ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
ด้วยสภาพแวดล้อมที่ตีกรอบให้จำเป็นต้องดูโทรทัศน์ของญี่ปุ่นเป็นหลัก ผมจึงได้เห็นแนวทางการนำเสนอละครโทรทัศน์ของญี่ปุ่นมาพอสมควร ประกอบกับช่วงนี้มีโอกาสได้พานักศึกษาญี่ปุ่นเกือบยี่สิบคนมาอบรมและทัศนศึกษาในเมืองไทย จึงได้ดูละครไทยพร้อมกับคนที่บ้านหลังจากที่ไม่ได้ดูราวสิบปี ยิ่งทำให้เห็นความแตกต่างชัดเจนยิ่งขึ้น และคิดว่าน่าจะประมวลลักษณะของละครญี่ปุ่นมาเทียบกับของไทยดูบ้างในด้านบรรยากาศและเนื้อเรื่อง
เมื่อว่ากันถึงบรรยากาศการละคร โดยทั่วไปละครญี่ปุ่นไม่ยาวเท่าละครไทย ความยาวแต่ละตอนคือประมาณ 1 ชั่วโมงหรือสั้นกว่านั้น นอกจากตอนพิเศษ ก็อาจจะยาวกว่าปกติ ละครภาคค่ำส่วนใหญ่มีประมาณ 10-12 ตอน ออกอากาศค่อนข้างดึก โดยเริ่มตั้งแต่สามหรือสี่ทุ่มและออกอากาศสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ประเภทอื่นก็มีบ้าง เช่น ละครกลางวัน หรือละครขนาดยาวรายครึ่งปี/ตลอดปี ดังที่ช่อง NHK ผลิต ซึ่งมีทั้งละครร่วมสมัยและอิงประวัติศาสตร์ที่มีทุกปี ปีละเรื่อง ในฐานะละครภาคบังคับประจำช่อง
สถานีโทรทัศน์หลักในญี่ปุ่นผลิตละครกันทุกช่อง ช่องสำคัญๆ ได้แก่ NHK ซึ่งมีสถานะเป็นบรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงสาธารณะของประเทศ และเก็บเงินค่ารับชมเดือนละประมาณ 2,000 เยน เป็นการเก็บแกมบังคับ บ้านไหนมีโทรทัศน์ก็ต้องจ่ายทุกเดือน บ้านไหนไม่มีก็รอดตัวไป NHK มี 2 ช่องคือ ช่องทั่วไปกับช่องการศึกษา ปลอดโฆษณาทั้งคู่ อยู่ได้ด้วยค่ารับชมที่เก็บจากทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันคนที่ไม่ยอมจ่ายก็มีเป็นจำนวนมาก นักศึกษาไทยที่ไปเรียนในญี่ปุ่นมักตกใจไปตาม ๆ กันเมื่อถูกเจ้าหน้าที่ของ NHK มาตามเก็บค่าบริการ (มักเจาะจงเลือกเวลาที่มีคนอยู่บ้าน ได้แก่ วันเสาร์อาทิตย์ และเวลาค่ำ) ซึ่งต่างจากของไทยที่ดูโทรทัศน์ฟรีได้ทุกช่อง นอกจากนี้ก็มี Fuji Terebi, Nihon Terebi, TBS, Terebi Asahi, Terebi Tokyo ซึ่งเป็นฟรีทีวี
ในด้านการออกอากาศนั้น อันนี้ต้องยอมรับว่าของไทยใจกว้างกว่า เพราะนอกจากทางโทรทัศน์แล้ว ก็ยังออกอากาศในช่องทางอื่นผ่านอินเทอร์เน็ตด้วย ไม่รวมถึงการที่แฟนละครบันทึกเองแล้วอัปขึ้นยูทิวบ์ให้คนอื่นดู เรื่องแบบนี้ไม่เกิดกับวงการละครญี่ปุ่นเพราะเงื่อนไขด้านลิขสิทธิ์ และคนญี่ปุ่นก็เคารพลิขสิทธิ์ส่วนนี้กันอย่างเคร่งครัด ในกรณีของญี่ปุ่น เมื่อละครออกอากาศจนจบทั้งเรื่อง อีกสักพักก็จะมี DVD ออกมาอย่างเป็นทางการเป็นบริการให้เช่า ใครที่อยากดูย้อนหลังก็ต้องเสียเงินเช่ามาดู จะหาดูฟรีตามออนไลน์ไม่ได้ สำหรับจุดนี้ บางทีก็มีคนญี่ปุ่นที่เคยดูละครไทยเกิดความสงสัยขึ้นมาและถามผมว่า ทำไมละครไทยถึงหาดูได้ง่ายมากบนยูทิวบ์ ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์หรอกหรือ? ผมก็ตอบง่ายๆ ไปว่า ถ้าคิดอย่างเข้มงวดก็ผิดนั่นแหละ แต่คนไทยใจดี มีอะไรก็แบ่งกันกินแบ่งกันใช้ คนฟังตอบกลับมาว่า “คนญี่ปุ่นใจแคบเนอะ” ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าคิดแบบนั้นจริง หรือประชดกันแน่
ญี่ปุ่นนำละครลงจอโดยใช้ฤดูกาลเป็นเกณฑ์ ได้แก่ ใบไม้ผลิ ร้อน ใบไม้ร่วง และหนาว และการนำละครเรื่องเดิมมารีเมกก็แทบจะไม่มี ยกเว้นเรื่องที่โดดเด่นระดับตำนานจริงๆ ซึ่งมีน้อยมาก เช่น เรื่อง “หอคอยใหญ่สีขาว” (白い巨塔;Shiroi kyotō)ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมของแพทย์ และความโอหังของลูกศิษย์ที่คิดไม่ดีต่ออาจารย์ เนื้อเรื่องเข้มข้นและดีมากจนวงการละครของญี่ปุ่นอดใจไม่ไหว จึงต้องนำมาทำใหม่ และดีจนเกาหลีใต้นำไปทำเวอร์ชันเกาหลีด้วย
ในญี่ปุ่น การเซ็นสัญญาผูกมัดนักแสดงไว้กับช่องก็แทบจะไม่มี ส่วนใหญ่เป็นนักแสดงอิสระที่สังกัดค่าย (ผู้จัดการ) ซึ่งทำหน้าที่รับงานและต่อรองค่าตัวให้ และในวงการบันเทิงของญี่ปุ่น นักแสดงจะไม่เปลี่ยนบทบาทมาเป็นนายแบบนางแบบถ่ายแฟชั่นชุดว่ายน้ำเมื่อถึงหน้าร้อน กิจกรรมที่อาจเรียกได้ว่าคล้ายคลึงกัน คือการถ่ายภาพรวมเล่มเป็นหนังสืออัลบั้มภาพของตน ซึ่งก็ไม่ได้หวือหวาเท่าใดนัก
ด้านเนื้อเรื่อง สิ่งที่เป็นลักษณะเด่นของละครญี่ปุ่นคือ “เน้นประเด็น” และค่อนข้างลงลึกในรายละเอียดเฉพาะวงการ ซึ่งต่างจากละครไทยที่เน้นอารมณ์ จึงทำให้เรื่องวนเวียนอยู่กับเนื้อหาเดิม ๆ เพราะอารมณ์ของคนก็หนีไม่พ้นรัก โลภ โกรธ หลง และนี่คงเป็นสาเหตุของการที่ ‘น้ำเน่า’ ไม่หายไปจากวงการละครไทย ในญี่ปุ่นไม่มีการวิจารณ์ละครเรื่องนั้นเรื่องนี้ว่าน้ำเน่า (ตามนิยามที่คนไทยใช้เป็นเกณฑ์วัดคุณภาพละคร) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเนื้อหามีความหลากหลาย และอีกส่วนหนึ่งคงเพราะคนญี่ปุ่นรู้จักปล่อยวางหลังจากทราบเงื่อนไขของผลิตภัณฑ์แล้วว่า “ละครเรื่องนี้เป็นเรื่องแต่ง” (このドラマはフィクションです;kono dorama wa fikushon desu) ซึ่งเป็นข้อความที่ปรากฏบนจอของละครโทรทัศน์แทบทุกเรื่อง คนดูชาวญี่ปุ่นจึงไม่ค่อยวิจารณ์จุดที่ไม่ได้ดั่งใจ เพราะถึงอย่างไรมันก็เป็นแค่ละคร
