หนึ่งในผลไม้ปลายฤดูร้อน ที่ราคาไม่แพง และเป็นที่นิยมของคนญี่ปุ่นมาก ๆ ก็คือ ลูกแพร์ญี่ปุ่น หรือ Nashi (梨) ช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม เป็นช่วงการออกของลูกแพร์ในปริมาณมาก คนญี่ปุ่นจึงมีความสุขกับการได้รับประทานผลไม้หวานกรอบ และเนื้อชุ่มฉ่ำ ซึ่งเป็นเป็นทางเลือกที่ดีที่ช่วยคลายร้อนในสภาวะร้อนอบอ้าว เรามาทำความรู้จักลูกแพร์ญี่ปุ่นกันสักหน่อยดีกว่า
พันธุ์ของลูกแพร์ญี่ปุ่น
ในญี่ปุ่น พันธุ์ปลูกลูกแพร์แบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ ลูกแพร์ที่มีเปลือกสีน้ำตาลปนแดงหรือเหลือง (Akanashi ) และลูกแพร์ที่มีเปลือกสีเขียวอมเหลือง (Aonashi) ผลิตผลลูกแพร์จะออกสู่ตลาดในช่วงเวลาที่แตกต่างกันแล้วแต่พันธุ์ แต่ที่เห็นได้บ่อย ๆ ในซูเปอร์มาร์เก็ตก็จะมีอยู่ประมาณนี้
1. พันธุ์ Hosui (豊水) เป็นพันธุ์ที่มีผลขนาดใหญ่ มีเปลือกสีน้ำตาลอมแดง และมีจุดด่างสีขาว หรือสีน้ำตาลอ่อน มีความหวานชุ่มฉ่ำและมีความสมดุลที่ดีระหว่างความเปรี้ยวและหวาน พันธุ์นี้เป็นที่นิยมของคนญี่ปุ่น โดยผลลูกแพร์จะออกมากในช่วงตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถึงกันยายน
2. พันธุ์ Kosui (幸水) เป็นพันธุ์ที่มีผลกลมแป้น มีขนาดปานกลาง มีเปลือกบางส่วนเป็นสีน้ำตาลอมแดง บางส่วนมีสีเหลืองทองไปจนถึงสีแทน และมีจุดด่างสีน้ำตาล รสชาติเป็นเลิศ หวานกรอบ ชุ่มฉ่ำ มีความหวานมาก และมีความเป็นกรดต่ำ พันธุ์นี้ก็เป็นที่นิยมของคนญี่ปุ่นเหมือนกัน โดยผลลูกแพร์จะออกมากในช่วงตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม ถึงกันยายน
3. พันธุ์ Shinko (新興) เป็นพันธุ์ที่มีผลขนาดใหญ่ ผิวเปลือกมีสีน้ำตาลปนแดง เปลือกหนา หวานกรอบ และมีรสชาติที่ดี พันธุ์นี้จะออกผลมากตั้งแต่เดือนตุลาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน
4. พันธุ์ Niitaka (新高) เป็นพันธุ์ที่มีขนาดผลใหญ่ มีน้ำหนักตั้งแต่ 800 - 1,500 กรัม รสชาติอร่อย มีระดับน้ำตาลสูงกว่า 12 บริกซ์ มีความเป็นกรดต่ำ ช่วงเวลาที่ลูกแพร์พันธุ์นี้ออกมากคือตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน ถึงต้นเดือนตุลาคม
5. พันธุ์ Nijisseiki (二十世紀) เป็นพันธุ์ที่มีผลขนาดปานกลาง มีเปลือกสีเขียวอมเหลือง เนื้อฉ่ำกรอบ และมีปริมาณน้ำตาลในระดับปานกลาง
การนำลูกแพร์มาปรุงเป็นอาหารและขนมหวาน
นอกจากรับประทานสดแล้ว คนญี่ปุ่นยังนิยมนำลูกแพร์มาปรุงเป็นอาหารคาว เช่น แกงกะหรี่ สลัด แยม เชอร์เบท และของหวาน เช่น เค้ก และทาร์ตลูกแพร์ เป็นต้น
การนำลูกแพร์มานึ่งด้วยน้ำผึ้งและขิง หรือน้ำตาลกรวดจนนิ่ม แล้วนำมารับประทานอุ่น ๆ ช่วยรักษาอาการไอและบรรเทาอาการเจ็บคอได้ด้วย
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ anngle.org