ในยุคปัจจุบันที่มีการใช้เครื่องมือสื่อสาร สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต รวมไปถึงการนั่งทำงานกับคอมพิวเตอร์และใช้นิ้วมือเป็นเวลานาน ๆ ด้วยท่าเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดโรคนิ้วล็อก ซึ่งเป็นกลุ่มอาการหนึ่งของโรคออฟฟิศซินโดรม ซึ่งเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกและกล้ามเนื้อที่พบได้บ่อยขึ้นในปัจจุบัน โรคนิ้วล็อกอาจเป็นโรคที่ดูไม่รุนแรง แต่ความทุกข์ทรมานจากโรคนี้สำหรับผู้ป่วยอาจไม่ได้น้อยตาม เนื่องจากมือเป็นอวัยวะสำคัญอวัยวะหนึ่งที่มนุษย์เราจำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีวิตในทุกวัน ดังนั้นอาการนิ้วล็อกจึงอาจส่งผลกระทบต่อการใช้งานมือรวมไปถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ หากมีอาการนิ้วไม่สามารถยืด-งอได้ตามปกติ หรือหากสงสัยว่ามีอาการดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และรักษาอย่างถูกต้อง สำหรับการรักษานิ้วล็อกนั้นจะขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละคนซึ่งแพทย์จะพิจารณาการดูแลรักษาเป็นราย ๆ ไป
นิ้วล็อกคืออะไร?
นิ้วล็อก (trigger finger) เป็นโรคที่มีการอักเสบของเส้นเอ็น และปลอกหุ้มเส้นเอ็น (tenosynovitis) ที่ใช้ในการงอและเหยียดข้อนิ้วมือ โดยผู้ป่วยจะไม่สามารถงอหรือเหยียดนิ้วมือได้ปกติ อาจเป็นนิ้วเดียวหรือหลายนิ้ว โรคนิ้วล็อกพบได้บ่อยเนื่องจากมือเป็นอวัยวะที่ใช้ในการทำงาน และกิจกรรมต่าง ๆ หากนิ้วขยับไม่ได้ นิ้วงอและมีอาการกระตุกเมื่อขยับนิ้ว เหยียดนิ้วขึ้นตรง และเกิดอาการปวดร้าว อาการเหล่านี้อาจเป็นอาการของโรค “นิ้วล็อก”
สาเหตุของนิ้วล็อก
สาเหตุของโรคนิ้วล็อกยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่สัมพันธ์กับการใช้งาน หรือออกแรงงอนิ้วซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ทำให้เกิดการอักเสบบริเวณปลอกหุ้มเส้นเอ็น โดยในระยะเริ่มต้นผู้ป่วยจะมีเพียงอาการปวดหรือเจ็บบริเวณโคนนิ้วด้านฝ่ามือ หากการอักเสบยังมีต่อเนื่อง ปลอกหุ้มเส้นเอ็นจะเริ่มหนาตัวมากขึ้น ทำให้ช่องทางการเคลื่อนตัวของเส้นเอ็นตีบแคบลง จึงเกิดอาการฝืด สะดุดหรือล็อกของนิ้วมือขณะใช้งานงอเหยียดนิ้วในระยะต่อมา ในคนทั่วไป พบได้ประมาณ 2-3% และสูงขึ้นถึง 5-20% ในกลุ่มประชากรที่มีโรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ เช่น เบาหวาน หรือกลุ่มโรคข้ออักเสบต่าง ๆ พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ในช่วงอายุ 45 ปีขึ้นไป
อาการของนิ้วล็อก
