อาการเบาหวาน
อาการเบาหวานเริ่มต้น
อาการเบาหวานเริ่มต้นมักไม่ค่อยชัดเจนนัก แต่หากมีอาการดังนี้ แปลว่าระดับน้ำตาลสูงชัดเจนแล้ว ได้แก่
ปัสสาวะบ่อยขึ้น เนื่องจากเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง ร่างกายจะขับน้ำตาลส่วนเกินออกทางปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะปริมาณมาก บ่อยครั้งขึ้น แม้ในเวลากลางคืน
รู้สึกกระหายน้ำบ่อยขึ้น เป็นผลมาจากการขาดน้ำ สูญเสียน้ำทางปัสสาวะมาก จะมีอาการกระหายน้ำ คอแห้ง หรือปากแห้งผิดปกติ
รู้สึกหิวบ่อยขึ้น เนื่องจากเซลล์ในร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานได้ ร่างกายจึงส่งสัญญาณให้รู้สึกหิวบ่อย ๆ เพลีย บางคนรู้สึกเหมือนร่างกายขาดน้ำตาล รับประทานของหวานแล้วสดชื่นขึ้น
น้ำหนักลด แม้จะรับประทานอาหารมากขึ้นก็ตาม เนื่องจากร่างกายไม่สามารถดูดซึมและใช้น้ำตาลได้ จึงต้องใช้พลังงานจากการเผาผลาญไขมันและกล้ามเนื้อ ทำให้น้ำหนักลดลง แต่ไม่แข็งแรง
อาการอื่น ๆ เช่น วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อ่อนแรง ผิวแห้งคัน แผลหายช้า เป็นฝีที่ผิวหนังบ่อยๆ การมองเห็นพร่ามัว ชาตามปลายมือปลายเท้า เชื้อราที่ผิวหนัง เป็นต้น เนื่องจากน้ำตาลในเลือดสูงไปทำลายเนื้อเยื่อในร่างกาย
หากมีอาการเบาหวานดังกล่าวหลายอย่างร่วมกัน ควรสงสัยว่าอาจเป็นโรคเบาหวานและพบแพทย์เพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด และได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสมโดยเร็ว เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว
อาการเบาหวานระยะต่อมา
หากโรคเบาหวานไม่ได้รับการควบคุมดูแลอย่างเหมาะสม อาการแทรกซ้อนจะรุนแรงมากขึ้นในระยะต่อไป และอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ดังนี้
ระบบหัวใจและหลอดเลือด
โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดหัวใจตีบตันจากการสะสมของไขมันคอเลสเตอรอลตามผนังหลอดเลือดแดง ทำให้เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือภาวะหัวใจวาย โดยเฉพาะถ้ามีความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือสูบบุหรี่ร่วมด้วย
**แนะนำแพ็กเกจตรวจสุขภาพหัวใจ >> แพ็กเกจเช็คหัวใจให้ชัวร์ Exclusive Heart
โรคหลอดเลือดสมอง ทำให้สมองขาดเลือดไปเลี้ยง หรือหลอดเลือดสมองแตก มีอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น
ระบบไต
ไตวายเรื้อรัง หลอดเลือดแดงเล็ก ๆ ที่ไตเสื่อมสภาพลงเรื่อย ๆ จนไตสูญเสียการทำงานอย่างถาวร ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับการบำบัดทดแทนไตด้วยการฟอกเลือดหรือผ่าตัดปลูกถ่ายไตใหม่
ระบบประสาท
เส้นประสาทเสื่อม ทำให้เกิดอาการชา หรือปวดแสบปวดร้อน หรือรู้สึกเหมือนถูกแทงด้วยเข็มหรือมีดบริเวณปลายมือปลายเท้า ปลายประสาทเสื่อมเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดแผลเรื้อรัง และการสูญเสียนิ้วเท้า หรือเท้าในที่สุดท้าย
ระบบตา
“อาการเบาหวานขึ้นตา” เพิ่มความเสี่ยงของ
– ต้อกระจก เลนส์ตาขุ่นทำให้ตาพร่ามัว มองไม่ชัดเจน
– จอประสาทตาเสื่อม ซึ่งในระยะแรกอาจไม่มีอาการ แต่อาจรุนแรงขึ้นจนสูญเสียการมองเห็น
“อาการเบาหวานลงเท้า เสี่ยงต่อการเกิดแผลเรื้อรังที่เท้า เนื่องจากอาการชา จากเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม และเลือดไหลเวียนไม่ดี เนื่องจากหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตันและเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน หากไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง แผลลุกลามอาจสูญเสียเท้าหรือขาได้
นอกจากนี้ยังมีภาวะร่วมอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วน ไขมันพอกตับ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ภาวะซึมเศร้า กระเพาะปัสสาวะอ่อนแรง เป็นต้น
หากเบาหวานรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญหลายระบบในร่างกาย ลดคุณภาพชีวิตลงอย่างมาก เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรง ผู้ป่วยเบาหวานจึงจำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตลอดเวลา