xs
xsm
sm
md
lg

ประโยชน์ต้นตีนเป็ด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ลักษณะของต้นตีนเป็ด
ต้นตีนเป็ดมีเปลือกหนาแต่เปราะ ผิวต้นมีสะเก็ดเล็ก ๆ สีขาวปนน้ำตาลกรีดดูจะมียางสีขาวลำต้นตรง แตกกิ่งก้านสาขามากลักษณะเป็นชั้น ๆ เปลือกชั้นในสีน้ำตาล มีน้ำยางสีขาว ใบเป็นกลุ่มบริเวณปลายกิ่งช่อหนึ่งมีใบประมาณ 5–7 ใบ ก้านใบสั้น แผ่นใบรูปรีแกมรูปขอบขนานถึงรูปหอกแกมรูปขอบขนาน หรือรูปมนแกมรูปบรรทัด ปลายใบเป็นติ่งเล็กน้อย ใบด้านบนมีสีเขียวเข้ม ด้านล่างมีสีขาวนวล ถ้าเด็ดก้านใบจะมียางสีขาว ลักษณะใบยาวรีปลายใบมนโคนใบแหลม ขนาดใบยาวประมาณ 10–12 เซนติเมตร ออกดอกสีเขียวอ่อนเป็นช่อตามปลายกิ่ง ปากท่อของกลีบดอกมีขนยาวปุกปุย ดอกมีกลิ่นฉุนรุนแรง สูดดมเพียงเล็กน้อยจะรู้สึกกลิ่นหอม หากสูดดมมากจะรู้สึกวิงเวียนศีรษะ ช่วงค่ำจะส่งกลิ่นแรงกว่าเวลาอื่น ๆ ดอกเป็นกลุ่มคล้ายดอกเข็มช่อหนึ่งจะมีกลุ่มดอกประมาณ 7 กลุ่ม ดอกมีสีขาวอมเหลือง ปกติจะออกดอกในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ผลเป็นฝักยาว ฝักคู่หรือเดี่ยว ลักษณะเป็นเส้น ๆ กลมเรียวยาวประมาณ 20–30 เซนติเมตร เมื่อแก่จะแตก มีขุยสีขาวคล้ายฝ้ายปลิวไปตามลมได้ในฝักมีเมล็ดเล็ก ๆ ติดอยู่กับขุยนั้น

ประโยชน์ดีๆ ต่อสุขภาพของต้นตีนเป็ด
เปลือกของลำต้นมีรสขม สามารถนำมาทำเป็นยาที่ช่วยในการเจริญอาหาร ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยบรรเทาอาการของโรคเบาหวาน และแก้หวัด แก้ไอ บรรเทาอาการหลอดลมอักเสบ

เปลือกของลำต้น ช่วยรักษาโรคบิด ท้องร่วง ท้องเดินเรื้อรัง โรคลำไส้และลำไส้ติดเชื้อ

เปลือกของลำต้น ต้มน้ำอาบ ลดอาการผดผื่นคัน

ยางจากลำต้น ใช้หยอดหูแก้อาการปวดหู และใช้อุดฟันเพื่อบรรเทาอาการปวดฟัน

ใบอ่อน นำมาต้มเพื่อดื่มรักษาโรคลักปิดลักเปิด

ใบ และยาง ชาวอินเดียใช้รักษาแผล แผลเปื่อย แผลตุ่มหนอง และอาการปวดข้อ
ข้อควรระวังของต้นตีนเป็ด หรือพญาสัตบรรณ
จำให้ดีว่า ต้นตีนเป็ด (Alstonia scholaris) กับต้นตีนเป็ดน้ำ หรือต้นตีนเป็ดทะเล (Cerbera odollam) ไม่เหมือนกัน ต้นตีนเป็ดน้ำจะมีลำต้นเล็กกว่า และพบอยู่ริมน้ำ ริมคลอง หรือป่าชายเลน มีดอกสีขาวพร้อมกลิ่นอ่อนๆ ผลเป็นลูปกลมๆ หากลูกหลุดจากต้นแล้วแห้ง สามารถนำมารดน้ำปลูกเป็นต้นใหม่ได้

ต้นตีนเป็ดจะลำต้นสูงใหญ่กว่า ดอกเป็นช่อคล้ายดอกเข็ม ผลจะออกมาเป็นฝักยาว เส้นๆ กลมเรียว และที่สำคัญคือส่งกลิ่นได้เข้มข้นรุนแรงกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น