งูสวัด (Herpes Zoster/Shingles)
งูสวัด (Herpes zoster/Shingles) คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส VZV ที่ซ่อนอยู่ในปมประสาทในผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน โดยเมื่อหายจากโรคอีสุกอีใส ไวรัส VZV จะเข้าไปหลบซ่อนตัวอยู่ในปมประสาทรับความรู้สึก ตราบเมื่อภูมิคุ้มกันร่างกายลดต่ำ ไวรัส VZV ที่ก่อโรคจะกำเริบโดยแสดงออกซึ่งอาการของโรคงูสวัดที่ทำให้มีอาการคัน ปวดแสบปวดร้อน มีผื่นแดงขึ้นเรียงกันเป็นกลุ่มตามแนวเส้นประสาท มีตุ่มน้ำใสขึ้น และอาจมีไข้ร่วม งูสวัดที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น งูสวัดขึ้นตา อาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลังการติดเชื้อ (PHN) หรือมีความผิดปกติทางระบบประสาท ผู้ที่มีอาการต้องสงสัยด้วยโรคงูสวัดควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและรับยาต้านไวรัสโดยเร็ว
โรคงูสวัด เกิดจากอะไร?
งูสวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ (Varicella zoster virus: VZV) ที่เมื่อติดเชื้อครั้งแรกจะทำให้เป็นโรคอีสุกอีใส แต่เมื่อหายดีแล้ว เชื้อไวรัส VZV จะเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทโดยไม่แสดงอาการใด ๆ ได้นานหลายปีจนเมื่อภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ เชื้อไวรัส VZV ที่แฝงตัวอยู่จะค่อย ๆ กำเริบโดยการแบ่งตัว เพิ่มจำนวน และแพร่กระจายไปตามปมประสาทรับความรู้สึกและรอบปลายประสาทผิวหนังจนทำให้เส้นประสาทอักเสบ ปวดตามแนวเส้นประสาท เกิดรอยโรคลักษณะผื่นแดงที่ผิวหนัง ตามด้วยตุ่มน้ำใสขึ้นเรียงกันเป็นกลุ่ม พาดยาวตามแนวปมประสาทรับความรู้สึก ทำให้มีอาการคัน ปวดแสบปวดร้อน เจ็บแปลบตามร่างกาย ปวดหัว และอาจมีไข้ร่วม ผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสทุกคนล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคงูสวัดด้วยกันทั้งสิ้น
ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคงูสวัด คือใคร?
• ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
• ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ
• ผู้ที่ทานยากดภูมิคุ้มกัน
• ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
• ผู้ที่เป็นมะเร็ง
• ผู้ป่วยติดเตียง
• ผู้ที่มีความเครียด
• ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ
• ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง
• ผู้ที่เคยได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
• ผู้ที่รับยาเคมีบำบัด
• ผู้ที่ใช้สเตียรอยด์เป็นเวลานาน
• ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคแพ้ภูมิตนเอง หรือโรคเอสแอลอี (SLE) โรคหัวใจ โรคไต
อาการงูสวัด เป็นอย่างไร?
