xs
xsm
sm
md
lg

สะดุดคำ “โรคประจำชาติ”

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


สะดุดคำ คือ มุมพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึกที่ลงทุกวันจันทร์ มุมนี้จะเป็นการบอกเล่า ‘ความเคลื่อนไหว’ หรือ ‘สิ่งที่อยู่ในความสนใจ’ ของคนญี่ปุ่นตามโอกาสพิเศษผ่าน ‘คำสำคัญ’ หรือ ‘คำเด่น’ ในช่วงเวลาหรือฤดูกาลนั้น มีกำหนดนำเสนอเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถติดตามสิ่งที่เป็นปัจจุบันหรือร่วมสมัยได้ในเวลาใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่น อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ที่เรียนหรือสนใจภาษาญี่ปุ่นได้นำคำหลักและคำที่เกี่ยวข้องไปใช้พูดคุยกับคนญี่ปุ่นหากมีโอกาสเพื่อให้บทสนทนาน่าสนใจและมีชีวิตชีวา โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อคนหรือคำญี่ปุ่นไว้ในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม อนึ่ง การถ่ายเสียงจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยในทุกบทความอิงหลักการเขียนคำทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นของราชบัณฑิตยสถานเป็นหลักแม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียงสั้นและเสียงยาวตามหลักภาษาญี่ปุ่น

ตั้งแต่มาอยู่ญี่ปุ่น มีอยู่สองเรื่องที่ผมคิดว่าถ้าเล่าให้ใครทราบ ผมอาจจะถูกวิจารณ์เละ เรื่องแรกคือ ผมลาป่วยล่วงหน้าทุกปี และเรื่องที่สอง คือ ผมอยากรณรงค์ให้ตัดต้นไม้ชนิดหนึ่งถึงแม้ว่าอาจจะสวนกระแสการบรรเทาภาวะโลกร้อนก็ตาม

เรื่องของเรื่องก็คือ พออยู่ญี่ปุ่นนานวันเข้า ผมเป็นโรคที่ได้ชื่อว่า “โรคประจำชาติ” ของคนญี่ปุ่น และรักษายังไงก็ไม่หาย วิธีรับมือคือ หนี หรือไม่ก็ต้องทำลายต้นตอ แต่ดูเหมือนอย่างแรกจะง่ายกว่า ผมจึงบอกผู้บังคับบัญชาไว้ว่า ผมจะป่วยช่วงกุมภาหรือมีนา ฉะนั้นขอลาล่วงหน้าไว้ทุกปีเลยละกัน แล้วผมก็ปลีกตัวกลับเมืองไทยในระหว่างนั้นเท่าที่จะลาได้

ภาษาญี่ปุ่นมีคำว่า “โรคประจำชาติ” ออกเสียงว่า “โคะกุมิง-เบียว” (国民病; kokumin-byō) แปลตามรูปศัพท์ คือ “โรคของประชาชน” (国民—ประชาชน; 病—โรค) คำนี้ไม่ได้มีนัยทางการแพทย์เสียทีเดียว แต่หนักไปในเชิงสังคมมากกว่า หมายถึง โรคที่มีคนเป็นกันมาก ตามคำจำกัดความนี้หมายรวมได้หลายโรค อย่างในญี่ปุ่นสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้แก่ วัณโรค ส่วนญี่ปุ่นสมัยปัจุบัน เช่น เบาหวาน ปวดเอว ปวดไหล่ และที่โดดเด่นที่สุดเพราะมีคนเป็นคราวละหลายล้านและเป็นทุกปีเนื่องจากมาพร้อมกับฤดูกาล ก็คือ “โรคแพ้ละอองเกสร” ซึ่งผมก็เป็น พอคนญี่ปุ่นรู้เข้าว่าคนไทยก็เป็น ก็เอ่ยยิ้ม ๆ แล้วบอกว่า “คุณกลายเป็นคนญี่ปุ่นทั้งกายและใจแล้ว!” (แต่ผมไม่ได้อยากเป็นคนญี่ปุ่นถึงขนาดนั้นเสียหน่อย)

