xs
xsm
sm
md
lg

มะเร็ง คืออะไรและเกิดขึ้นได้อย่างไร?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มะเร็ง (cancer) คือ โรคที่เกิดจากเซลล์ในร่างกายแบ่งตัวผิดปกติและควบคุมไม่ได้ ซึ่งมาจากความผิดปกติของยีนที่ทำหน้าที่ควบคุมการแบ่งตัว ซ่อมแซมเซลล์ และสร้างโปรตีน เมื่อยีนเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือ “กลายพันธุ์” เซลล์เหล่านี้ก็อาจพัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ในที่สุด

โดยปกติแล้ว ในร่างกายของคนเราจะมีกระบวนการแบ่งตัวของเซลล์ช่วยให้เจริญเติบโตและซ่อมแซมเซลล์ที่ผิดปกติให้กลับมาทำงานได้ตามปกติ แต่หากมียีนที่ผิดปกติหรือกลายพันธุ์ ร่างกายจะไม่สามารถควบคุมเซลล์ผิดปกติได้ เซลล์เหล่านี้จึงแบ่งตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดเป็น ก้อนเนื้องอก (Tumor)

โรคมะเร็ง
ความแตกต่างของ มะเร็ง กับ เนื้องอกธรรมมดา
หลายคนมักเข้าใจผิดว่าหากพบก้อนเนื้องอกเท่ากับป่วยเป็น โรคมะเร็ง แต่ความจริงแล้วก้อนเนื้องอก (tumor) แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ เนื้องอกธรรมมดา (benign tumor) และเนื้องอกร้าย (malignant tumor) หรือ มะเร็ง (malignant cancer)

ลักษณะที่แตกต่างระหว่าง เนื้องอกธรรมมดา (benign) และมะเร็ง (malignant)

1. เนื้องอกธรรมดา (benign)
ลักษณะของเซลล์จะมีรูปร่างใกล้เคียงกับเซลล์ปกติ หรือผิดปกติไปจากเดิมเล็กน้อย เซลล์จะมีการแบ่งตัวช้า ๆ และมักจะไม่ลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ

2. มะเร็ง (malignant or cancer)
ลักษณะของเซลล์มีรูปร่างผิดปกติไปจากเดิมมาก เซลล์มะเร็งจะมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถควบคุมได้ และลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ผ่านทางระบบเลือด ระบบทางเดินน้ำเหลือง หรือผ่านทางเยื่อบุช่องท้อง ไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ปอด ตับ สมอง หรือ กระดูก เป็นต้น จนทำให้อวัยวะเหล่านั้นไม่สามารถทำงานได้ตามปกติและเกิดอาการต่าง ๆ ตามมา

ความต่างระหว่างมะเร็งและเนื้องอก
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด โรคมะเร็ง
ความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งสามารถเกิดได้ทั้งจาก ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม พฤติกรรมการใช้ชีวิต และ โรคทางพันธุกรรม ตัวอย่างสาเหตุความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง แบ่งออกเป็นปัจจัยที่หลีกเลี่ยงได้ และปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนี้

ปัจจัยที่หลีกเลี่ยงได้
สารเคมี: เช่น การสูบบุหรี่ เป็นปัจจัยหลักที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งช่องปากและลำคอ โรคมะเร็งกล่องเสียง โรคมะเร็งหลอดอาหาร เป็นต้น
อาหาร: อาหารที่มีไขมันสูง อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิด โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคมะเร็งเต้านม สารเคมีในอาหาร เช่น เฮทเทอโรไซคลิก เอมีน (heterocyclic amines) เกิดจากการปรุงอาหารด้วยความร้อนสูง เช่น ย่าง ปิ้ง ทอด เนื้อสัตว์จนไหม้เกรียม เพิ่มความเสี่ยงในการเกิด โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ การรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ ที่มีพยาธิสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งทางเดินน้ำดี เป็นต้น
รังสี: เช่น รังสีอัลตราไวโอเลต (UV) จากแสงแดดเพิ่มความเสี่ยงต่อ โรคมะเร็งผิวหนัง ซึ่งเป็นผลจากการรับรังสีในปริมาณมากโดยไม่ป้องกัน
ไวรัสและแบคทีเรีย: เช่น ไวรัสเอชพีวี (HPV) ที่เกี่ยวข้องกับ โรคมะเร็งปากมดลูก, ไวรัสตับอักเสบบีและซีเกี่ยวข้องกับ โรคมะเร็งตับ, ไวรัสอีบีวี (EBV) ยังสัมพันธ์กับ โรคมะเร็งหลังโพรงจมูก
ปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
อายุ: อายุที่เพิ่มมากขึ้นอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้หลายชนิด เนื่องจากเซลล์ในร่างกายจะเริ่มเสื่อมสภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ และระบบซ่อมแซมยีนที่ผิดปกติทำงานได้น้อยลง
โรคทางพันธุกรรม: บางครอบครัวอาจมีความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากพันธุกรรมที่สืบทอดกันมาจากพ่อแม่สู่ลูก เช่น ยีน BRCA ที่เกี่ยวข้องกับ โรคมะเร็งเต้านมและรังไข่ หรือกลุ่มอาการ Lynch syndrome ที่เพิ่มโอกาสเป็นโรคมะเร็งลำไส้
สาเหตุของโรคมะเร็ง
การตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคมะเร็ง: รู้ทัน ป้องกันได้
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง มีบทบาทสำคัญในการลดอัตราการเสียชีวิตและเจ็บป่วย ด้วยการตรวจพบโรคมะเร็งตั้งแต่ระยะแรก ในขณะที่ยังไม่มีอาการและเพิ่มโอกาสให้รักษาหายขาดได้ แพทย์จึงแนะนำเพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง แล้วขั้นตอนการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคมะเร็ง มีอะไรบ้าง?

การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง
1. การซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้น
อาการที่ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ เช่น การคลำเจอก้อนที่เต้านมหรือรักแร้เป็นอาการพบบ่อยของโรคมะเร็งเต้านม คลำเจอก้อนที่ต่อมน้ำเหลืองเป็นอาการพบบ่อยของ โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ไอเรื้อรังเป็นอาการพบบ่อยของโรคมะเร็งปอด ตัวเหลืองตาเหลืองเป็นอาการของโรคมะเร็งตับ ท้องผูกบ่อยอาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะเป็นเลือดอาจเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งทางเดินปัสสาวะ สีผิวเปลี่ยนหรือแผลหายช้าอาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งผิวหนัง อาการผิดปกติที่ไม่สามารถระบุอวัยวะได้ชัดเจน เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ หรือไข้เรื้อรัง อาจเกี่ยวข้องกับ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น

2. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
การส่งภาพถ่ายเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคมะเร็ง จะต้องเป็นวิธีการที่ ไม่รุนแรงและผู้ป่วยต้องได้รับรังสีน้อยที่สุด เช่น
การตรวจแมมโมแกรม (Digital Mammogram) ในกรณีที่สงสัย โรคมะเร็งเต้านม
การตรวจภาพเอกซเรย์ปอด (CT Chest) ในกรณีที่สงสัย โรคมะเร็งปอด
การตรวจอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) ในกรณีสงสัย โรคมะเร็งในช่องท้อง
หากส่งตรวจเบื้องต้นแล้วพบความผิดปกติ แพทย์จะพิจารณาการส่งตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ซีทีสแกน (CT Scan) หรือ เอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อระบุตำแหน่งและการลุกลามของโรคให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ช่วยในการวินิจฉัย บอกระยะของโรค และวางแผนการรักษาอีกด้วย

การเจาะเลือดตรวจค่ามะเร็ง มักใช้เพื่อติดตามผลการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือตรวจหาการกลับมาเป็นซ้ำของโรค หรือช่วยวินิจฉัยในกรณีที่ไม่ทราบอวัยวะตั้งต้นของโรคมะเร็ง อย่างไรก็ตาม การตรวจนี้ไม่ได้ใช้คัดกรองโรคมะเร็งเพื่อประเมินว่า ผู้ป่วยรายนั้นเป็นโรคมะเร็งหรือไม่ เพราะค่ามะเร็งอาจเพิ่มขึ้นจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นมะเร็ง หรือไม่ใช่ก็ตาม และในบางกรณี ผู้ป่วยโรคมะเร็งอาจมีค่าปกติทั่วไปได้เช่นกัน
การตัดชิ้นเนื้อ เนื่องจากโรคมะเร็งเป็นโรคที่มีความรุนแรง และมีความซับซ้อนในการรักษา ดังนั้น การวินิจฉัยที่ถูกต้องจึงเป็นหลักการที่สำคัญที่สุด ซึ่งในการวินิจฉัยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้ผลตรวจจาก การตรวจทางพยาธิวิทยา ทดสอบตัวอย่างเนื้อเยื่อของร่างกาย
ระยะของโรคมะเร็ง
การบอกระยะของโรคมะเร็งมีหลายแบบ แต่ที่เป็นที่นิยมที่สุดคือการใช้ระบบ TNM โดยพิจารณาจากปัจจัยของก้อนมะเร็ง ต่อมน้ำเหลือง และการลุกลามของเซลล์มะเร็ง

