xs
xsm
sm
md
lg

“พรุ่งนี้ไม่มีแม่แล้ว” ละครญี่ปุ่นสะท้อนใจในวันแม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ละครเรื่อง “พรุ่งนี้ไม่มีแม่แล้ว” ” ที่ออกอากาศที่ญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้ว เป็นละครที่สร้างประเด็นถกเถียงมากที่สุด เพราะไม่เพียงตั้งคำถามถึงความผูกพันระหว่างแม่กับลูก และค่านิยมเรื่องครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไปของชาวญี่ปุ่น แต่ยังสะท้อนถึงญี่ปุ่นที่กำลังประสบปัญหาผู้สูงอายุที่เพิ่มจำนวนขึ้นมาก ขณะที่คนหนุ่มสาวกลับไม่ยอมมีลูก ซ้ำร้ายบางคนยังทอดทิ้งลูกให้กลายเป็นเด็กกำพร้า

“พรุ่งนี้ไม่มีแม่แล้ว” นำเสนอเรื่องราวของเด็กกำพร้า โดยมีเค้าโครงเรื่องจริงจากโครงการของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ที่ได้จัดทำ “ตู้ไปรษณีย์ทารก” เพื่อให้พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกไม่ไหวนำมาเด็กมาทิ้งได้ ซึ่งแน่นอนว่าโครงการนี้มีทั้งคนที่เห็นด้วยและคัดค้านอย่างสุดตัว

ละครเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อน เมื่อถูกองค์การพิทักษ์สิทธิเด็ก ระบุว่า สร้างภาพว่าเด็กกำพร้าก้าวร้าวและมีปัญหาด้านพฤติกรรม ทำให้เกิดอคติ ความเข้าใจผิดต่อเด็กและเจ้าหน้าที่ในสถานรับเลี้ยงเด็ก แรงกดดันจากกลุ่มพิทักษ์สิทธิเด็กรุนแรงถึงขนาดที่ทำให้บริษัทต่างๆ ถอนโฆษณาจากละครเรื่องนี้ทั้งหมด และทางสถานีโทรทัศน์ต้องยอมปรับเปลี่ยนบทละครเพื่อให้เหมาะสม

ละคร “พรุ่งนี้ไม่มีแม่แล้ว” มีเค้าโครงมาจากโครงการรับอุปการะเด็กทารกของโรงพยาบาลหนึ่งในจังหวัดคุมาโมโตะ ที่ชื่อว่า “ตู้ไปรษณีย์ทารก” โดยทางโรงพยาบาลจะจัดทำกล่องรูปทรงสี่เหลี่ยมลักษณะเหมือนตู้ไปรษณีย์ ไว้บริเวณริมกำแพงของโรงพยาบาลตรงที่ลับตาคน ภายในมีเบาะนิ่มๆสำหรับให้วางเด็กทารก ที่พ่อแม่ที่ไม่สามารถจะเลี้ยงลูกได้

เมื่อมีผู้นำเด็กไปวางก็จะมีเสียงสัญญาณดังขึ้นที่ห้องพยาบาล และพยาบาลก็จะมารับเด็กไป ทางโรงพยาบาลจะเป็นผู้ดูแลเด็กน้อยจนถึงอายุ 2 ขวบ จากนั้นก็หาพ่อแม่อุปถัมภ์ให้ ในขณะเดียวกัน ถ้าพ่อแม่เด็กที่แท้จริงต้องการจะมารับกลับไปเลี้ยงเมื่อไหร่ ก็สามารถติดต่อทางโรงพยาบาลได้ทุกเมื่อเช่นกัน

โครงการ “ตู้ไปรษณีย์ทารก” เกิดขึ้นในญี่ปุ่นมาหลายปีแล้ว โดยมีต้นแบบมาจากประเทศเยอรมนีเมื่อปี 2000 และปัจจุบันมีโครงการเช่นนี้ในหลายประเทศ ทั้งในยุโรป แคนาดา อินเดีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ โดยเฉพาะที่ปากีสถาน มี “ตู้ไปรษณีย์ทารก” มากที่สุด คือกว่า 300 แห่ง

แม้แต่ที่ประเทศจีน ก็เคยมีโครงการ “ตู้ไปรษณีย์ทารก” แต่สุดท้ายก็จำต้องล้มเลิกไปหลังจากมีพ่อแม่จำนวนมากนำเด็กทารกมาทิ้ง โดยเฉพาะเด็กที่พิการ มีปัญหาด้านสุขภาพ หรือเป็นลูกที่เกิดอย่างผิดกฎหมายจากนโยบายจำกัดให้มีลูกเพียงคนเดียว

แน่นอนว่า โครงการที่เปิดทางให้นำเด็กทารกมาทิ้งเช่นนี้ ต้องมีทั้งคนที่เห็นด้วยและคัดค้านอย่างสุดตัว หนึ่งในนั้น คือ นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ที่ประกาศชัดว่า ยอมรับไม่ได้ที่ให้พ่อแม่นำเด็กมาทอดทิ้งโดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน พร้อมระบุว่ารัฐบาลกลางไม่ให้การยอมรับนโยบายของโรงพยาบาลจังหวัดคุมาโมโตะ นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ยังตอกย้ำอีกว่า ชาวญี่ปุ่นต้องทบทวนค่านิยมเรื่องครอบครัวเสียใหม่

