลังจากนั้นญี่ปุ่นต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเพื่อผลิตภัยไฟฟ้า และโชคดีที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกตกต่ำเป็นประวัติการณ์ บวกกับความได้เปรียบของค่าเงินเยน ช่วยให้ญี่ปุ่นไม่ต้อง “เจ็บตัว” แบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการผลิตไฟฟ้า
หากแต่สภาวะเช่นนี้ไม่อาจคงอยู่ได้ตลอดไป รวมทั้งพลังงานทางเลือกที่ได้รับการส่งเสริมอย่างแข็งขัน แต่ก็ยังไม่อาจทดแทนพลังงานนิวเคลียร์ได้ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องทยอยกลับมาเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกครั้ง
ขณะนี้เครื่องปฏิกรณ์ 3ตัวจากทั้งหมด 45 ตัวในญี่ปุ่นได้รับอนุญาตให้ทำงานอีกครั้ง และอีกกว่า 10 เครื่องผ่านการตรวจมาตรฐานความปลอดภัยแล้ว รอเพียงคำสั่งให้กลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง
รัฐบาลญี่ปุ่นอยู่ในสภาพ “กลืนไม่เข้า คายไม่ออก” ด้านหนึ่งต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่อีกด้าน พลังงานนิวเคลียร์ได้รับการต่อต้านอย่างสูงจากทั้งประชาชน และบุคคลสำคัญ เช่น อดีตนายกฯจุนนิชิโร โคอิสุมิ ที่ประกาศว่า “ญี่ปุ่นสามารถเดินหน้าประเทศได้โดยไม่ต้องพึ่งพลังงานนิวเคลียร์”
ทุกวันนี้ เมื่อมีฝนตกหนักหรือพายุเข้า โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะจะถูกจับตาว่ามีน้ำปนเปื้อนรังสีรั่วไหลลงสู่ทะเลหรือไม่ โรงไฟฟ้าเป็นเหมือน “ตึกผีสิง” ในกรุงเทพฯ ที่จะทุบทิ้งจะไม่ไหว ใช้งานต่อก็ไม่ได้ รัฐบาลญี่ปุ่นประเมินว่าต้องใช้เงินกอบกู้โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะมากถึง 21.5 ล้านล้านเยน หรือ 188,000 ล้านดอลลาห์ และจำต้องให้ประชาชนช่วยแบกรับด้วยการขึ้นค่าไฟฟ้า
หลังเหตุภัยพิบัติเมื่อ 6 ปีก่อน ชาวญี่ปุ่นได้ร่วมกันประหยัดพลังงานอย่างแข็งขัน เมืองหลายแห่งลดความสว่างไสวลง การใช้เครื่องปรับอากาศลดลงอย่างชัดเจน สถานที่ราชการและบริษัทหลายแห่งตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศไว้ที่ 27 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกันแล้ว คนไทยใช้พลังงานอย่าง “ล้างผลาญ” มากกว่าอย่างชัดเจน ชาวญี่ปุ่นต้อง “หลั่งน้ำตา” ให้กับเหตุภัยพิบัติ ขณะที่คนไทยจำนวนมากยังคง “ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา”