xs
xsm
sm
md
lg

อุจจาระเป็นเมือกไขมัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นอกจากลักษณะอุจจาระที่มีเมือกไขมันปนแล้ว ผู้ที่มีอาการอุจจาระเป็นเมือกไขมันยังอาจสังเกตเห็นว่า สีของอุจจาระค่อนข้างซีด ส่งกลิ่นเหม็นผิดปกติ รวมถึงมักจะลอยน้ำร่วมด้วย โดยอาการนี้สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับลำไส้เล็ก ตับอ่อน ท่อน้ำดี และตับ เนื่องจากอวัยวะเหล่านี้เป็นอวัยวะที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการย่อยไขมัน

ตัวอย่างสาเหตุที่อาจส่งผลให้เกิดอาการอุจจาระเป็นเมือกไขมัน
ในบางครั้ง อุจจาระเป็นเมือกไขมันอาจเพียงเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันมาก แต่ในบางครั้งสามารถเกิดจากการเจ็บป่วยด้วยโรคบางชนิดได้ เช่น

1. ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)
ตับอ่อนอักเสบเป็นภาวะที่ส่งผลให้ตับอ่อนไม่สามารถผลิตเอนไซม์บางชนิดที่มีหน้าที่ย่อยไขมันได้เพียงพอ ผู้ที่มีภาวะตับอ่อนอักเสบจึงมีโอกาสเกิดอาการอุจจาระเป็นเมือกไขมันได้ โดยสาเหตุที่พบได้บ่อยของภาวะนี้ก็คือ การเจ็บป่วยด้วยนิ่วในถุงน้ำดี และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ

สำหรับผู้ที่มีภาวะนี้ อาการแรกเริ่มที่มักพบคืออาการปวดท้อง ซึ่งอาจลุกลามไปถึงบริเวณหลัง ส่วนอาการอื่นที่อาจพบอาจจะต่างกันไปในแต่ละคน เช่น ใจสั่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หายใจหอบถี่ และมีไข้

2. ตับวาย (Liver Failure)
ตับวายหรือภาวะที่ตับไม่สามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติเป็นภาวะที่ส่งผลให้ตับไม่สามารถผลิตเกลือน้ำดีที่มีหน้าที่ในการย่อยสลายไขมัน ผู้ที่ป่วยด้วยภาวะนี้จึงอาจมีอาการอุจจาระเป็นเมือกไขมันได้ โดยภาวะนี้สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ไวรัสตับอักเสบ บี การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ตับแข็ง และภาวะเหล็กเกิน

ส่วนอาการอื่นนอกจากอุจจาระเป็นเมือกไขมันที่ผู้ป่วยอาจพบได้ก็เช่น อ่อนเพลีย ท้องเสีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียนปนเลือด และอุจจาระปนเลือด

3. โรคเกี่ยวกับทางเดินน้ำดี
โรคที่เกี่ยวกับทางเดินน้ำดี เช่น โรคทางเดินน้ำดีตีบตัน (Biliary Atresia) นิ่วในถุงน้ำดี และภาวะท่อน้ำดีอักเสบ อาจส่งผลให้ผู้ที่ป่วยมีอาการอุจจาระเป็นเมือกไขมันได้

4. มะเร็งตับอ่อน
มะเร็งตับอ่อนเป็นโรคที่เกิดจากการที่เซลล์ในตับอ่อนเกิดการเพิ่มจำนวนมากอย่างผิดปกติจนนำไปสู่การเกิดก้อนเนื้อ โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงของโรคนี้ก็เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่นักหนักตัวมาก ผู้ป่วยตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง การได้รับสารฆ่าแมลงหรือสารเคมีบางชนิด และผู้ที่สูบบุหรี่

ส่วนอาการของโรคนี้ก็เช่น ตัวเหลือง ตาเหลือง คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะมีสีเข้ม ปวดบริเวณท้องส่วนบน ปวดกลางหลัง คันผิว และน้ำหนักตัวลดผิดปกติ

5. โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังเป็นโรคที่ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการที่ค่อนข้างหลากหลายและแตกต่างกันไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดโรคและความรุนแรงของการอักเสบ เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดผิดปกติ และอุจจาระปนเลือด

6. ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด
การผ่าตัดเพื่อรักษาโรคบางชนิดอาจส่งผลให้ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดเกิดอาการอุจจาระเป็นเมือกไขมันได้ เช่น การผ่าตัดเพื่อรักษาโรคอ้วน (Bariatric Surgery) ชนิดที่ส่งผลให้กระบวนการดูดซึมไขมันและสารอาหารของผู้ป่วยเปลี่ยนไป ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยต้องมีวิธีการดูแลตัวเองตามแนวทางการรักษาของแพทย์ต่อไป

7. ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด
การใช้ยาบางชนิดอาจส่งผลให้การดูดซึมไขมันจากอาหารของผู้ป่วยผิดปกติไปจนเกิดอาการอุจจาระเป็นเมือกไขมันเป็นผลข้างเคียงได้ เช่น ยาออริสแตท (Orlistat)

8. โรคเซลิแอค (Celiac Disease)
โรคเซลิแอคเป็นโรคทางระบบภูมิคุ้มกันชนิดหนึ่งที่ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำลายผนังของลำไส้เล็กหลังจากที่รับประทานอาหารที่มีกลูเตนเข้าไป ซึ่งเมื่อผนังของลำไส้เล็กถูกทำร้าย กระบวนการดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงไขมัน จึงอาจผิดปกติไปได้

โดยอาการของผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็เช่น ท้องเสีย อุจจาระส่งกลิ่นเหม็นผิดปกติ ปวดท้อง น้ำหนักลดผิดปกติ อ่อนเพลีย ท้องอืด ท้องผูก เล็บเปราะ และมือเย็น

ทั้งนี้ นอกจากสาเหตุทั้งหมดที่ได้กล่าวไปแล้ว อาการอุจจาระเป็นเมือกไขมันยังอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ ได้อีกเช่นกัน เช่น โรคโครห์น (Crohn's Disease) หรือการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก

สิ่งที่ควรทำเมื่อพบอาการอุจจาระเป็นเมือกไขมัน
ในกรณีที่อาการอุจจาระเป็นเมือกไขมันเกิดขึ้นหลังจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันมาก ๆ หรือหลังจากดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก และอาการกลับไปเป็นปกติได้เอง ผู้ที่มีอาการในกลุ่มนี้ก็อาจจะไม่ได้เกิดปัญหารุนแรงอื่น ๆ ตามมา

แต่เนื่องจากอาการอุจจาระเป็นเมือกไขมันสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งบางสาเหตุก็เป็นสาเหตุรุนแรงที่ควรได้รับการดูแลจากแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ดังนั้น ผู้ที่มีอาการอุจจาระเป็นเมือกไขมันก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสม หากอาการไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น น้ำหนักตัวลด อ่อนเพลีย ปากแห้ง หิวน้ำ มีไข้ ผื่นขึ้น ช้ำง่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น