Tumor (T): พิจารณาจากขนาดของก้อนมะเร็ง หรือระดับความลึก ของการลุกลาม ของมะเร็งที่บริเวณนั้น โดยมักจะแบ่งความรุนแรงเป็น 4 ระดับ คือ T1, T2, T3, และ T4
Node (N): พิจารณาจากจำนวนและตำแหน่งของต่อมน้ำเหลืองที่ถูกเซลล์มะเร็ง ลุกลาม โดยมักจะแบ่งความรุนแรงเป็น 2-3 ระดับ คือ N1, N2, และ N3
Metastasis (M): ประเมินจากการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะส่วนต่าง ๆ
M0 หมายถึงมะเร็งยังไม่แพร่กระจาย
M1 หมายถึงมะเร็งได้แพร่กระจายไปยังอวัยวะที่อยู่ห่างไกลจากจุดเริ่มต้นแล้ว
โดยแพทย์จะนำข้อมูล TNM มาแบ่งเป็นระยะของโรคมะเร็ง ซึ่งมะเร็งแต่ละชนิดจะมีเกณฑ์การแบ่งระยะแตกต่างกัน โดยทั่วไปจะมีหลักการ ดังต่อไปนี้

ระยะที่ 1: ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กและยังไม่ลุกลามแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองหรือ อวัยวะอื่น ๆ
ระยะที่ 2: ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น อาจมีการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้ เคียงเล็กน้อย แต่ไม่ยังไม่แพร่กระจายไปอวัยวะอื่น ๆ
ระยะที่ 3: ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น มีการลุกลามแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง บริเวณใกล้เคียง แต่ยังไม่แพร่กระจายไปอวัยวะอื่น ๆ
ระยะที่ 4: มะเร็งลุกลามแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไป หรือไปยัง อวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
ระยะโรคมะเร็ง
การรักษาโรคมะเร็ง
โรคมะเร็ง เป็นโรคที่มีความซับซ้อนในการรักษา ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งศัลยแพทย์ อายุรแพทย์ และแพทย์รังสีรักษา จะทำงานร่วมกันเพื่อดูแลผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด การวางแผนรักษาต้องพิจารณาหลายปัจจัย เช่น ระยะของโรคมะเร็ง เป้าหมายในการรักษา เครื่องมือที่ใช้ และความแข็งแรงของผู้ป่วย อีกสิ่งสำคัญคือ การให้ผู้ป่วยเข้าใจในตัวโรค เพื่อวางแผนและตัดสินใจเรื่องการรักษาร่วมกัน ระหว่าง ทีมแพทย์ผู้รักษาและผู้ป่วย

วัตถุประสงค์ของการรักษา จะแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ
การรักษาเพื่อให้หายขาด (Curative treatment) เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งให้หมดไปจากร่างกาย และลดความเสี่ยงของการกลับมาเป็นซ้ำ โดยการผ่าตัด การฉายแสง หรือการให้ยา
การรักษาแบบประคับประคอง (Palliative treatment) เป็นการรักษาเพื่อยืดอายุของผู้ป่วยให้ได้นานที่สุด โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยร่วมด้วยเป็นส่วนสำคัญ
วิธีการรักษาโรคมะเร็งแบ่งเป็น 2 แบบหลัก ๆ คือ
1. การรักษาเฉพาะที่ (Local Treatment)
การผ่าตัด เป็นวิธีสำคัญสำหรับโรคมะเร็งระยะแรก ศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดก้อนมะเร็งเพื่อลดโอกาสการลุกลามและกลับมาเป็นซ้ำ
การฉายแสง การใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งบริเวณนั้น
2. การรักษาทั่วร่างกาย (Systemic Treatment)
ยาเคมีบำบัด คือ ยาจะไปออกฤทธิ์ต่อเซลล์ที่มีการแบ่งตัวเร็ว เช่น เซลล์มะเร็ง รวมถึงเซลล์ปกติ เช่น เส้นผม ผิวหนัง เซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยที่ใช้ยาเคมีบำบัดได้รับผลข้างเคียง เช่น ผมร่วง ผิวหนังอักเสบ หรือ ท้องเสียได้
ยามุ่งเป้า คือ ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงกับเซลล์มะเร็ง ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษา และลดผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับเซลล์ปกติได้มากกว่า เมื่อเทียบกับ ยาเคมีบำบัด แต่อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงที่จาก ยามุ่งเป้า ซึ่งสามารถพบได้บ่อย เช่น มีผื่นคล้ายสิว มีอาการท้องเสีย เป็นต้น
ยากระตุ้นภูมิคุ้มกัน คือ ยากลุ่มใหม่ที่ไป “กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย” เพื่อควบคุมหรือกำจัดเซลล์มะเร็งในร่างกายซึ่งมีจุดเด่น คือ สามารถจดจำเซลล์มะเร็งได้ หากเซลล์มะเร็งกลับมาเป็นซ้ำระบบภูมิคุ้มกันจะช่วยกำจัดเซลล์มะเร็ง แต่ต้องเฝ้าระวังผลข้างเคียงที่เกิดจากการมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น เช่น การอักเสบของอวัยวะ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น