xs
xsm
sm
md
lg

“วันศุกร์สุขสันต์” คืนความสุขแด่มนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่น หรือแค่ลูบหน้าปะจมูก ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รัฐบาลญี่ปุ่นออกนโยบาย Premium Friday ให้พนักงานเลิกงานกลับบ้านเวลาบ่าย 3โมง หวังแก้ปัญหาคนญี่ปุ่นทำงานจนตาย หากแต่นโยบายนี้กลับสร้างความสุขให้กับมนุษย์เงินเดือนเพียงแค่หยิบมือเดียวเท่านั้น เพราะระบบการจ้างงานและค่านิยมต่างหาก ที่กดดันให้คนญี่ปุ่นต้องสังเวยชีวิตให้กับงาน

นายกฯชินโซ อะเบะ ใช้เวลาช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมาไปนั่งสมาธิและชมคอนเสิร์ตในสวนสาธารณะ ตามนโยบาย Premium Friday ของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ให้บรรดาพนักงานเลิกงานในเวลา 15.00 น.ในวันศุกร์สุดท้ายของเดือน

ปรากฏการณ์ Premium Friday ครั้งแรกที่เพิ่งผ่านพ้นไปคึกคักอย่างยิ่ง หน่วยงานรัฐบาลต่างๆ ให้เจ้าหน้าที่เลิกงานเวลาบ่าย 3โมงอย่างพร้อมเพียง มนุษย์เงินเดือนหลายคนดีใจที่ได้กลับบ้านไปอยู่กับครอบครัวตั้งแต่ตะวันยังไม่ตกดิน หลายคนรวมตัวสังสรรค์ตามร้านอาหารที่เปิดร้านเร็วขึ้น 2ชั่วโมงเพื่อต้อนรับลูกค้าที่เต็มแน่นร้าน

รัฐบาลญี่ปุ่นหวังว่านโยบาย “วันศุกร์สุขสันต์” นี้จะช่วยลดความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานของบรรดามนุษย์เงินเดือน และกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะพนักงานที่เลิกงานเร็วต่างออกไปจับจ่ายใช้สอย ร้านค้าและซุปเปอร์มาเก็ตพร้อมโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม บริษัทท่องเที่ยวหลายถึงจัดโปรแกรมเที่ยวพักค้าง 2 คืน ออกเดินทางตั้งแต่บ่ายวันศุกร์

รัฐบาลญี่ปุ่นประเมินว่า นโยบายนี้นอกจากจะ “คืนความสุข” ให้กับประชาชนแล้ว ยังจะสร้างผลดีทางเศรษฐกิจราว 63,500 ล้านเยน

เลิกงานเร็วศุกร์ปลายเดือน...แค่คิดก็ผิดแล้ว

ข้อมูลจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น พบว่า มีพนักงานราว 3.6ล้านคนที่ได้เลิกงานเร็วตามนโยบายนี้ คิดเป็นร้อยละ 6.5 ของพนักงานทั่วประเทศญี่ปุ่น และมีบริษัทเพียง 130 แห่งที่เข้าร่วมโครงการนี้ ส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่

พนักงานชาวญี่ปุ่นบอกว่า การให้เลิกงานก่อนเวลาในวันศุกร์ปลายเดือน แค่คิดก็ผิดแล้ว เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่งานยุ่งที่สุด โดยเดือนมีนาคม Premium Friday จะตรงกับวันที่ 31 พอดี ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเลิกงานก่อนเวลา

ด้านข้าราชการก็กังวลว่า หากเลิกงานบ่าย 3โมง แล้วประชาชนมาติดต่อราชการหรือโทรศัพท์มาสอบถามแล้วไม่มีเจ้าหน้าที่รับสาย

แน่นอนว่า ไม่มีใครอยากทำงานหนักหรือเลิกงานสาย แต่ปัญหาคือ บริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากมีพนักงานไม่เพียงพอ แต่ละคนจึงต้องรับผิดชอบงานจำนวนมาก การได้เลิกงานเร็วในวันศุกร์ก็หมายถึงต้องเร่งทำงานให้เสร็จก่อนหน้า หน่วยงานบางแห่งถึงกับต้องประชุมในตอนค่ำวันพฤหัสบดี เพื่อสนองนโยบายเลิกงานเร็วในวันศุกร์

ญี่ปุ่นนิยมจ้างพนักงานชั่วคราว หยุดงานไม่ได้เงิน

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้นโยบาย Premium Friday ไม่สามารถคืนความสุขให้กับลูกจ้างชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ คือ ระบบการจ้างงานที่บริษัทญี่ปุ่นนิยมจ้างพนักงานแบบชั่วคราวและพาร์ทไทม์ การจ้างงานแบบนี้ลูกจ้างจะได้ค่าตอบแทนตามจำนวนชั่วโมงที่ทำงาน และแทบไม่มีสวัสดิการใดๆ

พนักงานบริการเกือบทั้งหมดในญี่ปุ่น รวมทั้งมนุษย์เงินเดือนใส่สูทผูกไทจำนวนมากก็เป็นลูกจ้างในลักษณะนี้ อัตราพนักงานแบบชั่วคราวและพาร์ทไทม์นี้มีมากกว่าร้อยละ 30-40 ของพนักงานทั้งหมด บางบริษัทชื่อดัง เช่น ดิสนีย์แลนด์ หรือ ยูนิโคล่ แทบไม่มีพนักงานประจำเลย ซึ่งแน่นอนว่า หากพนักงานเหล่านี้เลิกงานก่อนเวลาในวันศุกร์ย่อมสูญเสียรายได้ไป

นอกจากนี้ กิจกรรมโปรโมชั่นในช่วงบ่ายวันศุกร์ทั้งตามร้านค้าและร้านอาหาร แน่นอนว่าต้องมีการจัดเตรียมล่วงหน้าและต้องมีคนทำงานหนัก พนักงานบริการหลายคนต้องทำงานเพิ่มตั้งแต่กลางสัปดาห์ และยังต้องเพิ่มเวลาทำงานในวันศุกร์เพื่อรองรับลูกค้าที่เลิกงานเร็วด้วย

รัฐบาลญี่ปุ่นมีเจตนาดีที่จะลดเวลาทำงานของชาวญี่ปุ่น แต่ความจริงคือไม่มีใครอยากทำงานหามรุ่งหามค่ำ ทำงานจนตาย มนุษย์เงินเดือนชาวญี่ปุ่นต้องทุกข์ทนกับการทำงานไม่ใช่เพียงเพราะ “ชั่วโมงทำงาน” แต่เพราะรูปแบบการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม, จำนวนคนทำงานไม่เพียงพอ รวมทั้งค่านิยมที่ต้องพลีกายถวายชีวิตแด่องค์กร รากเหง้านี้หากไม่ถูกขุดถอน “วันศุกร์สุขสันต์” หรือแม้แต่การให้ทำงานสัปดาห์ละแค่ 4 วัน ก็เป็นแค่นโยบาย “ลูบหน้าปะจมูก” เท่านั้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น