อาการงูสวัดแบ่งอาการออกได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้
งูสวัดระยะเริ่มมีอาการ (Preeruptive phase)
เป็นระยะที่เชื้อไวรัส VZV ที่แฝงตัวอยู่ แพร่กระจายไปตามปมประสาทรับความรู้สึก (Sensory ganglion) และรอบปลายประสาทผิวหนังจนทำให้เส้นประสาทอักเสบ ปลายประสาทอักเสบ มีอาการชา เจ็บแปลบ ปวดแสบปวดร้อนข้างใดข้างหนึ่ง (unilateral) ของผิวหนังตามแนวเส้นประสาท ร่วมกับมีอาการคัน ปวดเมื่อยเนื้อตัว ปวดหัว ในบางรายอาจมีไข้ อ่อนเพลีย ท้องเสียหรือมีภาวะตาสู้แสงไม่ได้ งูสวัดระยะเริ่มมีอาการมีระยะเวลาประมาณ 1-3 วัน แต่จะยังไม่มีรอยโรคขึ้นที่ผิวหนัง
งูสวัดระยะออกผื่น (Acute eruption phase)
เป็นระยะที่มีรอยโรคขึ้นเป็นผื่นแดงที่ผิวหนังตามแนวปมประสาทรับความรู้สึก ตามด้วยตุ่มน้ำใส (Vesicle) ขึ้นพาดเรียงกันเป็นกลุ่มยาวตามแนวปมประสาทที่บริเวณด้านซ้ายหรือด้านขวาของสีข้างลำตัว แผ่นหลัง หรือขา ด้านในด้านหนึ่งของใบหน้า ดวงตา หรือลำคอ โดยผื่นงูสวัดจะไม่กระจายตัวทั่วไปเหมือนผื่นโรคอีสุกอีใสและจะขึ้นเต็มที่ภายใน 3-5 วัน ผู้ที่เป็นงูสวัดระยะออกผื่นจะมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ อ่อนเพลีย เจ็บแปลบที่ผิวหนังแม้ถูกสัมผัสเพียงเล็กน้อย หรือแม้เพียงสัมผัสโดนเสื้อผ้า ต่อมาผื่นจะแตกออกกลายเป็นแผล ค่อย ๆ แห้ง ตกสะเก็ด และหลุดออกจากผิวหนังภายใน 10-15 วัน ทั้งนี้ ผื่นงูสวัดในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายเป็นปกติ มักขึ้นที่ด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย แต่ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ เช่น ผู้ที่เป็นมะเร็ง โรคเอดส์ หรือผู้ที่รับยาเคมีบำบัด ผื่นงูสวัดอาจมีความรุนแรงกว่าและอาจขึ้นแบบพันรอบตัว
งูสวัดระยะฟื้นหายจากโรค (Chronic phase)
เป็นระยะหลังจากที่โรคงูสวัดสงบลง ผื่นงูสวัดจะค่อย ๆ ยุบตัวลง รอยโรคที่ผิวหนังตามแนวปมประสาทจะค่อย ๆ จางหาย แต่จะยังคงมีอาการบางอย่างหลงเหลืออยู่ เช่น อาการปวดแสบปวดร้อน ปวดเหมือนมีเข็มทิ่มตำ หรือเจ็บแปล๊บ ๆ ตามแนวเส้นประสาทตั้งแต่ระดับปานกลางถึงรุนแรง อาจมีอาการปวดตลอดเวลา หรือปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ บางรายอาจปวดไปอีกนานหลายปี
งูสวัดหลบใน (Zoster Sine Herpete: ZSH)
ผู้ที่เป็นงูสวัดบางรายอาจมีอาการงูสวัดหลบใน โดยจะมีอาการชา คัน ปวดแสบปวดร้อนตามแนวเส้นประสาทรับความรู้สึกแต่กลับไม่มีผื่นขึ้น ผู้ที่สงสัยว่ามีอาการงูสวัดหลบใน ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโรคเพิ่มเติม
การวินิจฉัยโรคงูสวัด มีวิธีการอย่างไร?
แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคงูสวัดโดยการซักประวัติหากเคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน และทำการตรวจร่างกายดูรอยโรคที่เป็นลักษณะเฉพาะของโรคงูสวัด โดยการตรวจลักษณะผื่นหรือตุ่มน้ำตามร่างกายว่ามีการกระจายตัว หรือขึ้นกระจุกตัวเรียงกันเป็นกลุ่มตามแนวยาวที่ด้านใดด้านหนึ่งของร่างกายร่วมกับมีอาการคัน ปวดแสบปวดร้อน หรือมีไข้หรือไม่ ในกรณีที่ตรวจไม่พบรอยโรค หรือสงสัยว่าอาจเป็นงูสวัดหลบใน แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยวิธีการดังนี้
การตรวจ Tzanck smear เป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคงูสวัดโดยการเจาะตุ่มน้ำและขูดตัวอย่างเซลล์เนื้อเยื่อที่ฐานของตุ่มน้ำส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยทำการป้ายลงบนแผ่นสไลด์ ทิ้งไว้ให้แห้ง และนำมาย้อมด้วยสีไรท์-กีมซ่า (Wright-Giemsa) เพื่อดูลักษณะเซลล์ผ่านกล้องจุลทรรศน์ เป็นการตรวจที่มีความสะดวก รวดเร็ว แต่อาจไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างโรคงูสวัดกับโรคเริมได้
การเพาะเชื้อไวรัส (Viral culture) เป็นการนำตัวอย่างเซลล์ตุ่มน้ำมาทำการเพาะเลี้ยงในน้ำเลี้ยงเชื้อชนิดพิเศษเพื่อหาเชื้อไวรัส VZV โดยให้ผลการตรวจที่มีความแม่นยำราว 60-90%
การตรวจชีวโมเลกุล หรือการตรวจ PCR (Polymerase chain reaction) เป็นการตรวจทางอิมมูโนวิทยาเพื่อหาแอนติบอดีจำเพาะที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อต่อสู้กับไวรัสหลังมีอาการต้องสงสัยว่าอาจเป็นโรคงูสวัด การตรวจ PCR เป็นการตรวจที่มีความไวและมีความจำเพาะต่อเชื้อสูงและให้ผลการตรวจที่มีความแม่นยำมากกว่าการเพาะเชื้อ 2-3 เท่า
การรักษางูสวัด มีวิธีการอย่างไร?