อาการที่พบโดยทั่วไป เริ่มจากปวดบริเวณโคนนิ้วมือ นิ้วมือเคลื่อนไหวติด สะดุด งอหรือเหยียดเองไม่ได้ ปวดหรือตึงเมื่อมีการงอนิ้ว หากปล่อยไว้ไม่ทำการรักษาอย่างถูกต้องอาจเกิดอาการนิ้วยึด เหยียดไม่ออกจนเกิดพังผืดรอบข้อต่อ จนทำให้นิ้วงอแข็ง ไม่สามารถเหยียดตรงได้ โดยอาการแสดงของโรคนิ้วล็อก แบ่งตามระดับความรุนแรงได้ 4 ระยะดังนี้
ระยะของโรคอาการแสดง
1เจ็บโคนนิ้วด้านฝ่ามือ มีอาการปวดเมื่อกดบริเวณฐานนิ้วมือด้านหน้า
2เจ็บโคนนิ้ว งอนิ้วมีอาการล็อก แต่ยังเหยียดนิ้วออกเองได้
3เจ็บโคนนิ้ว งอนิ้วมีอาการล็อก เหยียดนิ้วออกเองไม่ได้ ต้องใช้มืออีกข้างช่วยจับออก
4เจ็บโคนนิ้ว งอนิ้วมีอาการล็อก มีข้อนิ้วยึดเหยียดได้ไม่สุด
> กลับสู่สารบัญ
การรักษานิ้วล็อก
การรักษาโรคนิ้วล็อกมีทั้งการรักษาแบบไม่ผ่าตัดและผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
การรักษาแบบไม่ผ่าตัด
งดกิจรรมบางอย่าง พักใช้งานมือข้างที่มีอาการ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องกำ งอ และเหยียดนิ้วมือซ้ำ ๆ หรือใส่อุปกรณ์ดามนิ้ว (finger splint) ให้นิ้วอยู่ในท่าเหยียดตรง โดยเฉพาะในเวลากลางคืน ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดในตอนเช้าได้
รับประทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เพื่อลดการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็น
ฉีดยาสเตียรอยด์ ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เป็นเวลานาน หากรักษาตามวิธีข้างต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจจะพิจารณาการรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์ (steroid injection) เข้าบริเวณปลอกหุ้มเอ็นบริเวณโคนนิ้ว เพื่อลดการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็น
การรักษาแบบผ่าตัด
วิธีการผ่าตัดนิ้วล็อกมีด้วยกัน 2 วิธี คือ
การผ่าตัดแบบเจาะรูผ่านผิวหนัง (percutaneous trigger finger release) เป็นการผ่าตัดที่ผิวหนัง โดยแผลจะมีขนาดเล็กประมาณ 2 มิลลิเมตร สามารถทำภายใต้การฉีดยาชาเฉพาะที่ ไม่จำเป็นต้องเข้าห้องผ่าตัด ทำได้ที่ห้องหัตถการในแผนกผู้ป่วยนอก ไม่ต้องอดอาหาร และไม่ต้องหยุดยาใดก่อนทำหัตถการ แม้ในผู้ที่ทานยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือดเป็นประจำก็สามารถรับการผ่าตัดได้เลย หลังการผ่าตัดด้วยเทคนิคนี้สามารถใช้งานนิ้วมือข้างที่ผ่าตัดได้ทันที แต่ควรเป็นการใช้งานแบบเบา ๆ แผลสามารถสัมผัสน้ำได้หลังผ่าตัด 24-48 ชั่วโมง และแพทย์จะนัดตรวจติดตามอาการหลังผ่าตัดประมาณ 1 สัปดาห์
