xs
xsm
sm
md
lg

สะดุดคำ “อะมะ-คุดะริ — ลงมาจากสวรรค์” ส่องเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของข้าราชการญี่ปุ่น กับ ภาคเอกชน

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


สะดุดคำ คือ มุมพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึกที่ลงทุกวันจันทร์ มุมนี้จะเป็นการบอกเล่า ‘ความเคลื่อนไหว’ หรือ ‘สิ่งที่อยู่ในความสนใจ’ ของคนญี่ปุ่นตามโอกาสพิเศษผ่าน ‘คำสำคัญ’ หรือ ‘คำเด่น’ ในช่วงเวลาหรือฤดูกาลนั้น มีกำหนดนำเสนอเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถติดตามสิ่งที่เป็นปัจจุบันหรือร่วมสมัยได้ในเวลาใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่น อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ที่เรียนหรือสนใจภาษาญี่ปุ่นได้นำคำหลักและคำที่เกี่ยวข้องไปใช้พูดคุยกับคนญี่ปุ่นหากมีโอกาสเพื่อให้บทสนทนาน่าสนใจและมีชีวิตชีวา โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อคนหรือคำญี่ปุ่นไว้ในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม อนึ่ง การถ่ายเสียงจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยในทุกบทความอิงหลักการเขียนคำทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นของราชบัณฑิตยสถานเป็นหลักแม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียงสั้นและเสียงยาวตามหลักภาษาญี่ปุ่น

เมื่อความไม่พอเพียงเกิดขึ้นเมื่อไร หายนะมักจะตามมา จะปรากฏช้าหรือเร็วก็แล้วแต่กรณี คนที่รวยแล้วไม่ได้หมายความว่าจะไม่โกงฉันใด คนที่เป็นใหญ่แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะรู้จักพอฉันนั้น เหตุการณ์แบบนี้ผุดขึ้นมาให้วิจารณ์เป็นระยะ อย่าว่าแต่ข้าราชการผู้ใหญ่ของไทยที่มือไวขโมยของในญี่ปุ่นเลย ในบรรดาคนญี่ปุ่นเองก็มีคนไม่รู้จักพอมากมาย ความโลภมันไม่เข้าใครออกใคร ถึงได้เกิดการขุดคุ้ยอดีตข้าราชการระดับสูงของญี่ปุ่นที่เข้าข่ายใช้เส้นสายแสวงหาผลประโยชน์จนกลายเป็นที่โจษจันไปทั่ว พร้อมกับคำว่า “อะมะ-คุดะริ” ที่ครองพื้นที่สื่อญี่ปุ่นถี่ขึ้น

คำว่า “อะมะ-คุดะริ” (天下り;ama-kudari) ประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ “อะมะ” (天) แปลว่า “ท้องฟ้า” หรือ “สวรรค์” และ “คุดะริ” (下り) แปลว่า “การลงมา” เมื่อรวมกันจึงแปลว่า “การลงมาจากสวรรค์” ฟังดูเหมือนมีความหมายดี แต่อันที่จริง นี่เป็นคำที่แฝงนัยเชิงลบเสียมากกว่า และตามความหมายที่ใช้กันจริงๆ “อะมะ-คุดะริ” หมายถึง การที่ข้าราชการระดับสูงในหน่วยงานของรัฐบาล โดยเฉพาะระดับกระทรวงหรือกรม เข้าไปทำงานในตำแหน่งสูงๆ ที่บริษัทเอกชน (หรือบางครั้งในภาครัฐวิสาหกิจ) เมื่อออกจากราชการแล้ว

คนญี่ปุ่นมองว่า ข้าราชการระดับกระทรวงคือบุคคลชั้นหัวกะทิของสังคม เป็นผู้กำหนดทิศทางของประเทศ มีเกียรติและมีสถานะสูงประหนึ่งว่าเป็นชาวฟ้าชาวสวรรค์ เมื่อหมดหน้าที่ทางราชการก็เปรียบดังเทพจุติลงสู่พื้นโลกอันได้แก่บริษัทชั้นนำของประเทศ ซึ่งเมื่อดูเผินๆ อาจไม่เห็นความผิดปกติแต่อย่างใด กลายเป็นเรื่องดีเสียอีกที่เหมือนมีพระมาโปรด แต่เอาเข้าจริง ข้าราชการเหล่านี้มิได้ประเสริฐเช่นนั้น