แพทย์จะทำการรักษาโรคงูสวัดด้วยหลักการเร่งบรรเทาความรุนแรงของโรค ลดอาการเจ็บแปลบ ปวดแสบปวดร้อน ป้องกันภาวะแทรกซ้อน และช่วยให้ร่างกายหายจากโรคโดยเร็วที่สุด โดยแพทย์จะพิจารณาการรักษางูสวัดตามระยะอาการของโรคที่ตรวจพบควบคู่กับการให้ยา ทั้งนี้การรักษาโรคงูสวัดให้มีประสิทธิภาพสูงสุดคือการเริ่มรักษาทันทีที่ผื่นงูสวัดขึ้นภายใน 48-72 ชั่วโมง การรรักษางูสวัดมีวิธีการดังนี้
การให้ยาต้านไวรัส (Antiviral drugs) แพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัส เช่น Acyclovir, Famciclovir หรือ Valaciclovir เพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรค ลดอาการอักเสบและการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสที่ผิวหนัง ลดอาการปวดแสบปวดร้อน ช่วยให้ตุ่มน้ำยุบตัวลงเร็วขึ้น ช่วยลดการเกิดผื่นซ้ำ ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากโรคโดยเร็ว และช่วยลดโอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวเนื่องด้วยโรคงูสวัด
การให้ยาต้านแบคทีเรีย (Antibacterial drugs)แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านแบคทีเรีย เช่น ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) หรือยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ทั้งชนิดรับประทานและชนิดทาในผู้ที่เป็นงูสวัดแล้วเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เพื่อช่วยลดอาการอักเสบ บรรเทาอาการเจ็บปวด และเร่งให้ผื่นงูสวัดยุบตัวลงโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่งูสวัดขึ้นตา หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของใบหน้า
การให้ยาแก้ปวด (Pain reliever) ในกรณีที่อาการงูสวัดมีความเจ็บปวดรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสร่วมกับยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ยากลุ่ม NSAIDs เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อทุเลาอาการปวด
ภาวะแทรกซ้อนโรคงูสวัด เป็นอย่างไร?
อาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลังเป็นโรคงูสวัด (Postherpetic neuralgia: PHN) โดยพบว่าราว 5-30% ของผู้ป่วยโรคงูสวัดที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป จะยังคงมีอาการปวดเส้นประสาทต่อเนื่องนานกว่า 3 เดือน แม้ว่าผื่นงูสวัดจะหายแล้ว ทั้งนี้ระดับความรุนแรงของอาการมักสัมพันธ์กับอายุของผู้ป่วย โดยผู้สูงอายุจะมีอาการรุนแรงและยาวนานกว่าคนอายุน้อย ในผู้ป่วยบางรายอาการปวดอาจต่อเนื่องยาวนานตลอดชีวิต ส่งผลให้มีอาการนอนไม่หลับ ขยับตัวลำบาก อวัยวะส่วนที่ปวดไม่มีแรง หรือขยับอวัยวะส่วนที่ปวดได้น้อย
“งูสวัดขึ้นตา” (Herpes zoster ophthalmicus/Ocular shingles) เป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคงูสวัดที่ทำให้เกิดผื่นงูสวัดขึ้นรอบดวงตา จนทำให้เกิดการระคายเคืองตาและมีอาการเกี่ยวกับดวงตา เช่น ตาอักเสบ แผลที่กระจกตา หรือจอประสาทตาอักเสบ ส่งผลทำให้เกิดตาพร่ามัว ตาสู้แสงไม่ได้ มีปัญหาในการมองเห็น เป็นต้อ หรือในกรณีร้ายแรงอาจทำให้ตาบอด เป็นโรครัมเซย์ ฮันต์ ซินโดรม (Ramsay hunt syndrome) หรือภาวะใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก ผู้ที่มีอาการงูสวัดขึ้นตาควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
ความผิดปกติทางระบบประสาท (Neurological problems) งูสวัดอาจทำให้เกิดการอักเสบของระบบประสาทและสมอง ทำให้ใบหน้าเป็นอัมพาต และอาจทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน หรือการทรงตัว
การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง (Bacterial skin infections) หากไม่ได้รักษาความสะอาดให้ดี งูสวัดอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังที่ทำให้ผื่นยุบตัวช้าลง เป็นรอยแดง และเกิดรอยแผลเป็น
อาการปวดรุนแรง (Severe pain) ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ ผู้ที่ติดเชื้อ HIV หรือผู้ที่รับยาเคมีบำบัดเพื่อรักษามะเร็ง เมื่อเป็นโรคงูสวัดจะมีอาการปวดรุนแรงกว่าผู้อื่น และยังสามารถแพร่กระจายโรคสู่ผู้อื่นได้
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เส้นเลือดสมองอุดตัน เส้นเลือดสมองแตก (ในผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรังรุนแรง)
โรคปอดอักเสบ (Pneumonia) สมองอักเสบ (Encephalitis) เป็นภาวะแทรกซ้อนโรคงูสวัดที่พบได้น้อยมาก
งูสวัดพันรอบตัวแล้วตาย จริงหรือไม่?
งูสวัดพันรอบตัวแล้วตาย เป็นความเชื่อที่ไม่จริง ในผู้ป่วยงูสวัดบางราย ผื่นงูสวัดอาจขึ้นพร้อมกันได้ทั้ง 2 ด้าน ทั้งซ้ายและขวา จนทำให้ดูเหมือนว่างูสวัดกำลังพันรอบตัว แต่โดยมากผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคงูสวัด จะเสียชีวิตจากภาวะภูมิคุ้มกันต่ำร่วมกับภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นด้วยโรคงูสวัด ซึ่งการติดเชื้อไวรัส VZV จะยิ่งทำให้ร่างกายอ่อนแอและเสียชีวิตลงในวลาต่อมา ภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวพบมากในผู้ป่วยงูสวัดที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
วิธีดูแลตนเองเมื่อเป็นงูสวัด มีวิธีการอย่างไร?
รีบพบแพทย์เพื่อรับยาต้านไวรัสทันทีภายใน 48-72 ชั่วโมงที่มีอาการเจ็บแปลบ ปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนัง ร่วมกับมีไข้
ทานยา และทายาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดเพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรค ลดรอยโรค และลดภาวะแทรกซ้อน
ประคบเย็นด้วยเจลประคบเย็น และปิดผื่นไว้แบบหลวม ๆ
ไม่ใช้ยาสมุนไพร ยาพ่น หรือยาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ยาตามแพทย์สั่งทาผื่นงูสวัดหรือบริเวณผื่นคัน เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมา ซึ่งทำให้แผลหายช้า หรืออาจทำให้เป็นแผลเป็น
ไม่เกาที่ผื่นงูสวัดหรือบริเวณผื่นคัน หากเล็บยาว ให้ตัดเล็บมือเล็บเท้าให้สะอาดเพื่อลดการสะสมของเชื้อแบคทีเรียที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน และเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
หากมีแผลเปิด ให้ปิดแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย
หมั่นล้างมือให้สะอาด และรักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ
ใส่เสื้อผ้าหลวม ไม่รัดแน่น เพื่อป้องกันผิวหนังเสียดสีกับเสื้อผ้า
การป้องกันงูสวัด มีวิธีการอย่างไร?