“โรคแพ้ละอองเกสร” ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “คะฟุงโช” (花粉症;kafun-shō; ละอองเกสรดอกไม้+กลุ่มอาการ) ภาษาอังกฤษเรียกว่า hay fever ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเมษายน ซึ่งคาบเกี่ยวช่วงปลายฤดูหนาวถึงกลางฤดูใบไม้ผลิ หากผู้ใดไปญี่ปุ่นก็จะพบเห็นผู้คนคาดหน้ากากอนามัยกันมากมาย ในจำนวนนั้นก็แน่นอนว่าคาดเพราะเป็นหวัดหรือป้องกันหวัดเพราะอากาศยังหนาวอยู่ แต่บอกได้เลยว่าส่วนใหญ่ปิดปากปิดจมูกเพื่อป้องกันละอองเกสรมากกว่า เพราะดอกไม้ต้นไม้หลายชนิดเริ่มผลิดอกออกใบ

สถิติชี้ว่าคนญี่ปุ่น 1 ในทุก 3 คนเป็นโรคแพ้ละอองเกสร ญี่ปุ่นมีประชากรราว 120 ล้านคน นั่นหมายความว่าประมาณ 30-40 ล้านคนเป็นโรคนี้ คำว่า “โรคประจำชาติ” จึงมีที่มาเช่นนี้ ในเดือนกุมภา มีนา และอาจเลยไปถึงกลางเมษา ถ้าออกจากบ้านเมื่อไร จะไม่มีวันไหนที่ไม่ได้เห็นคนญี่ปุ่นคาดหน้ากากอนามัย ประเมินด้วยสายตากับสถิติแล้วก็อดนึกไม่ได้ว่าการค้าหน้ากากอนามัยช่างเป็นธุรกิจที่ดี มีตลาดขนาดใหญ่รองรับด้วย ดังจะเห็นได้จากตัวเลขการผลิตของญี่ปุ่นซึ่งสูงมาก เฉพาะหน้ากากส่วนที่ใช้ในครัวเรือนก็สูงเป็นพัน ๆ ล้านชิ้นต่อปี และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 2,312 ล้านชิ้นในปี 2555 เป็น 3,692 ล้านชิ้นในปี 2558 (โดยมีผมช่วยใช้ปีละประมาณ 100 ชิ้น)

สำหรับอาการแพ้ละอองเกสรนั้น วัดความสาหัสได้คร่าวๆ โดยนับจากจำนวนครั้งของการจาม คือ อาการเบา จามวันละ 1-5 ครั้ง, ปานกลาง 6-10 ครั้ง, หนัก 11-20 ครั้ง และหนักมาก 21 ครั้งขึ้นไป บางคนมีอาการผสมที่ออกทั้งทางจมูกและทางตา และความหนักหนาก็อาจแตกต่างกันไปแล้วแต่คน ในกรณีของผม จมูกกับตาต่างก็ถูกถล่ม และร่างกายผมก็งัดทุกอาการออกมาต่อต้านละอองเกสรอย่างไม่ประหยัด จึงจัดเต็มทั้งแสบจมูก หายใจไม่ออก แสบหน้า คันตายิบๆ น้ำตาไหล อ่อนเพลีย ซ้ำตอนกลางคืนก็แทบจะนอนไม่ได้เพราะหายใจไม่ออก ต้องหายใจทางปากแทน

และถ้าใครขึ้นรถไฟในญี่ปุ่นแล้วได้เห็นบางคนใส่แว่นครอบสองตาอันโตๆ ที่แลดูคล้ายแว่นอาบน้ำ ก็อย่าได้คิดว่านั่นเป็นแฟชั่นใหม่ ขอให้ทราบไว้ว่าคนคนนั้นแพ้หนักมาก และพร้อมทุกเมื่อที่จะควักลูกตาตัวเองออกมาซักๆๆ ขยี้ๆๆ ล้างละอองเกสรที่กระจายอยู่ทั่วทุกอณูอากาศถ้าทำได้ ผมยังไม่เคยทำถึงขั้นนำแว่นมาครอบหน้า แต่ก็ไม่แน่ว่าสักวันอาจจะถึงจุดนั้น สำหรับคนที่ไม่แพ้ อธิบายยังไงก็อาจจะนึกภาพไม่ออก แต่ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ถอดมาจากคำบอกเล่าของผู้ร่วมอาการทุกคำ!

