xs
xsm
sm
md
lg

"โปรตีนจากพืช-จากสัตว์" มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันอย่างไร?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข้อดี ข้อเสีย ระหว่างโปรตันจากเนื้อสัตว์ และ โปรตีนจากพืช

ข้อดีของโปรตีนจากพืช
จากข้อมูลของ World Cancer Research Fund การไม่บริโภคเนื้อสัตว์ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้ถึง 35% ขณะเดียวกัน การกินมังสวิรัติและกินเจอย่างเคร่งครัด ช่วยเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรงขึ้น และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ ดังนั้นการรับประทานโปรตีนจากพืชจึงช่วยลดความเสี่ยงโรคอันตรายต่างๆ เหล่านี้ได้

โปรตีนจากพืช ที่พบได้ในถั่วและธัญพืชต่างๆ อุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ถือเป็นโปรตีนสะอาดไม่ก่อให้เกิดโรคภัย เพราะมีพฤกษเคมีที่มีประโยชน์และดีต่อสุขภาพ นอกจากนี้โปรตีนจากพืชยังย่อยง่ายดูดซึมง่าย แคลอรี่น้อยกว่าโปรตีนสัตว์ ไขมันดีมีมากกว่าโปรตีนสัตว์ ไม่มีโคเลสเตอรอล ที่สำคัญยังช่วยลดโอกาสการเกิดมะเร็งลำไส้ได้อีกด้วย

ข้อเสียของโปรตีนจากพืช
โปรตีนที่มากับพืช ส่วนใหญ่จะไม่ได้มาพร้อมกับกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างครบถ้วนเท่าเนื้อสัตว์ มีเพียงถั่วเหลืองที่ถือว่ามีโปรตีนสมบูรณ์ที่มาพร้อมกรดอะมิโนที่ร่างกายต้องการครบที่สุดในบรรดาพืชที่มีโปรตีนทั้งหมด นอกจากนี้การรับประทานพืชที่มีโปรตีนให้ได้ปริมาณที่เท่ากับการได้รับโปรตีนจากเนื้อสัตว์ จำเป็นจะต้องรับประทานโปรตีนจากพืชให้มากเพียงพอ ถึงจะทดแทนในส่วนของโปรตีนที่ต้องการได้รับในแต่ละวันได้

อย่างไรก็ตาม โปรตีนจากพืชไม่ได้ส่งผลเสียหรืออันตรายใดๆ ต่อร่างกาย เพียงแต่ต้องมั่นใจว่าได้รับโปรตีนจากพืชอย่างเพียงพอในแต่ละวัน เพราะข้อมูลจากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ผู้ที่ได้รับโปรตีนในร่างกายไม่เพียงพอ มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ร่างกายอ่อนเพลียไม่สดชื่น ภูมิคุ้มกันต่ำ ติดเชื้อได้ง่าย แผลหายช้า ผิวหนังไม่แข็งแรง และระบบฮอร์โมน เอนไซม์ ทำงานผิดปกติ จนถึงขั้นเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้เมื่อขาดโปรตีนที่เพียงพอในระยะยาว

ข้อดีของโปรตีนจากสัตว์
เนื้อสัตว์ ประกอบไปด้วยสารอาหารมากมายที่นอกเหนือไปจากโปรตีนที่เป็นสัดส่วนของสารอาหารที่มากที่สุด โดยเรียกว่าเป็น “โปรตีนสมบูรณ์” เพราะเป็นโปรตีนที่มาพร้อมกับกรดอะมิโน 9 ชนิด ได้แก่ ฮีสทิดีน (histidine) ไอโซลิวซีน (isoleucine) ลิวซีน (leucine) ไลซีน (lysine) เมไธโอนีน (methionine) ฟีนิละลานีน (phenylalanine) ธรีโอนีน (threonine) ทริปโทแฟน (tryptophan) และวาลีน (valine) ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า เนื้อสัตว์เป็นแหล่งโปรตีนที่มีกรดอะมิโนและคุณค่าทางสารอาหารที่ครบถ้วนสมบูรณ์กว่าโปรตีนจากพืช

ข้อเสียของโปรตีนจากสัตว์
แม้ว่าคุณค่าทางสารอาหารจะมากกว่า แต่โปรตีนจากสัตว์มีข้อควรระวัง เพราะมักมาพร้อมกับไขมันและคอเรสเตอรอล ที่หากรับประทานในปริมาณมากเกินไป อาจเสี่ยงโรคอันตรายต่างๆ เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด ไขมันพอกตับ เป็นต้น ดังนั้นควรเลือกกินเนื้อสัตว์ที่มีปริมาณไขมันและคอเลสเตอรอลน้อย เช่น อกไก่ สันในไก่ลอกหนัง เนื้อปลาลอกหนัง รวมถึงไข่ก็เป็นแหล่งโปรตีนจากสัตว์ที่สำคัญต่อร่างกายเช่นกัน แต่ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 2 ฟอง หรือผู้ที่กำลังควบคุมปริมาณคอเลสเตอรอลในร่างกาย อาจลดการรับประทานไข่แดงได้ ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวเพิ่มเติมว่าสามารถรับประทานได้มากน้อยแค่ไหน

สรุปว่า โปรตีนจากพืชดีต่อร่างกาย แม้ว่าจะมีสารอาหารไม่ครบสมบูรณ์เท่าโปรตีนจากสัตว์ แต่ก็สามารถรับประทานได้ เพราะยังสามารถเลือกรับประทานนม ไข่ และผลิตภัณฑ์จากนมอื่นๆ ได้อยู่ (ยกเว้นผู้ที่กินเจ) และต้องมั่นใจว่ารับประทานอย่างเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน ส่วนโปรตีนจากสัตว์ให้คุณค่าทางสารอาหารครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ต้องระมัดระวังสารอาหารอื่นๆ อย่างไขมันและคอเลสเตอรอลที่อาจแฝงตัวมาด้วยกันกับเนื้อสัตว์ด้วย จึงควรเลือกรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลต่ำ เพื่อลดเสี่ยงโรคอันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

นอกจากนี้ อย่าลืมออกกำลังกายเป็นประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์อย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น