เจแปนไทมส์ – นักวิจัยด้านประมงจาก ม.คิงกิ เผยทดลองเลี้ยง “ปลาดุก” แบบพิเศษ ให้ย่างออกมาแล้วมีรสชาติคล้ายปลาไหลย่างได้สำเร็จ ระบุสามารถลดกลิ่นคาวและทำให้เนื้อปลาดุกแน่นขึ้น ชี้มีกระแสตอบรับดี ทั้งยังถูกกว่าปลาไหลกว่าครึ่ง
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคิงกิ ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่าสามารถพัฒนาวิธีการเลี้ยงปลาดุกให้มีรสชาติคล้ายปลาไหลได้แล้ว โดยเมื่อไม่นานมานี้ได้นำปลาดุกไปย่างในรูปแบบคล้ายปลาไหล และออกทดลองขายในโตเกียวและโอซาก้า ซึ่งปลาดุกย่างที่นักวิจัยพัฒนาขายหมดเกลี้ยงและได้รับคำชมจากลูกค้าที่ได้ลิ้มลอง
ก่อนหน้านี้ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยคิงกิเคยประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงปลาทูน่าครีบน้ำเงิน หรือ ฮงมากุโร แบบครบวงจรมาแล้ว โดยจุดมุ่งหมายในการพัฒนาเลี้ยงปลาดุกให้มีรสชาติคล้ายปลาไหลก็อันเนื่องมาจาก ปลาไหลนั้นเป็นปลาหายาก และมีราคาค่อนข้างสูง
หลังประสบความสำเร็จจากการทดลองวางจำหน่าย ทางทีมนักวิจัยจึงตัดสินใจที่จะเข้าร่วมงานเทศกาลปลาดุกที่เมืองฮาชิมะ จังหวัดกิฟุ ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 24 ตุลาคมนี้ โดยวางแผนว่าจะจำหน่ายข้าวหน้าปลาดุกย่างจำนวน 200 ชามต่อวัน เป็นเวลาสองวัน
ก่อนหน้างานเทศกาลปลาดุกจะเริ่มขึ้น นักวิจัยของ ม.คิงกิยังได้จัดให้ชาวบ้านที่ชอบกินปลาแม่น้ำ มาลองชิมรสชาติเปรียบเทียบระหว่างปลาดุกย่างปกติ กับ ปลาดุกย่างพันธุ์ที่มหาวิทยาลัยเลี้ยงดู แล้วพบว่าปลาดุกทั่วไปซึ่งปกติเนื้อจะค่อนข้างยุ่ย โดยเฉพาะเมื่อเอาใส่ปาก แตกต่างอย่างชัดเจนกับปลาดุกที่ผ่านการเลี้ยงแบบพิเศษซึ่งเนื้อจะแน่นกว่าและไม่แตกยุ่ยง่าย ขณะที่ความมันของปลาดุกและรสชาติของมันก็ได้รับการยืนยันจากผู้ร่วมชิมว่าไม่ได้แตกต่างจากปลาไหลเท่าใดนัก
รศ.มาซาฮิโกะ อาริจิ แห่งภาควิชาประมง คณะเกษตร มหาวิทยาลัยคิงกิผู้พัฒนาการเลี้ยงปลาดุกด้วยวิธีใหม่นี้เล่าว่า เขาเริ่มทำวิจัยพัฒนาปลาดุกให้มีรสชาติคล้ายปลาไหลนี้ตั้งแต่ปี 2552 เพราะการเลี้ยงปลาดุกสามารถทำได้ในฟาร์มที่เคยใช้เลี้ยงปลาไหล
“ปลาดุกเป็นปลาน้ำจืดเลี้ยงที่ได้รับความนิยมกินมากที่สุดพันธุ์หนึ่งของโลก แต่ปลาดุกไม่ได้รับความนิยมจากชาวญี่ปุ่นเนื่องจากมีกลิ่นคาว” รศ.อาริจิกล่าว และว่า หลังจากนักวิจัยค้นหาสาเหตุของกลิ่นคาวในปลาดุก ก็พบว่าเกิดจากแบคทีเรียที่อยู่ในแม่น้ำ จากนั้นจึงพยายามลดกลิ่นคาวด้วยการเลี้ยงปลาดุกในฟาร์มที่ใช้น้ำบาดาลแทน
นอกจากนี้ทีมวิจัยยังมีการนำกุ้งและสัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็งมาเป็นอาหารของปลาดุก ซึ่งช่วยให้เนื้อปลาดุกที่เลี้ยงด้วยวิธีพิเศษนี้มีความยืดหยุ่นและไม่เปื่อยยุ่ย คล้ายกับการเนื้อปลาไหล อย่างไรก็ตามปลาไหลที่เลี้ยงด้วยวิธีพิเศษนี้ยังขาดรสชาติบางอย่างของปลาไหลไป ทีมวิจัยจึงแก้ไขด้วยการเพิ่มความเข้มข้นของน้ำจิ้มขณะย่างปลาแทน
หากพิจารณาในด้านต้นทุนแล้ว ปลาดุกย่างแบบพิเศษนี้ จะมีราคาถูกกว่าราคาปลาไหลย่างถึงราวครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว
“ภารกิจหลักตอนนี้ของเราก็คือ การคิดค้นระบบในการเลี้ยงปลาไหลตั้งแต่ยังแบเบาะ” รศ.อาริจิบอก และกล่าวด้วยว่าความหวังว่าการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์เช่นนี้จะทำให้ทางมหาวิทยาลัยคิงกิเห็นความสำคัญของโครงการเลี้ยงปลาดุกแบบใหม่นี้เพิ่มขึ้น