ที่เล่ามานี้ ผมพูดถึงแต่คำว่า “ละอองเกสร” ซึ่งเป็นคำกว้างๆ อันที่จริง ละอองเกสรมาจากต้นไม้หลากหลายชนิด แต่ละคนก็อาจแพ้ละอองต่างชนิดกัน แต่ตัวการใหญ่ที่สร้างความเดือดร้อนกายใจให้คนในญี่ปุ่นมากที่สุดคือ ต้นสนญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า “ซุงิ” (スギ;sugi) นี่คือต้นไม้ที่ผมยินดีจะร่วมสมทบทุนให้มีการตัดทิ้งหลังจากมีเพื่อนคนญี่ปุ่นเปิดประเด็นขึ้นมาในวงสนทนาว่า ทำไมรัฐบาลไม่ช่วยประชาชนแก้ปัญหาโรคเรื้อรังอันเกิดจากสนซุงิอย่างจริงจัง

ในญี่ปุ่นมีสนซุงิมากมาย และไม่ใช่สนตามธรรมชาติ แต่เป็นสนที่ปลูกขึ้นใหม่เพื่อนำไม้มาใช้ ตอนปลูกทีแรกก็ไม่มีใครคิดว่าละอองเกสรของมันจะกลายเป็นสาเหตุให้ผู้คนเกิดอาการแพ้ทั่วประเทศแบบนี้ แต่กระนั้นก็ตาม บัดนี้ทราบแล้ว ก็ยังมีการปลูกเพิ่มอีกเพราะประเทศนี้นิยมนำไม้สนมาใช้งาน ไม้สักเป็นที่นิยมของคนไทยฉันใด ไม้สนก็เป็นที่ชมชอบของคนญี่ปุ่นฉันนั้น อาคารไม้มากมายในญี่ปุ่นตลอดจนเครื่องเรือนที่มีเนื้อไม้สีเหลืองๆ ส้มๆ ลายสวยทั้งหลาย มักจะทำจากไม้สน (สนมีหลายชนิด ซุงิคือพันธุ์หนึ่งที่นิยมกัน)

เหตุผลก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน คือ สนปลูกง่าย โตไว ลายสวย ประกอบกับอุปสงค์ต่อการใช้ไม้พุ่งสูงขึ้นมากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงมีการโหมปลูกอย่างมาก ในพื้นที่ป่าปลูกราว 64 ล้านไร่ของญี่ปุ่น ร้อยละ 40 คือป่าสนซุงิ และทางการถือว่าเป็น “ไม้ที่สำคัญที่สุดในอุตสาหกรรมป่าไม้ของญี่ปุ่น” ปัจจุบันก็ยังมีการปลูกเพิ่มอีกปีละประมาณ 16 ล้านต้น

ในเมื่อรู้สาเหตุแล้ว ทำไมไม่เลิกปลูก? ก็ลองนึกถึงบุหรี่หรือเหล้าดูละกัน รู้ว่าไม่ดี แต่ทำไมถึงยังมีการผลิตอยู่? คือถ้ามองในแง่เศรษฐกิจ ไม้สนก็ยังจำเป็นต่ออุตสาหกรรม และถ้ามองแบบโหดร้ายขึ้นมาอีกระดับก็คือ ตราบใดที่มีคนป่วย ยาย่อมขายได้ แล้วธุรกิจยา ไม่ว่าจะเป็นยาหยอดตา ยากิน ยาพ่น จะอยากให้คนเลิกป่วยหรือไม่? นั่นหมายถึงรายได้มหาศาลที่จะได้ทุกปี

ถามว่าทำอย่างไรถึงจะไม่แพ้? ในทางการแพทย์ก็ยังตอบไม่ได้แน่ชัด และทุกวันนี้ก็มีแต่วิธีบรรเทา ที่ร้ายกว่านั้นก็คือ 1) คนที่ไม่เคยเป็นก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เป็น, 2) คนที่เป็นแล้วก็จะเป็นไปเรื่อยๆ ทุกปี และที่น่ากลัวกว่านั้นอีกก็คือค่ายาในญี่ปุ่นแพง
สนซุงิที่ทางการปลูก
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น