ตามกฎหมายของญี่ปุ่น พ่อแม่ที่ทอดทิ้งลูกจะต้องโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี แต่เนื่องจากภาระด้านเศรษฐกิจ และปัญหาต่างๆ ทำให้หนุ่มสาวญี่ปุ่นทุกวันนี้เลือกที่จะไม่มีลูก อัตราการทำแท้งก็สูงมากถึงปีละกว่า 3 แสนคน

สาวบางคนอาจตั้งครรภ์โดยไม่ได้พึงปรารถนา ขณะที่คู่รักจำนวนหนึ่งไม่มีความสามารถเลี้ยงลูกเพราะปัญหาทางเศรษฐกิจ บางคนอาจคิดว่าเลี้ยงไหว แต่พอลูกเกิดออกมาแล้วกลับพบว่าไม่ง่ายอย่างที่คิด ความเครียดทางจิตใจของพ่อแม่อันเกิดจากปัญหาต่างๆในการเลี้ยงลูกและสถานะของครอบครัว ทำให้เกิดปัญหาทอดทิ้งเด็กและทำร้ายเด็ก โดยทุกปีจะมีทารกถูกทำร้ายจนเสียชีวิตหลายสิบคน นอกจากนี้ ยังเคยมีข่าวเด็กทารกถูกนำไปทิ้งในตู้ล็อคเกอร์หยอดเหรียญ และทำให้เด็กจำนวนไม่น้อยเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ

ถึงแม้จะมีเสียงคัดค้านและคำถามด้านศีลธรรม แต่ผู้ที่สนับสนุนโครงการ “ตู้ไปรษณีย์ทารก” ระบุว่า ผลประโยชน์ที่ได้ช่วยเหลือเด็กไม่ให้เสียชีวิตหรือถูกทำร้าย แม้เพียงคนเดียวก็คุ้มค่ามากแล้ว โดยเฉพาะในญี่ปุ่น ซึ่งอัตราการเกิดต่ำมาก เด็กจึงไม่ได้เป็นลูกของคนที่เป็นพ่อเป็นแม่เท่านั้น แต่ยังเป็นดั่ง “ของขวัญล้ำค่า” ของประเทศชาติ

ในแดนอาทิตย์อุทัย ซึ่งได้ชื่อว่ามีระบบสวัสดิการดีที่สุดประเทศหนึ่ง หากแต่การเลี้ยงดูและสร้างอนาคตของลูกน้อย ก็ยังเป็นภาระใหญ่ของคนเป็นพ่อแม่ โดยเฉพาะในยามที่เศรษฐกิจฝืดเคือง รัฐบาลญี่ปุ่นจึงพยายามตัดลดงบประมาณสวัสดิการสังคมต่างๆ ทั้งด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล ไปจนถึงการช่วยเหลือเลี้ยงดูบุตร จนหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นจำนวนมากเห็นว่า สภาวะสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่เอื้อต่อการเลี้ยงดูทายาทให้เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพเหมือนเช่นคนรุ่นก่อนๆ

โครงการ “ตู้ไปรษณีย์ทารก” ที่โรงพยาบาลจังหวัดคุมาโมโตะ ริเริ่มขึ้นในปี 2006 จนถึงปัจจุบันได้ช่วยเหลืออุปการะเด็กที่ถูกทอดทิ้งแล้วมากกว่า 80 คน ทำให้สังคมนานาชาติตระหนักว่า ถ้าหากในญี่ปุ่นซึ่งมีระบบสวัสดิการดีเยี่ยม และค่านิยมเรื่องครอบครัวที่เข้มแข็ง ก็ยังมีปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งจำนวนไม่น้อยเช่นนี้ แล้วในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ปัญหาเด็กและครอบครัวจะสาหัสมากเพียงใด ?

ในละคร “พรุ่งนี้ไม่มีแม่แล้ว” เด็กผู้หญิงคนหนึ่งถึงกับบอกว่า “ไม่ใช่พ่อแม่ที่ทิ้งฉัน แต่เป็นฉันเองต่างหากที่จะทิ้งพวกเธอ! ” คำพูดของเด็กน้อยสร้างความตกตะลึงให้กับผู้ชมทั่วประเทศที่เคยเชื่อว่า ไม่มีอะไรตัดเลือดเนื้อเชื้อไขได้ ชาวญี่ปุ่นพูดกันว่า หากไร้ซึ่งผู้สืบทอดความรักแล้ว ประเทศชาติจะรุ่งเรืองแค่ไหน ....ก็จบลงแค่คนรุ่นเราเท่านั้น.
ชมคลิปตัวอย่างละคร "พรุ่งนี้ไม่มีแม่แล้ว"

กำลังโหลดความคิดเห็น