ช่วงที่มีการรณรงค์ให้อยู่บ้านเป็นหลัก ลดการออกไปมีความเสี่ยงในการแพร่กระจายและได้รับเชื้อไวรัสนอกบ้าน ย่อมทำให้หลายคนเลือกที่จะกักตุนอาหารเอาไว้บางส่วนในบ้าน ทั้งนี้ก็ยังมีข้อมูลที่ไม่เพียงพอในการเก็บรักษาอาหารประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะโปรตีนที่เป็นแหล่งอาหารที่ค่อนข้างอายุการเก็บรักษาสั้น หากเก็บไม่ถูกวิธี วันนี้จะมาย่อยสรุปให้นำไปปฏิบัติกันได้อย่างเหมาะสม และเก็บรักษาอาหารได้นานขึ้น
เนื้อไก่
•เนื้อไก่สด ทั้งแบบชิ้นส่วนและทั้งตัว หากเก็บในตู้เย็นช่องปกติ จะเก็บได้ไม่เกิน 2 วัน
•เนื้อไก่สด หากเก็บในช่องฟรีซ เนื้อไก่แบบชิ้นจะเก็บได้นานถึง 9 เดือน แต่ถ้าเป็นแบบทั้งตัว จะเก็บได้นานถึงหนึ่งปี
•เนื้อไก่ที่ปรุงแล้ว หากทอด ผัดหรือปรุงสุกแบบต่าง ๆ จะเก็บในช่องธรรมดาได้ไม่เกินสี่วัน แต่หากเก็บในช่องฟรีซจะเก็บไว้อุ่นกินได้ถึง 4 เดือน โดยก่อนเก็บให้แบ่งเอาไว้เป็นส่วนๆ ที่พอสำหรับรับประทานแต่ละครั้ง เพื่อทยอยนำออกมาอุ่นรับประทานได้หมดพอดี สำหรับนักเก็ตไก่จะเก็บได้เพียงสองถึงสามเดือนเท่านั้น
ไข่
•ไข่ทุกชนิดไม่ควรฟรีซเพื่อเก็บรักษา แต่หากแยกเป็นไข่ขาวเหลว และ ไข่แดงออกมาแล้วอยู่ในบรรจุภัณฑ์สำเร็จ เช่น ไข่ขาวแกลลอน UHT สามารถฟรีซไว้ได้หนึ่งปี การฟรีซแล้วละลายควรใช้ให้หมดในแต่ละครั้ง หากฟรีซ-ละลายหลายครั้งคุณสมบัติจะไม่เหมือนเดิม
•ไข่สดพร้อมเปลือก หากเก็บในตู้เย็นจะเก็บได้นานประมาณสามสัปดาห์ โดยควรเก็บเอาไว้ในตำแหน่งที่อุณหภูมิคงที่ ไม่เก็บที่ประตูตู้เย็นเพราะอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงขึ้นลงง่ายจากการเปิดปิดประตูตู้เย็น
•ไข่ที่ปรุงเป็นเมนูแล้วหรือเหลือจากการรับประทาน ไม่ควรฟรีซ เก็บในช่องปกติได้ไม่เกินหนึ่งสัปดาห์
เนื้อปลา
•เนื้อปลาสดทุกชนิด เก็บในช่องปกติได้ไม่เกินสองวัน แต่หากเก็บในช่องฟรีซแล้ว ปลาที่เป็นเนื้อล้วน ไขมันต่ำจะฟรีซได้นานถึงหกเดือน ในขณะที่ปลามีไขมันสูง เช่น แซลมอน ดุก ช่อน สวาย จะเก็บได้ไม่เกินสามเดือน
•หากเป็นเมนูปลาที่ปรุงสุกแล้ว จะเก็บในช่องธรรมดาได้สูงสุดไม่เกินสี่วัน แต่หากฟรีซเอาไว้กินนานๆ จะเก็บได้ถึง 4-6 เดือน
•อาหารทะเลชนิดอื่น เช่น หอย ปู หมึก กุ้ง หากฟรีซจะเก็บได้นานถึง 3-6 เดือน แต่หากไว้ในช่องเย็นจะไม่เกินสองวัน
•อาหารกระป๋องที่เป็นเนื้อทะเล หากเปิดกระป๋องแล้วเก็บในฟรีซจะได้นานสองเดือน ควรถ่ายออกจากกระป๋องก่อนฟรีซ แต่หากยังไม่เปิด และเก็บในที่สะอาด ไม่มีความชื้นสะสม จะเก็บได้นาน 3-5 ปี หรือตามที่ระบุบนกระป๋อง
เนื้อหมู เนื้อวัว
