(18 เม.ย.66) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวอัปเดตสายพันธุ์โควิด 19 ในประเทศไทย
.
การเปรียบเทียบระหว่าง XBB.1.5 และ XBB.1.16 จะพบว่า ตำแหน่งที่กลายพันธุ์บางส่วนเหมือนกัน การไปสรุปว่ารุนแรงตายเท่าเดลตาจึงไม่จริง
.
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทางแล็บสันนิษฐานจากตำแหน่งกลายพันธุ์ของ XBB.1.16 น่าจะแพร่เร็วกว่า XBB.1.5 หาก 1 เดือนข้างหน้าขึ้นมา 10-30% แสดงว่าเร็วจริง ก็อาจจะเบียดตัวเก่าไป
.
ส่วนภูมิคุ้มกันหลบได้พอๆ กัน ใครที่เคยติดสายพันธุ์เก่าๆ ปีที่แล้ว สามารถติดซ้ำได้ ประสิทธิผลวัคซีนลดลงบ้างในแง่ของการป้องกันการติด
.
แต่ความรุนแรง WHO สรุปว่ายังไม่มีหลักฐาน ทำให้เกิดโรคได้เยอะขึ้น แต่ไม่มีข้อมูลว่าทำให้ตายหรือต้องใส่ท่อช่วยหายใจ
.
แต่มีประเด็นคือ อินเดียมีรายงานโดยเฉพาะเด็ก คือ มีอาการตาแดงแล้วคัน หรือ Sticky Eyes ตาลืมไม่ค่อยได้ ตาเหนียว แต่ไม่มีหนอง พบอาการขึ้นมาได้ แต่มากน้อยเท่าไรไม่ทราบ เนื่องจากยังไม่มีการเก็บสถิติว่ากี่เปอร์เซ็นต์ แต่ผู้ใหญ่ก็มีได้
.
"XBB.1.16 ในไทยพบ 27 ราย มีทั้งติดในประเทศและมาจากต่างประเทศ พบว่ามีผู้เสียชีวิต 1 ราย แต่เป็นคนต่างประเทศ อายุมากประมาณ 85 ปี อาจมีโรคประจำตัวหลายโรค เรื่องความรุนแรงยังไม่มีว่าเป็นแล้วต้องตาย ไม่ได้รุนแรงเท่าเดลตา ตอนนี้ XBB.1.16 มีสัญญาณบางอย่างอาจแพร่เชื้อเร็วกว่าเดิม แต่ต้องพิสูจน์ว่าสุดท้ายเบียดหรือไม่ ภูมิคุ้มกันหลบไม่ต่างกัน เราจะตรวจเพิ่มขึ้น" นพ.ศุภกิจ กล่าว
.
นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า "มีข้อมูลวิจัยประเทศอินเดีย ตีพิมพ์ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา อาการของสายพันธุ์ Arcturus ไม่ได้แตกต่างจากไข้หวัดใหญ่ อาการคล้ายกันมาก ส่วนเยื่อบุตาอักเสบจะพบมากในเด็กในอินเดีย ส่วนที่ว่าไม่มีไข้ไม่จริง ต้องมีไข้ ย้ำว่าไม่จำเป็นต้องตระหนกจนเกินไป วัคซีนยังได้ผลดี ปัจจุบันเรามี Bivalent หลายตัวเข้ามาเลือกใช้ให้เหมาะสมได้"