ญี่ปุ่นจัดกิจกรรม “วันนินจา” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยให้ข้าราชการและชาวบ้านร่วมกันแปลงกายเป็นนินจา รวมทั้งสืบค้นรากเหง้าของครอบครัวนินจาชื่อดัง เพื่อหวังฟื้นชีพอดีตสายลับในยุคซามุไร
ข้าราชการ 6เมืองจังหวัดชิกะของญี่ปุ่น แปลงโฉมแต่งกายเป็นนินจามาทำงาน ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นกำหนดให้เป็น “วันนินจา” เนื่องจากตัวเลข 2 ในภาษาญี่ปุ่น ออกเสียงว่า “นิ” ใกล้เคียงกับ “นิน” ในคำว่านินจา
จังหวัดชิกะซึ่งเคยเป็นแหล่งศูนย์รวมนินจาในอดีต ริเริ่มใช้นินจาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยมีการจัดตั้งสภานินจา เพื่อรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับนินจา กลุ่มคนที่เชื่อกันว่าเป็นสายลับ ผู้มีวิชาตัวเบาและเชี่ยวชาญการต่อสู้และใช้อาวุธลับต่างๆ โดยจะให้ข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ และจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกัน
ในปีนี้ รัฐบาลจังหวัดชิกะยังได้มอบประกาศนียบัตรให้กับคุณปู่สุเคโอะ บัน วัย 73ปี ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากนินจาตระกูล “โคกะ-ริว” ซึ่งคุณปู่บอกว่าไม่เคยรู้ว่าตนเองเป็นลูกหลานตระกูลนินจา จนกระทั่งหน่วยราชการท้องถิ่นได้สืบค้นพบ โดยตนเองเป็นชาวนามาตลอดชีวิต และไม่เคยรู้เรื่องเกี่ยวกับงานสายลับใดๆเลย
หน่วยราชการจังหวัดชิกะจะสืบประวัตินินจา 5ตระกูลใหญ่ เพื่อหวังฟื้นชีพอดีตสายลับและนักฆ่าที่มีบทบาทเป็นเหมือน “หน่วยข่าวกรอง” ของเหล่าซามุไรและนักรบในยุคอดีต และจะเป็นจุดขายในการส่งเสริมการท่องเที่ยว
ผลการสืบค้นพบว่า ชาวบ้านในพื้นที่จำนวนไม่น้อยมีสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับนินจา เช่น อาวุธลับดาวกระจาย, ชุดนินจา หรือบันทึกที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษที่อาจเคยเป็นนินจาในสมัยอดีต.
นินจา 忍者 มีความหมายว่า “ผู้อดทน” ใช้เรียกบุคคลที่ฝึกฝนวิชาต่อสู้เกี่ยวกับการขโมยและการล่องหน ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มสายลับในช่วงสมัยการปกครองแบบขุนศึกของประเทศญี่ปุ่น
นินจาได้ถูกเปรียบเทียบกับซะมุไร โดยซะมุไรเปรียบเหมือนนักสู้ที่ต่อสู้เบื้องหน้า ขณะที่นินจาเป็นนักสู้ที่ต่อสู้เบื้องหลัง ทำงานลับที่ซามุไรไม่อาจจะทำได้ เช่น สืบความลับ,ลักพาตัว, ลอบวางเพลิง รวมทั้งลอบสังหาร
เชื่อกันว่านินจาต้องฝึกฝนวิทยายุทธ์ต่างๆมากมาย เช่น วิชาตัวเบา เหาะเหินเดินอากาศ, การปลอมตัว, ทักษะการต่อสู้แบบต่างๆ รวมทั้งการใช้อาวุธลับและยาพิษ การสืบทอดวิชานินจาจะถ่ายทอดผ่านปากต่อปากและคนสนิทเท่านั้น ขณะที่การทำงานของนินจาจะไม่ทิ้งร่องรอยอะไร ทำให้ปัจจุบันไม่มีร่องรอยของบุคคลที่เป็นนินจาหลงเหลืออยู่.