"ฟันคุด" อยู่ตรงไหน ทำไมจำเป็นต้องผ่า?
“ฟันคุด” อาจเป็นประสบการณ์ฝันร้ายของใครหลายคนที่เคยประสบกับการปวดฟันคุดจนถึงขั้นกระทบต่อชีวิตประจำวัน แต่หลายคนกลับไม่มีอาการปวดฟันคุด แต่รู้หรือไม่! แม้ไม่เกิดอาการปวดของฟันคุด ก็ควรผ่าเพื่อไม่ให้เกิดการอักเสบ ลุกลาม เกิดรอยโรคถุงน้ำ หรือเนื้องอกในอนาคต
ฟันคุด คืออะไร!?
“ฟันคุด” คือ ฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติ อาจจะฝังตัวอยู่ในกระดูกหรือเนื้อเยื่อเหงือกในทิศทางที่ไม่สามารถงอกขึ้นมาในช่องปากได้ โดยฟันคุดมักพบในตำแหน่งฟันกรามซี่ในสุด และตำแหน่งฟันเขี้ยว ซึ่งในกรณีที่ฟันไม่ได้ผุดพ้นเหงือกจะไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ แต่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการผ่าออกอาจเกิดอาการ ดังนี้
มีอาการปวดมาก เนื่องจากฟันคุดเข้าไปกดทับเส้นประสาทของขากรรไกร
ฟันคุดอาจทำให้ฟันบริเวณใกล้เคียง เกิดฟันซ้อนเก
เกิดฟันผุ เพราะบริเวณซอกฟันคุดที่โผล่พ้นเหงือกเพียงบางส่วนทำความสะอาดได้ยาก ส่งผลให้เศษอาหารไปอุดติดง่าย
เหงือกอักเสบ เนื่องจากเศษอาหารที่ค้างอยู่ภายใต้เหงือกบริเวณฟันคุด
เกิดการติดเชื้อ จนอาจส่งผลให้อ้าปากไม่ได้ กลืนไม่ได้ และการติดเชื้ออาจลุกลามจนขัดขวางทางเดินหายใจ
เกิดถุงน้ำหรือเนื้องอกจากการเจริญผิดปกติของเนื้อเยื่อบริเวณรอบฟันคุด ที่อาจส่งผลให้เกิดการทำลายกระดูกขากรรไกรจนใบหน้าผิดรูป และหากถุงน้ำใหญ่มาก อาจต้องทำการรักษาด้วยการตัดขากรรไกรบางส่วน
ฟันคุด คือสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพช่องปาก ทั้งยังอาจส่งผลต่อสุขภาพกายโดยรวมได้อีกด้วย ดังนั้น หากเกิดฟันคุดแล้ว ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที เพื่อทำการผ่าหรือถอน ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อแนวฟันและปัญหาของสุขภาพส่วนอื่น ๆ