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด: ผู้ที่เคยหรือไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนในวันเด็ก ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ และผู้ที่มีความเสี่ยงสูงทุกคน สามารถป้องกันโรคงูสวัดได้โดยเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นงูสวัดที่อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา
หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง: ผู้ที่เป็นงูสวัดควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายลุกลามสู่ผู้อื่นซึ่งได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ เด็กเล็ก หรือสตรีมีครรภ์ และควรแยกของใช้ส่วนตัว เช่น ที่นอน เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มของผู้ที่เป็นโรคงูสวัดออกจากผู้อื่น
หมั่นรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง: การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ควบคู่กับการออกกำลังกาย การทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด และการพักผ่อนที่เพียงพอจะช่วยให้ภูมิคุ้มกันร่างกายแข็งแรงและห่างไกลจากโรคงูสวัดได้
วัคซีน งูสวัด
ด้วยนวัตกรรมการแพทย์ในปัจจุบัน วัคซีนงูสวัดได้รับการพัฒนาออกแบบให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันและลดภาวะแทรกซ้อนของโรคงูสวัดได้ดียิ่งขึ้น วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดในไทยมี 2 ชนิด ได้แก่
Zoster vaccine live (ZVL): เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น (Live attenuated vaccine) จำนวน 1 เข็ม โดยเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคงูสวัดในผู้ที่มีอายุ 50-59 ปีได้ 69.8%
Shingrix vaccine (Recombinant subunit zoster vaccine: RZV): เป็นวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดชนิดใหม่จำนวน 2 เข็ม เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (non-live vaccine) ที่ผลิตจากไกลโคโปรตีนอี (Glycoprotein E) ที่เป็นโปรตีนส่วนหนึ่งของไวรัส VZV ที่ได้รับพัฒนาให้สามารถป้องกันโรคงูสวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คำแนะนำการในการรับวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดชนิดใหม่ Shingrix vaccine
ผู้ใหญ่ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป: ให้ฉีดจำนวน 2 เข็ม โดยเว้นระยะห่าง 2-6 เดือน
ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำเนื่องจากโรคหรือการรับการรักษา: ให้ฉีดจำนวน 2 เข็ม โดยเว้นระยะห่าง 1-2 เดือน
วัคซีน Shingrix เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคงูสวัดในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปได้ถึง 97% มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคงูสวัดในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปได้ 68-91% มีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลังการติดเชื้อ (PHN) ได้ถึง 91.2% และมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคงูสวัดตลอด 10 ปีหลังเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ถึง 89%
งูสวัดกี่วันหาย?
โดยทั่วไป งูสวัดสามารถหายได้ภายใน 3-5 สัปดาห์ นับตั้งแต่ระยะเริ่มมีอาการจนถึงระยะฟื้นหายจากโรค อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับยาต้านไวรัสภายใน 72 ชั่วโมงนับจากที่เริ่มมีอาการ อาจหายจากโรคงูสวัดได้ภายใน 2 สัปดาห์
งูสวัด ไวรัสที่ป้องกันได้ โดยการฉีดวัคซีน
ผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสทุกคน ล้วนมีความเสี่ยงในการเป็นงูสวัดเมื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ เมื่อร่างกายอ่อนแอ หรือเมื่อภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ โรคงูสวัดทำให้มีอาการเจ็บปวดทรมาน เกิดภาวะแทรกซ้อน และกระทบต่อคุณภาพชีวิต ผู้ที่มีอาการของโรคงูสวัดจึงควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมเพื่อช่วยให้หายจากโรคโดยเร็ว
งูสวัด สามารถป้องกันได้โดยรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ร่วมกับการพักผ่อนให้เพียงพอ การทานอาหารที่มีประโยชน์ และการออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและคงไว้ซึ่งภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ผู้ที่ภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ และผู้ที่มีความเสี่ยงโรคงูสวัดทุกคน สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดได้จากโรงพยาบาลชั้นนำที่มีวัคซีนไว้คอยบริการ การได้รับวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดแต่เนิ่น ๆ จะช่วยป้องกันโรคงูสวัดและภาวะแทรกซ้อน ทั้งยังช่วยให้มีสุขภาพแข็งแรงในระยะยาวได้
คำถามที่พบบ่อย
โรคงูสวัด อาการเริ่มแรก เป็นอย่างไร?