“อะมะ-คุดะริ” เกิดจากแรงจูงใจด้านการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างภาครัฐกับเอกชน กล่าวคือ ข้าราชการเองก็ต้องการผลประโยชน์ จะได้ ‘เสวยสุข’ ไปเรื่อยๆ เช่น ออกจากราชการในช่วงอายุปลาย 40 ถึงกลาง 50 โดยได้รับเงินบำนาญ (จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของรัฐ) ไม่มากนักตามความคิดของตน จึงอยากทำงานต่อและรับเงินเดือนสูงๆ ส่วนภาคเอกชนเองก็อยากได้ช่องทางการเข้าถึงคนใหญ่คนโตของทางการโดยอาศัยความสัมพันธ์ของอดีตข้าราชการระดับสูง ประมาณว่าน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า

ส่วนใหญ่ “อะมะ-คุดะริ” มักเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมที่มีข้อกำหนดเข้มงวด เช่น การเงินการธนาคาร การคมนาคม การผลิตสินค้าว่าด้วยสาธารณูปโภค ตัวอย่างจริงที่เกิดขึ้น เช่น

ผู้กำกับใหญ่ (ตำรวจ) → ที่ปรึกษาพิเศษบริษัท Fujitsu
ปลัดกระทรวงสิ่งแวดล้อม →ประธานบริหารธนาคาร AEON
ข้าราชการระดับอธิบดีกรมสังกัดกระทรวงเกษตรฯ → ที่ปรึกษาบริษัท Sumitomo
ผู้ว่าการสำนักงานบรรษัทขนาดกลางและขนาดย่อม → ที่ปรึกษาบริษัท Mitsui & Co.
อธิบดีกรมความปลอดภัยในชีวิต (สำนักงานตำรวจ) → ที่ปรึกษา Nomura Securities

มีแนวคิดที่สนับสนุน “อะมะ-คุดะริ” อยู่บ้าง โดยมองว่าการว่าจ้างอดีตข้าราชการระดับสูงให้มาทำงานในบริษัทเอกชนจะทำให้ภาคเอกชนปฏิบัติงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะสามารถติดต่อสื่อสารกับภาครัฐได้เร็ว อีกทั้งยังได้รู้กฎระเบียบอย่างใกล้ชิด ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาโดยใช่เหตุกับระบบราชการ แต่ปรากฏว่าโลกนี้มิได้สวยงามเช่นนั้น เพราะผลที่สุด “อะมะ-คุดะริ” กลายเป็นการใช้เส้น อันนำไปสู่ความประพฤติ ‘สีเทา’ ที่เอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง ในมุมหนึ่งคนญี่ปุ่นขึ้นชื่อมานานเรื่องความขยัน อดทน ซื่อตรง รับผิดชอบ แต่ก็ต้องยอมรับว่าญี่ปุ่นก็มีระบบพวกพ้องเช่นกัน แต่จะกระทำแบบโจ่งแจ้งแค่ไหนนั้น นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ภาพประกอบ
นี่คือสิ่งที่สังคมญี่ปุ่นรับไม่ได้มาพักใหญ่และกำลังพยายามตรวจสอบ เพราะบางกรณีก็เข้าข่ายฉ้อราษฎร์บังหลวง ซึ่งก็เป็นปัญหาที่จินตนาการได้ไม่ยาก เช่น บริษัทแห่งหนึ่งต้องการประมูลโครงการใหญ่ของรัฐสักโครงการ แน่นอนว่าต้องมีข้าราชการเข้ามาเกี่ยวข้อง หากข้าราชการเรียกร้องประมาณว่า ‘จะอำนวยความสะดวก’ เกี่ยวกับการประมูลให้ แต่พอเกษียณอายุแล้ว ขอให้รับเข้าไปทำงานในบริษัทด้วย!

การจะเรียกสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องดีแต่มีมานานว่าเป็น “วัฒนธรรม” ออกจะเป็นเรื่องที่น่าลำบากใจ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าดูเหมือน “อะมะ-คุดะริ” เป็นวัฒนธรรมองค์กรของญี่ปุ่นไปแล้ว โดยค่อยๆ เริ่มปรากฏขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และแพร่หลายในช่วงปลายทศวรรษ 1960 ถึงทศวรรษ 1980 ต่อมาเมื่อสื่อมวลชนตรวจสอบมากขึ้น จึงค่อยๆ ลดลง เช่น มี 165 คน ในปี 1963 เพิ่มเป็น 320 คนในปี 1985 และลดลงมาเป็น 40 คนในปี 2000 แต่ทั้งนี้ “อะมะ-คุดะริ” ก็ยังไม่หมดไป และกลายเป็นข่าวใหญ่ขึ้นมาอีกเมื่อเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นที่กระทรวงศึกษาธิการกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ

ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคมเป็นต้นมา สื่อมวลชนญี่ปุ่นรายงานข่าวเกี่ยวกับนายไดซุเกะ โยะชิดะ อดีตอธิบดีกรมอุดมศึกษา (61 ปี) ว่าได้งานใหม่ในฐานะศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยหลังออกจากราชการประมาณ 2 เดือน ที่ทำงานใหม่ของนายโยะชิดะคือมหาวิทยาลัยวะเซะดะ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน และกำหนดอายุเกษียณของอาจารย์ไว้ที่ 70 ปี
กระทรวงศึกษาธิการฯ ในย่าน Kasumi-ga-seki ภาพโดย BlackRiver
นายโยะชิดะสังกัดศูนย์วิจัยรวมประจำมหาวิทยาลัย แต่สื่อมวลชนก็วิจารณ์ว่า ในเมื่อไม่เคยมีผลงานวิจัยโดดเด่นแต่อย่างใด แล้วทำไมถึงได้เข้าไปรับตำแหน่งนี้ ทั้งยังประเมินต่อไปอีกว่า รายได้จากการเป็นศาสตราจารย์ที่วะเซะดะคงประมาณปีละ 14 ล้านเยน พออยู่ไป 10 ปี ย่อมมีรายได้ 140 ล้านเยน ครั้นจะโทษไปสัมภาษณ์ โทรศัพท์ก็ไม่มีคนรับ แต่สื่อก็ไม่ย่อท้อ ยังสามารถไปขุดคุ้ยเรื่องการเงินมาได้ด้วยว่า นายโยะชิดะอาศัยอยู่ที่โยะโกะฮะมะกับภรรยาและลูก 2 คน และเนื่องจากบ้านหลังเดิมคับแคบ เมื่อกลางปี 2557 จึงซื้อที่ดินขนาด 100 ตารางเมตรในเมืองเดียวกัน และสร้างบ้าน 2 ชั้นซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยถึง 120 ตารางเมตร ตอนซื้อที่ดินนั้น กู้ยืม 25 ล้านเยนจากธนาคาร แต่เมื่อเกษียณอายุราชการ ก็นำเงินสะสมไปใช้หนี้ก้อนนั้นจนเหลืออีกแค่ 2 ปีก็จะหมด

