ไขมันพอกตับ หรือที่รู้จักในชื่อ Fatty Liver Disease เป็นภาวะที่เกิดจากการสะสมของไขมันในเซลล์ตับ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง และการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก หรือจากปัจจัยสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวานและน้ำหนักเกิน ภาวะนี้มักไม่มีอาการในระยะแรก แต่หากไม่ได้รับการดูแล อาจนำไปสู่โรคตับที่ร้ายแรงขึ้น เช่น ตับอักเสบ หรือตับแข็งได้
ตับเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายที่มีการทำงานอย่างหนัก ตั้งแต่การขจัดสารพิษออกจากเลือด ปรับสมดุลในร่างกาย ผลิตน้ำดี ดูดซึมไขมันและกักเก็บวิตามิน แต่มีศัตรูตัวร้ายที่มาทำลายตับโดยที่เราอาจไม่ทันรู้ตัว นั่นคือ “โรคไขมันพอกตับ” โรคร้ายที่กำลังเป็นปัญหาต่อสุขภาพในปัจจุบันถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั่วประเทศ และยังมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 16,000 คนต่อปี พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ “ตับ” ทำหน้าที่เก็บสะสมพลังงาน แต่เพราะไขมันสะสมที่มากเกินไป ส่งผลให้ตับทำงานได้ไม่เต็มที่และเกิดปัญหาสุขภาพตามมา เช่น ภาวะตับอักเสบ ตับแข็ง และมะเร็งตับ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในการเสียชีวิต
ไขมันพอกตับ มี 4 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 : ไขมันสะสมในตับ แต่ยังไม่มีการอักเสบหรือพังผืด มักไม่แสดงอาการ
ระยะที่ 2 : ตับเริ่มอักเสบ หากปล่อยไว้นานเกิน 6 เดือน อาจกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง
ระยะที่ 3 : เกิดพังผืดในตับและการอักเสบรุนแรงขึ้น เซลล์ตับค่อย ๆ ถูกทำลายลง
ระยะที่ 4 : เซลล์ตับถูกทำลายอย่างรุนแรงไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เกิดภาวะตับแข็ง นำไปสู่ มะเร็งตับ จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
ไขมันพอกตับ เกิดจากอะไรได้บ้าง?
เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยตั้งแต่โรคประจำตัว อาหารการกินรวมถึง พันธุกรรมด้วย มาดูกันว่ามีอะไรบ้างที่เราควรระวังเพื่อลดโอกาสเสี่ยง ไขมันพอกตับ ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อยมี ดังนี้
1. การดื่มแอลกอฮอล์
ดื่มมาก เสี่ยงมาก แอลกอฮอล์ที่ดื่มเข้าไปจะถูกแปรรูปเป็นสารพิษและทำลายเซลล์ตับแถมยังขัดขวางกระบวนการเผาผลาญไขมันในตับทำให้เกิดการสะสมไขมันจนกลายเป็นไขมันพอกตับ และอาจพัฒนาไปเป็นโรคตับแข็ง มะเร็งตับได้ในที่สุด
2. มีโรคประจำตัว หรือ มีภาวะแทรกซ้อน
เป็นอีกหนึ่งตัวการสำคัญที่ทำให้ไขมันไปสะสมในตับเกินขนาด จนกลายเป็นไขมันพอกตับได้ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี หรือการติดเชื้อเอชไอวี รวมถึง ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด
3. พฤติกรรมการกิน
อาหารการกินสำคัญมาก! กินไม่ถูกต้องเหมือนเอาของเสียใส่ตับ กินมากเกินไป กินไม่เลือก กินแต่ของไม่มีประโยชน์ ยิ่งเสี่ยงอันตรายมากขึ้น ประเภทอาหารที่ควรต้องระมัดระวัง เช่น
อาหารไขมันสูง : อาหารทอด อาหารมัน ๆ ขนมหวาน ขนมขบเคี้ยว และผลไม้หวานปริมาณมาก
อาหารแปรรูป : โซเดียม น้ำตาล และไขมันสูงส่งผลเสียต่อตับ
เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล : กาแฟ ชานม และน้ำอัดลม
พฤติกรรมการกิน
เด็กและวัยรุ่นก็เสี่ยง เพราะในปัจจุบันมักใช้เวลาไปกับหน้าจอเป็นส่วนใหญ่ ไม่ออกกำลังกาย การเผาผลาญน้อย ไขมันสะสมง่าย มีปัญหาน้ำหนักเกินตั้งแต่ยังเด็ก พฤติกรรมเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดไขมันพอกตับได้สูงมากทีเดียว
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็น ไขมันพอกตับ?
อาการไขมันพอกตับ ในระยะแรกมักไม่ค่อยแสดงออกมาให้เห็น แต่ถ้าพบอาการดังต่อไปนี้ เหนื่อยอ่อนเพลีย ผิวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม อาจหมายความว่า ไขมันพอกตับเป็นมากจนกลายเป็น โรคตับแข็ง หรือมะเร็งตับแล้ว ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ การตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อตรวจเช็กระดับไขมันในตับและค่าตับแข็งเพื่อที่จะได้ป้องกันและทำการรักษาได้ทัน
การตรวจเลือด (Blood Test)
– ตรวจหาค่า ALT, AST, ALP ที่ผิดปกติ ซึ่งอาจบ่งชี้ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับตับ
การตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ (Ultrasound)
– อัลตราซาวนด์ช่องท้องเพื่อดูว่ามีไขมันสะสมในตับหรือไม่ และดูเนื้องอกที่ตับ
การตรวจด้วยคลื่นเสียง (Fibro Scan)
– แสดงค่าตับแข็งและปริมาณไขมันเกาะตับได้อย่างชัดเจน
การตรวจชิ้นเนื้อตับ (Liver Biopsy)
– เพื่อดูปริมาณไขมันและเนื้อเยื่อแผลเป็นในตับ
การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
– ดูปริมาณไขมัน ความเสียหาย และตรวจจับพังผืดได้อย่างละเอียด แม่นยำ
ตรวจสุขภาพตับ
ไขมันพอกตับ รักษาให้หายได้ไหม?
โรคไขมันพอกตับ สามารถรักษาให้หายขาดกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ โดยการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค โดยแพทย์จะประเมินจากการตรวจร่างกายและการตรวจเลือดเพื่อดูความเสียหายของเนื้อตับอย่างละเอียด และหาสาเหตุของ ภาวะไขมันพอกตับ เช่น ถ้ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี, ซี จะได้ทำการรักษาทันที
ไขมันพอกตับอยู่ในระยะเริ่มต้น (ระยะที่ 1-2)
เริ่มต้นด้วยการ ปรับพฤติกรรม โดยการงดดื่มแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด! ทานอาหารที่มี ประโยชน์ไขมันต่ำจำพวก ผัก ผลไม้ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ในบางกรณีแพทย์อาจสั่งยาเพื่อช่วยลดไขมันในตับ หรือควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
ไขมันพอกตับอยู่ในระยะรุนแรง (ระยะที่ 3-4)
ปรับพฤติกรรมร่วมกับการป้องกันภาวะแทรกซ้อน หากมีภาวะตับอักเสบร่วมด้วย แพทย์อาจพิจารณาให้ยาลดการอักเสบและควบคุมระดับไขมันในตับ เช่น ยาต้านการอักเสบ ยาลดน้ำหนัก เพื่อป้องกันความเสียหายของตับและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ตรวจเลือดและอัลตราซาวนด์ เพื่อติดตามการรักษาและตรวจหาภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะตับแข็ง และมะเร็งตับ