ผู้สูงอายุในญี่ปุ่นเพิ่มจำนวนสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ แต่การมีอายุยืนในทุกวันนี้ไม่แน่ว่าจะเป็นความสุขหรือความทุกข์ เพราะผู้สูงอายุหลายคนต้องทำงานจนแก่ ขณะที่อีกหลายคนต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวไร้ลูกหลานดูแล
วันจันทร์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกันยายนเป็นวันเคารพผู้สูงอายุ และเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ของญี่ปุ่น กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่น ระบุว่า จำนวนผู้สูงอายุวัยตั้งแต่ 65 ปี ในญี่ปุ่นเพิ่มจำนวนสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ 34,610,000 คน เทียบเป็นสัดส่วนร้อยละ 27.3 ของประชากรญี่ปุ่น โดยหากนับเฉพาะผู้หญิง ซึ่งมีอายุยืนกว่าผู้ชาย คุณย่าคุณยายสูงวัยในญี่ปุ่นจะมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 30 ของประชากรญี่ปุ่น
ขณะที่ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวญี่ปุ่นที่มีอายุเกินกว่า 100 ปี มีจำนวนถึง 65,692 คน สูงที่สุดในรอบ 46 ปี ผู้สูงอายุ 100 ปี จะได้รับของขวัญจากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นประกาศนียบัตรและถ้วยเงิน เพื่อแสดงความยินดีและขอบคุณที่ได้เป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติมาอย่างยาวนาน
ธรรมเนียมการให้ประกาศนียบัตรและถ้วยเงินแด่ผู้ที่อายุครบ 100 ปีนี้ ริเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1963 ที่มีผู้ได้ของขวัญพิเศษนี้เพียง 153 คน แต่ในปีนี้ผู้สูงอายุที่ได้ของขวัญนี้มากกว่า 3 หมื่นคน เพิ่มขึ้นกว่า 200 เท่าตัว
จำนวนผู้สูงอายุ 100 ปี ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องลดค่าใช้จ่าย โดยเปลี่ยนจากถ้วยที่ทำด้วยเงินบริสุทธิ์ เป็นถ้วยชุบเคลือบเงิน ซึ่งต้นทุนราคาของถ้วยเงินจากเดิม 7,600 เยน ลดลงเหลือ 3,800 เยน
อยู่อย่างโดดเดี่ยว จากไปอย่างเงียบเหงา
การมีประชากรอายุยืนที่สุดในโลกอาจเป็นความภาคภูมิใจของญี่ปุ่น เพราะสะท้อนถึงสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดีเยี่ยม อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุญี่ปุ่นในปัจจุบันกลับมีชีวิตที่ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าสุขหรือทุกข์
ผู้สูงวัยจำนวนมากอยู่อย่างโดดเดี่ยวในชนบท เพราะลูกหลานไปทำงานในเมืองใหญ่ หลายคนใช้เงินบำนาญที่เก็บสะสมมาทั้งชีวิต เพื่ออาศัยในบ้านพักคนชราที่บริการเพียบพร้อม แต่มีค่าใช้จ่ายสูงหลายแสนเยนต่อเดือน และผู้เฒ่าผู้แก่อีกไม่น้อยยังต้อง “ทำงานยามชรา” โดยสถิติของรัฐบาลญี่ปุ่น พบว่า ผู้สูงอายุ 7 ล้าน 3 แสนคน ยังทำงานอยู่ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงเป็นประวัติการณ์ และเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 12 ติดต่อกัน
จุดจบความกตัญญู ?
ความลำบากของผู้สูงอายุญี่ปุ่นจะยิ่งสาหัสมากขึ้นในช่วงไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า เพราะชาวญี่ปุ่นทุกวันนี้แต่งงานน้อยลงและไม่มีลูกหลาน จึงทำให้ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวยามแต่เฒ่า ขณะที่ครอบครัวที่มีลูกเพียงคนเดียวก็แทบจะรับภาระดูแลพ่อแม่ปู่ย่าตายายไม่ไหว ถึงแม้ในใจจะยึดถือความกตัญญูก็ตาม
หนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นทุกวันนี้นิยมส่งพ่อแม่ปู่ย่าตายายไปพักในบ้านพักคนชรา เพราะสามีภรรยาต้องออกไปทำงานทั้งคู่ ไม่สามารถดูแลใกล้ชิดได้ หนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นยังบอกว่า ผู้สูงอายุรุ่นพ่อแม่นี้ยังพึ่งพาตัวเองได้ หากแต่ในรุ่นของพวกเขานั้น ระบบการจ้างงานได้เปลี่ยนไป ไม่มีการจ้างงานตลอดชีวิต ไม่มีโบนัสหรือเงินเกษียณก้อนโต แม้แต่งานประจำที่ดีๆก็แทบจะหาไม่ได้ อนาคตวัยไม้ใกล้ฝั่งของพวกเขาจึงยากลำบากยิ่งกว่ารุ่นพ่อแม่ทุกวันนี้อย่างมาก
“อายุมั่นขวัญยืน” เป็นคำอวยพรติดปาก หากแต่ทุกวันนี้ผู้เฒ่าผู้แก่มากมายแทบไม่สามารถเป็น “ร่มโพธิ์ร่มไทร” ให้ลูกหลานได้อีก ไม่ว่าเพราะสภาพเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนผัน หรือเพราะหัวใจคนที่แปรเปลี่ยน “ไม้ใกล้ฝั่ง” จึงรอวันถึงฝั่งอย่างเงียบเหงา บางคนจากไปโดยไม่มีใครรับรู้ด้วยซ้ำ