คนที่ไม่ทราบก็อาจมองว่า ผู้ใหญ่เกษียณอายุราชการและหางานใหม่ ทำไมถึงผิด? น่าจะส่งเสริมด้วยซ้ำ? นั่นก็มีส่วนถูกอยู่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเข้าข่ายละเมิดกฎระเบียบของราชการ หรือผิดกฎหมายนั่นเอง จริงๆ แล้ว กฎหมายญี่ปุ่นไม่ได้ห้ามการหางานใหม่ทำ เพียงแต่วางกฎไว้เพื่อป้องกันไม่ให้อิทธิพลของ “อะมะ-คุดะริ” ขยายตัวต่อไป ทั้งนี้ กฎหมายข้าราชการแห่งชาติของญี่ปุ่นบัญญัติว่า ห้ามมิให้ข้าราชการสมัครงานในบริษัทเอกชนหรือองค์กรใดๆ ที่ตนเป็นผู้ตรวจสอบดูแลระหว่างที่ดำรงตำแหน่งราชการอยู่ อันรวมถึงการส่งข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับการสมัครงานไปยังผู้ว่าจ้างรายใหม่ด้วย นอกจากนี้ ยังกำหนดอีกว่า หลังออกจากราชการแล้วภายใน 2 ปี ห้ามมิให้ทำงานในบริษัทที่ตนเคยมีปฏิสัมพันธ์ในฐานะข้าราชการในช่วง 5 ปีสุดท้ายก่อนออกจากราชการ

เมื่อมองทางด้านมหาวิทยาลัย ถามว่าทำไมมหาวิทยาลัยวะเซะดะถึงรับ “อะมะ-คุดะริ” เข้ามา เรื่องนี้ก็มองได้ไม่ยาก ตามปกติรัฐบาลจะมอบเงินสนับสนุนให้แก่มหาวิทยาลัยเอกชนปีละประมาณ 3 แสนล้านเยน ซึ่งขึ้นอยู่กับการนำเสนอโครงการต่างๆ เพื่อขออนุมัติงบประมาณด้วย ดังนั้น หากมีใครที่เคยเป็นคนในของกระทรวงศึกษาธิการฯ มาทำงานให้ หนทางย่อมสะดวกขึ้น แต่ในเมื่อเรื่องกลายเป็นประเด็นขึ้นมา อธิการบดีจึงต้องออกมาขออภัยต่อสังคมและบอกว่า “มีความเข้าใจไม่เพียงพอต่อเรื่องนี้” พร้อมกันนี้ นายโยะชิดะเองก็ลาออกจากตำแหน่งแล้ว
มหาวิทยาลัยวะเซะดะ
สิ่งที่สังคมวิจารณ์หนักก็คือ ดูเหมือนผู้ที่มีส่วนผลักดันให้นายโยะชิดะเข้าสู่กระบวนการ “อะมะ-คุดะริ” ก็คือกระทรวงศึกษาธิการฯ นั่นเอง โดยดำเนินการผ่านฝ่ายบุคคล ส่งประวัตินายโยะชิดะไปที่มหาวิทยาลัย จึงกลายเป็นว่านี่คือการร่วมมือกันทำเป็นระบบทั้งๆ ที่กระทรวงก็น่าจะรู้ดีว่ามีกฎหมายห้ามไว้ เมื่อข่าวนี้ออกมา เลขาธิการคณะรัฐมนตรีจึงประกาศทันทีว่าจะตรวจสอบทุกกระทรวงว่ามีกรณีแบบนี้อีกหรือไม่ และในเบื้องต้น ทราบว่ามีอดีตข้าราชการระดับสูง 42 คนได้งานในมหาวิทยาลัยเอกชนและสถาบันการศึกษาอื่นภายใน 2 เดือนหลังจากพ้นตำแหน่งราชการ ในจำนวนนั้น มี 14 คนได้งานหลังจากนั้นแค่ 1 วัน ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีจนถึงปีงบประมาณ 2558 และจากนี้ไป พอสอบสวนเสร็จ รัฐบาลจะรายงานผลให้สาธารณชนทราบช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งเป็นเดือนสิ้นสุดปีงบประมาณ 2559

ข้าราชการมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศและเป็นหน้าเป็นตาด้วย เมื่อถามหาความซื่อสัตย์ หากข้าราชการยังทำไม่ได้ ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร และยิ่งเกี่ยวพันกับสถานศึกษาอีก สังคมจึงตั้งคำถามกันยกใหญ่ว่าพอได้ไหม? อยู่บนสวรรค์ชั้นฟ้าก็สบายมานาน จะลงมาสานต่อความสุขไม่รู้จักจบหรืออย่างไร

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น