การเน้นประเด็น หมายถึง การนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นในฉาก หรือสถานที่เกิดเหตุ หรือองค์ประกอบแวดล้อมตัวละครที่เป็นเรื่องเฉพาะทางค่อนข้างสูง และให้รายละเอียดทางเทคนิคเกี่ยวกับวงการนั้นค่อนข้างมาก เท่าที่ผมจำได้ เช่น วงการแพทย์ การเงินการธนาคาร สายการบิน โรงเรียน มหาวิทยาลัย ตำรวจ ร้านขนมเค้ก ดนตรี คนหูหนวกเล่นดนตรีได้ คนใบ้ โรคความจำเสื่อม กีฬา เป็นต้น ซึ่งเป็นการนำเสนอเรื่องราวชีวิตของคนที่อยู่ตรงนั้นจริงและเผชิญกับปมขัดแย้ง ณ จุดนั้น ตลอดจนแง่มุมที่คนนอกวงการมีโอกาสได้สัมผัสน้อย นอกเหนือจากประเด็นแล้ว ก็จะใส่องค์ประกอบที่ทำให้ละครสนุก คือ เรื่องราวชิงรักหักสวาท การทรยศและการแก้แค้น ซึ่งจุดนี้มีอยู่ในละครไทยทุกเรื่องอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ละครไทยส่วนใหญ่ขาดคือประเด็นหรือฉากเฉพาะทาง นี่คงเป็นสาเหตุที่ทำให้คนดูส่วนหนึ่งรู้สึกเบื่อหน่าย
ในละครไทยนั้น สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ “การแสดงอารมณ์ล้นเกิน” ยิ่งเรื่องไหนมีการตบตี ก็จะเกิดกระแสได้ไม่ยาก และจะพบว่าของไทยมีความเป็น ‘ละคอน’ อย่างสูง คือทุกอย่างเป็นการแสดงอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเรื่องความเป็นอยู่ของตัวละคร การใช้บ้านหลังโตๆ ใช้นักแสดงลูกครึ่ง (ญี่ปุ่นมีพระเอกนางเอกที่เป็นลูกครึ่งน้อยมาก) การแสดงสีหน้าท่าทางและอารมณ์ โดยเฉพาะในกรณีตัวร้ายหญิง ก็จะแต่งหน้าจัด แผดเสียงดังลั่นเพื่อข่มอีกฝ่าย
การทำแบบนี้ก็ไม่ใช่ว่าไม่ดีเสมอไป ข้อดีคือต้นทุนในการสร้างมิติให้ละครจะไม่สูงมาก และการกระทำบางอย่างกับคำพูดบางคำที่ดูเหมือนเกินเลยความเป็นจริงก็ช่วยเติมเต็มความรู้สึก หรือพูดแทนคนดูจำนวนไม่น้อยที่ไม่อาจทำได้เองในชีวิตจริง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่รสนิยมของคนญี่ปุ่น
ข้อสรุปที่ได้จากการพิจารณาลักษณะการนำเสนอละครก็คือ ความบันเทิงสะท้อนนิสัยของคนในชาตินั้นได้ในระดับหนึ่ง กล่าวคือ ในขณะที่คนญี่ปุ่นประณีตกับเนื้อหา แต่คนไทยนิยมความสาแก่ใจในละคร และสิ่งหนึ่งที่ควรมองให้ลึกกว่าศาสตร์ของการละครคือการประพันธ์ หลายคนมองว่าวงการละครไทยสร้างแต่ละครน้ำเน่า แต่ก็ลืมนึกว่าละครส่วนใหญ่สร้างจากบทประพันธ์ที่เป็นนวนิยายมาก่อน หากต้นเรื่องมีลักษณะเช่นนั้นแล้ว ละครย่อมออกมาแบบนั้นเหมือนกัน นั่นหมายความว่าการจะพัฒนาละครให้หลุดพ้นจากความจำเจ บทประพันธ์ก็ต้องพัฒนาด้วย
นักเขียนในฐานะต้นทางก็ต้องสร้างงานที่ลุ่มลึกและหลากหลาย ต้องค้นคว้าให้มาก นักเขียนคือนักคิดที่สร้างแก่น ส่วนผู้จัดละครคือผู้นำแก่นไปประดับประดาขัดเกลาให้สวยงาม หากจะพัฒนาละคร แน่นอนว่าต้องพัฒนานักประพันธ์ และหากจะพัฒนานักประพันธ์ ก็ต้องพัฒนานักอ่านควบคู่กันไป นักอ่านต้องต้อนนักเขียนให้หนีตัวเองเพื่อสร้างสรรค์งานที่หลากหลายอยู่ตลอดเวลา ซึ่งญี่ปุ่นทำได้ถึงจุดนั้นแล้ว แต่เมื่อมองย้อนมาที่ไทย อาจต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th