การผ่าตัดแบบเปิด (open skin trigger finger release) เป็นเทคนิคที่แพทย์ออร์โธปิดิกส์ใช้กันโดยทั่วไปเพราะสามารถมองเห็นตำแหน่งได้ชัดเจนกว่าแบบเจาะรูผ่านผิวหนัง สามารถทำภายใต้การฉีดยาชา โดยแหวกเนื้อเยื่อรอบ ๆ เพื่อให้เห็นเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเส้นเอ็น แล้วแพทย์จะทำการกรีดเปิดปลอกหุ้มเส้นเอ็นออก ทดสอบการเคลื่อนไหวของนิ้วแล้วทำการเย็บปิดแผล
การดูแลหลังการรักษานิ้วล็อก
ไม่ว่าจะได้รับการผ่าตัดรักษาแบบเจาะหรือแบบเปิดแผล สามารถให้ขยับนิ้วงอ เหยียด หรือใช้งานเบา ๆ ในชีวิตประจำวันได้ทันที โดยแนะนำให้เป็นการใช้งานเบา ๆ ก่อน ประมาณ 2 สัปดาห์ (การไม่ใช้งานหรือไม่ยอมขยับนิ้วหลังผ่าตัด เสี่ยงต่อการยึดติดกันของเอ็นและข้อ รวมถึงทำให้ผลลัพธ์การรักษาไม่ดีอีกด้วย แต่ในทางกลับกันการใช้งานมากเกินไปอาจทำให้แผลผ่าตัดอักเสบปวดบวมมากขึ้นได้เช่นกัน)
ระวังไม่ให้แผลเปียกน้ำ หากแผลเปียกน้ำ ควรทำแผลทันที
กรณีได้รับการผ่าตัดแบบเปิดแผล ควรมาตรวจตามแพทย์นัดเพื่อตัดไหม โดยทั่วไปจะประมาณ 10-14 วันหลังการผ่าตัด
รับประทานยาแก้ปวดได้หากมีอาการปวด แล้วเมื่อหายปวดแล้วสามารถหยุดรับประทานทานยาแก้ปวดได้
หากแพทย์จ่ายยาปฏิชีวนะ ต้องรับประทานยาให้หมดตามแพทย์สั่ง
หากมีอาการต่อไปนี้ ให้มาพบแพทย์ก่อนนัดได้ทันที
แผลมีเลือดซึมออกมามากผิดปกติ
เจ็บแผลมากขึ้นจากที่อาการเจ็บเริ่มลดลงแล้ว
แผลบวมแดงมากขึ้น มีน้ำเหลืองหรือหนองไหลออกมาจากแผล
มีไข้
การป้องกันความเสี่ยงนิ้วล็อก
หลีกเลี่ยงการหิ้วของหนักโดยใช้นิ้วมือ ให้ใช้วิธีอุ้มหรือประคอง ให้น้ำหนักตกที่บริเวณฝ่ามือหหรือแขนเป็นหลัก
การทำงานเป็นระยะเวลานานและต่อเนื่อง ควรพักการใช้มือและยืดเหยียดกล้ามเนื้อเป็นระยะ
หลีกเลี่ยงการบิดผ้าซ้ำ ๆ เพราะเป็นกิจกรรมที่ใช้แรงบริเวณโคนนิ้วมาก
หากมีอาการปวดตึงมือจากการใช้งานมากเกินไป ให้แช่มือในน้ำอุ่น กำ-แบ ในน้ำเบา ๆ
> กลับสู่สารบัญ
สรุป
โรค “นิ้วล็อก” แม้ไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่นิ้วมือเป็นก็อวัยวะที่สำคัญหนึ่งในการทำงานและกิจกรรมต่าง ๆ แต่หากนิ้วเกิดมีอาการปวดร้าว สะดุด ติดขัดในขณะใช้งานย่อมมีผลกระทบต่อการทำงานในชีวิตประจำวันอย่างมากได้ การใช้งานนิ้วมืออย่างพอเหมาะ มีการบริหารมือทั้งก่อนและหลังใช้งาน มีส่วนช่วยในการป้องกันไม่ให้เกิดโรค รวมถึงลดโอกาสการเป็นซ้ำได้ อย่างไรก็ตามหากเป็นมากจนต้องรับการผ่าตัด ปัจจุบัน ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยทำให้การผ่าตัดปลอดภัย ใช้เวลาไม่นาน ฟื้นตัวกลับมาใช้งานได้เร็ว และไม่น่ากลัวอย่างที่คิด