แพทย์หญิง มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ได้บอกว่า การดรามากันบนโซเชียลมีเดีย หรือโลกออนไลน์นั้นก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยเป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใหญ่ที่ต้องการสร้างตัวตน ต้องการการยอมรับ เมื่อไม่เป็นที่ยอมรับตามที่หวังก็จะเกิดความเครียดจนเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นโรคซึมเศร้าในที่สุด
โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประชาชนมักจะใช้โลกออนไลน์เพื่อแสดงความเป็นตัวตนของตนเอง รวมไปถึงห้องสนทนาตามเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีประเด็นดรามาแทบจะทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเจเนอเรชันใหม่ที่เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยี หากใช้อย่างไม่ระวัง ไม่เหมาะสม หรือไม่ถูกต้อง อนาคตอาจจะมีปัญหาในเรื่องปัญหาสุขภาพจิตมากในหลายๆ เรื่อง ตั้งแต่ความรุนแรง ความเครียด ภาวะซึมเศร้าได้ หากผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าอยู่ก่อนแล้วมาเล่นโซเชียลมีเดียก็ค่อนข้างจะเป็นอันตราย อาจกระตุ้นให้แสดงออกถึงอารมณ์ได้ เพราะทำให้เกิดการรับสารมากเกินไป และคนกลุ่มนี้จะจิตใจเปราะบาง อ่อนไหว ทำให้อาการของโรคแย่ลง
เช่นเดียวกับ แพทย์หญิง พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต และโฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุว่า อาการของโรคซึมเศร้าของแต่ละคนจะแสดงอาการไม่เหมือนกัน แต่จะมีลักษณะพฤติกรรมที่แปลกไปอย่างชัดเจนจนคนรอบข้างรู้สึกได้ และอาการโดยทั่วไป คือ มองตนเองในแง่ลบ หรือมองโลกในแง่ร้าย เบื่อหน่าย เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ท้อแท้ สิ้นหวัง หรือบางคนอาจจะแสดงพฤติกรรมที่ตรงข้าม คือ ไม่มีสมาธิ ลุกลี้ลุกลน กินจนหยุดไม่ได้ อยากนอนตลอดเวลา ทำเรื่องเสี่ยงๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม โรคซึมเศร้าถ้าได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องก็จะมีโอกาสหายได้ โดยจะมีการรักษาได้ ทั้ง 1.ใช้ยาปรับระดับสารเคมีในสมอง 2.การเข้ารับบำบัด เพื่อปรับวิธีคิดให้เกิดการปรับเปลี่ยนตนเอง 3.การรักษาด้วยสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะคนรอบข้างที่ต้องให้ความรักความเข้าใจได้