งูสวัดเริ่มแรก มีอาการคัน เจ็บแปลบ รู้สึกปวดคล้ายมีเข็มทิ่มตำ และปวดแสบปวดร้อนภายใน 1-3 วัน ก่อนจะมีผื่นแดงขึ้นเป็นกระจุกเรียงกันเป็นแถวยาวทอดตัวตามแนวเส้นประสาท และกลายเป็นตุ่มน้ำใสที่ค่อย ๆ แตกออกและยุบตัวลงไปภายใน 10-15 วัน บางรายอาจมีไข้ หนาวสั่น ปวดหัว และอาจมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทตามมาในภายหลัง
งูสวัด เริม ต่างกันอย่างไร?
งูสวัด เริม มีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัส Human herpesvirus (HHV) ซึ่งเป็นไวรัสในตระกูลเดียวกัน คือ Herpesvirus family แต่ต่างกันที่ชนิดของเชื้อไวรัสและลักษณะรอยโรคที่ปรากฏบนผิวหนัง โดยงูสวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัส VZV ที่ทำให้มีตุ่มน้ำใสขึ้นพาดยาวตามแนวปมประสาท เริมเกิดจากการติดเชื้อไวรัส HSV-1 หรือ HSV-2 ที่ทำให้เกิดตุ่มน้ำใสขึ้นที่ปาก หรืออวัยวะเพศ
งูสวัด ติดต่อไหม?
งูสวัดสามารถติดต่อแพร่กระจายสู่ผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนผ่านการหายใจเอาละอองเชื้อไวรัสเข้าไป การไอจามหกรด หรือการสัมผัสโดยตรงกับตุ่มน้ำใสหรือน้ำเหลืองของแผลในผู้ที่เป็นงูสวัดที่มีเชื้อไวรัส VZV ที่ผิวหนังจนทำให้เกิดการติดเชื้อ ดังนั้นจึงควรแยกผู้ป่วยงูสวัดออกจากกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หรือสตรีมีครรภ์เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโรคงูสวัดที่อาจเกิดขึ้น
งูสวัด ห้ามกินอะไร?
ผู้ที่เป็นโรคงูสวัด ควรงดทานอาหารดังต่อไปนี้
งดอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง (High glycemic carbohydrate) เช่น แป้งขัดขาว เบเกอรี่ เค้ก ขนมหวาน ลูกอม น้ำหวาน
งดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง (Foods high in saturated fat) เช่น อาหารฟาสต์ฟู้ด เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารที่มีไขมันทรานส์
งดอาหารที่มีสารอาร์จีนินสูง (High arginine) เช่น เนื้อแดง เนื้อสัตว์ปีก ถั่วเมล็ดแห้ง ช็อกโกแลต
งดอาหารที่ผ่านการแปรรูปอย่างหนัก (Highly processed foods) เช่น ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ เนย มาการีน ไอศกรีม
งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Alcohol) เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์
งูสวัดหายเองได้ไหม?
ในผู้ร่างกายแข็งแรง งูสวัดอาจหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม การไม่ได้พบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนด้วยโรคงูสวัด เช่น อาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลังการติดเชื้อ (PHN) หรือ ความผิดปกติทางระบบประสาท เป็นต้น
งูสวัด กับ อีสุกอีใส ต่างกันอย่างไร?
งูสวัด กับ อีสุกอีใส ต่างกันที่ลักษณะของผื่น โดยผื่นงูสวัดมักขึ้นพาดเป็นแนวยาว ไม่กระจายตัวทั่วร่างกายเหมือนผื่นอีสุกอีใส ผื่นงูสวัดมักขึ้นเฉพาะตามแนวปมประสาทรับความรู้สึกที่ไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ซ่อนตัวอยู่ โดยเริ่มจากการมีผื่นแดงขึ้นนำมาก่อน แล้วจึงกลายเป็นตุ่มน้ำใส บวม แล้วจึงจะแตกและตกสะเก็ดไปในที่สุด โดยบริเวณที่มักพบผื่นงูสวัด ได้แก่ รอบเอว หรือแนวชายโครง แผ่นหลัง ขา ด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้า ดวงตา หรือลำคอ โดยอาการ