•เนื้อสด หากเป็นชิ้นส่วนหั่นขนาดใหญ่ เช่น สเต๊ก จะเก็บในช่องปกติได้ไม่เกินห้าวัน แต่ถ้าเก็บในช่องฟรีซจะเก็บได้ 6-12 เดือน แต่ถ้าสับจะเก็บในช่องฟรีซได้ไม่เกิน 6 เดือน ส่วนกลุ่มเครื่องในต่างๆ จะเก็บได้ไม่เกินสามเดือน
•เนื้อแปรรูป เช่น ไส้กรอก เบคอน แฮมหรือเนื้อรมควัน หากเก็บในช่องปกติจะได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ แต่หากเก็บในช่องฟรีซจะได้เพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น
•เนื้อสัตว์แบบกระป๋อง หากยังไม่เปิดจะเก็บภายนอกตู้ได้ตามที่ระบุข้างบรรจุภัณฑ์ หากเปิดแล้วจะเก็บในช่องฟรีซได้ประมาณหนึ่งเดือน
•เมนูเนื้อสัตว์ที่รับประทานเหลือแล้วเก็บ ถ้าเก็บในช่องปกติจะเก็บได้ไม่เกินสามวัน แต่ถ้าฟรีซเอาไว้จะเก็บได้ประมาณสองเดือน
กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ
•ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอาหารปรุงสำเร็จ อาหารพร้อมรับประทานกลุ่มสลัด เนื้อพร้อมซอสปรุงรสและอาหารปรุงบรรจุสูญญากาศ ไม่ควรเก็บฟรีซ เก็บในช่องเย็นตามคำแนะนำบนห่อบรรจุเท่านั้น หรือเก็บไม่เกินสามวัน
•เนื้อแฮมเบอเกอร์พร้อมปรุง เก็บช่องปกติได้ไม่เกินสองวัน แต่ถ้าฟรีซจะเก็บได้นานสามเดือน
ทั้งนี้ การเก็บแช่เย็นหรือเก็บฟรีซเพื่อทยอยนำออกมารับประทาน ควรแบ่งเก็บเป็นส่วนๆ ที่พอเหมาะสำหรับนำออกมารับประทานในแต่ละครั้ง
วิธีการแบ่งส่วนก่อนเก็บ
1.คำนวณปริมาณที่ใช้กินต่อวัน ต่อสัปดาห์ เช่น วันละ 200 กรัม ก็อาจเลือกตุนเนื้อไก่หั่นสัปดาห์ละ 1 กิโลกรัมและมีเนื้ออื่น ๆ เก็บสำรองเผื่อไว้ เช่น ไข่ ไส้กรอก และแบ่งที่เก็บให้เพียงพอ หากใครกลัวเบื่อก็อาจแบ่งเก็บ เป็นไก่ครึ่งโล หมูอีกครึ่งโล ไข่ห้าฟอง ก็เพียงพอสำหรับทำอาหารประมาณ 4-5 วันแล้ว (รับประทานคนเดียว)
2.แบ่งบรรจุเนื้อสัตว์ที่จะใช้หลังจากซื้อมา ใส่ถุงปิดสนิท จะเป็นผูกหนังยางหรือถุงซิปก็ได้ ควรบรรจุให้เหลือที่ว่างประมาณ 30% ป้องกันถุงรั่วจากการเก็บในช่องฟรีซ
3.หากไม่อยากปรุงอาหารบ่อยๆ อาจทำเผื่อไว้สำหรับสองถึงสามวัน และแบ่งรับประทาน เพราะหากเก็บอาหารที่เหลือเข้าตู้ทุกครั้ง อาหารจะเสียไวกว่าปกติ และอาจเพิ่มโอกาสท้องเสียจากการติดเชื้อได้
คำแนะนำเพิ่มเติม
: อย่าลืมการปรุงเมนูให้มีผักเป็นส่วนประกอบ เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วนในแต่ละวัน และได้รับประโยชน์จากพืชผัก
: หากเราบริหารพื้นที่ในตู้เย็น จัดของให้เป็นสัดส่วนและไม่เก็บอาหารจนลืมกิน (หรือเรียกอีกอย่างว่า เน่าคาตู้เย็น) ได้แล้วล่ะก็ เราจะลดปัญหาการเกิดขยะอาหารและช่วยประหยัดเงินได้ดีขึ้นแน่นอน