xs
xsm
sm
md
lg

ปวดท้องแบบไหน? ถึงใช่แผลในกระเพาะอาหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปวดท้องแบบไหน? ถึงใช่แผลในกระเพาะอาหาร

อาการปวดท้องเป็นๆ หายๆ คงทำให้หลายคนเคยชิน จนไม่คิดสงสัยว่าตนเองอาจกำลังเป็นโรค “แผลในกระเพาะอาหาร” ซึ่งหากปล่อยปละละเลย ไม่ดูแลรักษา นานเข้าก็จะสร้างความเจ็บปวดได้อย่างมากมาย ทั้งจากตัวโรคและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่จะตามมาในอนาคต



แผลในกระเพาะอาหาร เกิดจากอะไร?

การเกิดแผลในกระเพาะอาหาร มีสาเหตุสำคัญมาจากกรดและน้ำย่อยที่หลั่งออกมาภายในกระเพาะอาหาร ร่วมกับการที่เยื่อบุเมือกในผนังกระเพาะอาหารสร้างแนวต้านทานกรดได้ไม่ดีพอ ทำให้ผนังภายในกระเพาะอาหารถูกทำลายจนเกิดแผล

ทั้งนี้ การเกิดแผลในกระเพาะอาหารยังอาจเกิดจากพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่ตรงเวลา กินอาหารรสจัด หรือการทานยา เช่น ยาแอสไพริน ยารักษาโรคกระดูกและข้ออักเสบบางชนิด รวมถึงการดื่มสุรา หรือการสูบบุหรี่ ก็ล้วนเป็นสาเหตุให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้เช่นกัน

อีกทั้งในปัจจุบันยังพบว่า การติดเชื้อแบคทีเรีย เอช ไพโลไร (H. Pylori) คือต้นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร หรือทำให้แผลที่เป็นอยู่หายช้า และกลับมาเป็นซ้ำได้อีก





สัญญาณเตือน! โรคแผลในกระเพาะอาหาร

หากมีอาการดังต่อไปนี้ ที่เป็นสัญญาณเตือนว่า คุณอาจกำลังมีแผลในกระเพาะอาหาร ก็อย่านิ่งนอนใจ ให้รีบไปพบแพทย์จะดีกว่า

ปวดหรือจุกแน่นท้องหรือบริเวณใต้ลิ้นปี่ มักพบบ่อยในเวลาท้องว่าง โดยอาการปวดมักเป็นได้ตั้งแต่ไม่กี่นาที หรืออาจนานเป็นชั่วโมง
ปวดแสบท้องมากเมื่อมีการทานอาหารรสจัด เช่น เผ็ดจัด หรือเปรี้ยวจัด
ปวดท้องเป็นๆ หายๆ โดยอาจมีอาการปวดอยู่เป็นสัปดาห์ จากนั้นอาการอาจหายไป และกลับมาเป็นอีกในหลายเดือนต่อมา
ปวดท้องอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงกลางดึก หรือนอนหลับไปแล้ว
อาการอื่นๆ ที่อาจมีร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืดหลังทานอาหาร มีลมในกระเพาะมาก หรือท้องร้องโครกคราก
ทั้งนี้อาการปวดท้องมักจะทุเลาลง เมื่อทานยาลดกรด หรือดี่มนม และในกรณีที่ท้องว่างเมื่อทานอาหารเข้าไปอาการก็มักจะดีขึ้นได้เอง



ความน่ากลัวของ...แผลในกระเพาะอาหาร

โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาแผลในกระเพาะอาหาร มักรอจนมีอาการที่รุนแรงจึงค่อยมาเข้าตรวจรักษา ซึ่งการปล่อยไว้จนอาการลุกลาม อาจทำให้แผลในกระเพาะอาหารเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น

ภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร : ผู้ป่วยจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด หรือถ่ายเป็นสีดำเหลว วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย และหน้ามืด
กระเพาะอาหารทะลุ : ผู้ป่วยจะปวดท้องอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสถูก มีอาการท้องบวมและแข็งตึงกว่าปกติ
กระเพาะอาหารอุดตัน : ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องร่วมกับอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน สามารถทานอาหารได้น้อยลงและอิ่มเร็วขึ้น


ดูแลรักษาอย่างไร? ให้ห่างไกลจาก “แผลในกระเพาะอาหาร”

แพทย์จะให้ยาลดกรดหรือยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร และหากพบเชื้อแบคทีเรีย เอช ไพโลไร ในกระเพาะ จะต้องทานยากำจัดเชื้อชนิดนี้ร่วมด้วย โดยจะต้องทานยารักษาแผลในกระเพาะอาหารติดต่อกันอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์ อีกทั้งยังต้องอาศัยการลดพฤติกรรมเสี่ยงร่วมด้วย เพื่อให้แผลหายกลับเป็นปกติโดยเร็วที่สุด เช่น งดดื่มเครื่อมดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ และควรทานอาหารที่ย่อยง่าย รสอ่อนๆ ไม่ควรทานอาหารที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด

ทั้งนี้ หากทานยารักษาแผลในกระเพาะอาหารแล้วพบว่าตนเองมีอาการไม่ดีขึ้น หรือมีภาวะแทรกซ้อน ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง เพื่อปรับการรักษาให้เหมาะสม



ลดความเสี่ยงโรคกระเพาะอาหารได้...แค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

โรคแผลในกระเพาะอาหาร แม้รักษาจนหายดีแล้วก็ยังสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ หากไม่รู้จักป้องกันหรือดูแลตนเองอย่างถูกต้อง ดังนั้น เพื่อไม่ให้กลับมาเป็นแผลในกระเพาะอาหารอีก ควรลดความเสี่ยงด้วยการปฏิบัติดังนี้หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วมผสมของแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่

สิ่งที่ควรทำ

ทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย ปรุงสุก สะอาด
พักผ่อนให้เพียงพอ
ทำกิจกรรมที่ชอบเพื่อคลายความเครียด
วางแผนการใช้ชีวิตอย่างรอบคอบแต่มีความยืนหยุ่นผ่อนคลาย เพื่อลดความวิตกกังวล


สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ
การสูบบุหรี่
การใช้ยาบางชนิดที่ส่งผลกระทบต่อกระเพาะอาหาร เช่น ยาแอสไพริน หรือยารักษาโรคกระดูกและข้ออักเสบ บางประเภท หากจำเป็นควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
การทานอาหารรสจัด อาหารเย็นจัด-ร้อนจัด
กำลังโหลดความคิดเห็น