xs
xsm
sm
md
lg

ผักปลัง สรรพคุณมากมาย ปลูกได้ตลอดทั้งปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผักปลัง คือ?
ผักปลัง เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบแอฟริกา และมีการกระจายพันธุ์ในทวีปเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น พม่า ลาว กัมพูชา เป็นต้น ในประเทศไทย เป็นพืชซึ่งพบได้ทั่วไป แทบทุกภาค ทั้งชนิดที่มีลำต้นสีเขียว ที่เรียกว่า ผักปลังขาว และชนิดลำต้นสีแดง ซึ่งเรียกกันว่า ผักปลังแดง และมักพบในหมู่บ้าน หรือตามทุ่งนามากกว่าในป่า พบมากในภาคเหนือ และอีสาน ส่วนภาคใต้ไม่ค่อยพบ เพราะไม่เป็นที่นิยมในการรับประทาน จึงไม่มีการปลูกไว้ตามบ้านเรือน

ลักษณะทั่วไปผักปลัง
เป็นไม้เถาเลื้อยล้มลุก ลำต้นอวบน้ำ เกลี้ยง กลม แตกกิ่งก้านสาขา ยาวประมาณ 2-6 เมตร ถ้าลำต้นมีสีเขียว เรียกว่า “ผักปลังขาว” มีใบสีเขียวเข้ม ส่วนชนิดลำต้นสีม่วงแดง เรียกว่า “ผักปลังแดง” มีใบสีเขียวเข้ม ก้านใบสีม่วงแดง

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกสลับ รูปไข่ หรือรูปหัวใจ ใบกว้าง 2-8 เซนติเมตร ยาว 2.5-12 เซนติเมตร ใบอวบน้ำ มีลักษณะเป็นมันหนานุ่มมือ ฉีกขาดง่าย หลังใบ และท้องใบเกลี้ยง ไม่มีขน ขยี้จะเป็นเมือกเหนียว ปลายใบแหลม โคนใบรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ ก้านใบยาว 1-3 เซนติเมตร
ดอก เป็นดอกช่อเชิงลด ออกตรงซอกใบ ยาว 3-21 เซนติเมตร ดอกย่อยจำนวนมาก ขนาดเล็ก ไม่มีก้านชูดอก แต่ละดอกมี 5 กลีบ ผักปลังขาว ออกดอกสีขาว ผักปลังแดง ออกดอกสีม่วงแดง ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร มีใบประดับเล็ก 2 ใบ ติดที่โคนของกลีบรวม กลีบรวมรูประฆัง ยาว 0.1-3 มิลลิเมตร โคน เชื่อมติดกันเป็นท่อ ปลายแยกเป็นห้าแฉกเล็กน้อย
ผล เป็นผลสด รูปร่างกลมแป้น ฉ่ำน้ำ เส้นผ่านศูนย์กลาง 5-6 มิลลิเมตร ผิวเรียบ ปลายผลมีร่อง แบ่งเป็นลอน ไม่มีก้านผล ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่ มีสีม่วงอมดำ เนื้อภายในนิ่ม ภายในผลมีน้ำสีม่วงดำ เมล็ดเดี่ยว

ประโยชน์ของ ผักปลัง
ผักปลัง สรรพคุณ มากมาย และมีคุณค่าทางอาหาร ได้แก่ แคลเซียม และธาตุเหล็กสูง และยังอุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินบี และวิตามินซี มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอวัย เมือกของดอกปลัง มีสรรพคุณช่วยในเรื่องการขับถ่ายได้ดี เป็นยาระบายอ่อน ๆ บำรุงสายตา ช่วยป้องกันอาการอ่อนเพลีย

ตำรายาไทยโบราณ ใช้ทาแก้กลากเกลื้อน แก้โรคเรื้อน ดับพิษฝีดาษ แก้เกลื้อน คั้นเอาน้ำทาแก้หัวนมแตกเจ็บ ต้นงผักปลัง แก้อึดอัดแน่นท้อง ระบายท้อง แก้อักเสบบวม ต้มดื่มแก้ไส้ติ่งอักเสบ รากผักปลัง แก้รังแค แก้โรคผิวหนัง แก้ท้องผูก แก้พรรดึก ขับปัสสาวะ ใช้ทาถูนวดให้ร้อน เป็นผักที่มีเมือกมาก กินแล้วช่วยระบาย
การนำผักปลังมาปรุงอาหาร
นิยมนำมาลวก หรือต้มให้สุก ใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริก เช่น น้ำพริกอ่อง พริกตาแดง น้ำพริกดำ เป็นต้น หรือนำไปประกอบอาหาร เมนูดอกผักปลัง เช่น ใส่แกงจืดหมูสับ แกงแค แกงเลียง แกงส้ม แกงใส่อ่อมหอย แกงปลา ผัดกับแหนม ผัดน้ำมัน ผัดใส่ไข่ ชาวล้านนา จะนิยมนำยอดอ่อน และดอกอ่อนมาใช้เป็นส่วนผสมในการปรุงอาหารประเภท จอ ที่เรียกว่า จอผักปลัง หรือ จอผักปั๋ง นั่นเอง
การขยายพันธุ์ผักปลัง
ผักปลังสามารถขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี คือ การเพาะเมล็ด และปักชำ

สำหรับการเพาะเมล็ด ทำได้โดย

ต้องเตรียมหลุมก่อนแล้ว ค่อยหยอดเมล็ดพันธุ์ ที่ตากแห้งแล้ว ลงไป หลุมละ 2-3 เมล็ด โดยให้ระยะห่างระหว่างต้น 30 เซนติเมตร และระหว่างแถว 40 เซนติเมตร เมื่อต้นอายุได้ 20-25 วัน ให้ทำค้าง เพื่อให้เถาเลื้อยขึ้น
สำหรับการปักชำ ทำได้โดย

นำกิ่งแก่ ที่มีข้อ 3-4 ข้อ ยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร เด็ดใบออกให้หมด แล้วปักชำในดินร่วน หรือดินปนทรายที่มีความชื้น และมีแสงแดดรำไร ในช่วงนี้ให้หมั่นรดน้ำอย่าให้ดินแห้ง ประมาณ 7 วัน จะแตกราก และเริ่มผลิใบใหม่ออกมาในช่วงนี้ ระวังอย่างให้น้ำมาก เพราะรากจะเน่า อีก 15-20 วัน ให้เถาเลื้อยเกาะขึ้นไป
อ่านบทความ การปักชำ ได้ที่นี่

การดูแล และบำรุงรักษา
การให้ปุ๋ย ครั้งที่ 1 เมื่อต้นพืชอายุได้ 20-25 วัน และครั้งที่ 2 เมื่อ 40-45 วัน ควรใส่ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอกที่ผ่านการหมักแล้ว ส่วนการให้น้ำ ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ให้พอเหมาะกับพืช ไม่ควรให้แห้ง หรือแฉะมากเกินไป ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยว อายุการเก็บเกี่ยว 35-40 วัน ก็เก็บยอดได้แล้ว และผักปลัง มีอายุ 90-100 วัน จะเริ่มออกดอก และหากมีอายุ 120 วัน ผลเริ่มแก่ สังเกตผลจะเป็นสีดำ ก็สามารถเก็บเมล็ดข้างในผลแก่ ไว้ขยายพันธุ์ต่อไปได้
กำลังโหลดความคิดเห็น