“สุภัฒ สงวนดีกุล” รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ก่อเหตุขโมยภาพเขียนมูลค่า 15,000 เยนจากโรงแรมในนครเกียวโต อาจต้องโทษจำคุกที่ญี่ปุ่นสูงสุด 10ปี เนื่องจากคดีลักทรัพย์เป็นคดีอาญา ยอมความไม่ได้
ตามกฎหมายของญี่ปุ่น ความผิดฐานลักทรัพย์เป็นความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 235 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีและปรับเงินไม่เกิน 5แสนเยน
ขั้นตอนหลังจากถูกควบคุมตัว ผู้ต้องสงสัยจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายของญี่ปุ่นอย่างเคร่งครัด เพื่อรออัยการยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาล และหากศาลรับฟ้องก็ต้องถูกคุมขังเพื่อรอวันนัดไต่สวนคดี ขั้นตอนแรกนี้จะใช้เวลาตั้งแต่ 45-90วันจึงจะเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาล ซึ่งหมายความว่าในช่วงนี้ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาผู้นี้จะยังไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้
ความผิดของข้าราชการไทยรายนี้ถือว่าแตกต่างจากกรณีของ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่เคยถูกควบคุมตัวในกรณีพกปืนเข้าไปในสนามบินนาริตะ แต่สุดท้ายอัยการญี่ปุ่นสั่งไม่ฟ้อง และเนรเทศพล.ต.ท.คำรณวิทย์กลับประเทศไทย พร้อมขึ้นบัญชีดำห้ามเข้าประเทศญี่ปุ่น
กรณีของนายสุภัฒ สงวนดีกุล ถือเป็นคดีอาญาที่มีผู้เสียหาย คือเจ้าของทรัพย์ ดังนั้นโอกาสที่จะถูกส่งฟ้องต่อศาลมีสูงมาก
ทั้งนี้กฎหมายเรื่องลักทรัพย์ของญี่ปุ่นมีการแก้ไขในปี 2006 โดยเพิ่มโทษปรับเงิน ด้วยเหตุผลว่า ในอดีตคดีลักทรัพย์มักเกิดขึ้นเพราะความขัดสน การปรับเงินจึงไม่มีประโยชน์อันใด แต่ในระยะหลัง การลักขโมยโดยผู้ที่มีอันจะกิน หรือขโมยเพื่อตอบสนองความต้องการส่วนตัวเพิ่มขึ้นมาก จึงให้เพิ่มโทษปรับเงินด้วย
จากการตรวจสอบจากสื่อมวลชนของญี่ปุ่น พบว่า ปกติแล้วคดีลักทรัพย์ที่ไม่ร้ายแรงมักจะถูกตัดสินลงโทษจำคุกไม่เกิน 3ปี นอกจากนี้กฎหมายญี่ปุ่นยังเปิดทางให้คดีลหุโทษที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 1เดือนสามารถจ่ายค่าปรับแทนโทษจำคุกได้
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาโทษของศาลญี่ปุ่นจะดูจากเจตนากระทำผิด, พฤติกรรมขณะก่อเหตุว่ามีการใช้อาวุธ ใช้ความรุนแรง ข่มขู่ ขัดขืนเจ้าหน้าที่ หรือมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตหรือไม่ และจะพิจารณาประวัติของผู้ถูกกล่าวหาประกอบด้วย.