xs
xsm
sm
md
lg

6 สัญญาณเตือน หรือว่าเราจะเป็นโรคซึมเศร้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


1.อารมณ์เปลี่ยนแปลงไป

บางคนที่ป่วยโรคซึมเศร้า เมื่ออยู่กับเพื่อน หรืออยู่กับครอบครัวก็จะปกติ ไม่มีอาการบ่งบอกว่าเป็นผู้ป่วย แต่เมื่ออยู่
คนเดียว มักจะมีความคิดและความรู้สึกที่ดิ่งลง ผู้ป่วยโรคนี้จะมีอารมณ์เศร้าที่หนักและยาวนานกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากการถูกกระตุ้นด้วยเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจมากๆ เช่น การสูญเสียคนรัก การสูญเสียสิ่งที่เป็นความหมายของชีวิต และความผิดหวัง อาจทำให้มีอารมณ์หดหู่ ร้องไห้บ่อย มีความวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย สะเทือนใจง่าย ถ้าอารมณ์เหล่านั้นเป็นอยู่นานโดยไม่ดีขึ้น หรือรุนแรงขึ้น ก็อาจจะเข้าข่ายป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้

คนที่อยู่ในสภาวะเศร้าแค่ชั่วคราว ไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นโรคซึมเศร้า เช่น คุณแม่มือใหม่ที่มักพบเจออาการเศร้า หรือที่เรียกว่า ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ภาวะนี้เป็นเพียงความเศร้าแบบชั่วคราวเท่านั้น และจะดีขึ้นในระยะเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ มีสาเหตุมาจากฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงฉับพลัน ทำให้มีอาการหงุดหงิด รำคาญ ร้องไห้ง่าย กินไม่ได้ นอนไม่หลับ รู้สึกผิดที่มีลูก ไม่สนใจในการดูแลลูก ส่งผลให้คุณแม่ไม่สามารถเลี้ยงดูลูกน้อยได้ บางคนมีอาการเศร้าๆ ซึมๆ แต่เมื่อได้พบเจอเพื่อนก็ทำให้ลืมอาการเศร้าเหล่านั้นไปได้ หากคุณฟื้นตัวจากความเศร้าได้เร็ว นั่นหมายความว่า
คุณไม่ใช่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแน่นอน

2.ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

การที่ประสิทธิภาพในการทำงานจะลดลงนั้นขึ้นอยู่กับหลายสาเหตุ เช่น ไม่มีสมาธิ ทำงานร่วมกับผู้อื่นไม่ได้ และร่างกายอ่อนเพลีย ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีจิตใจเหม่อลอยไม่อยู่กับตัวเอง สมาธิสั้น ทำกิจกรรมอะไรได้ไม่นาน อ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง ยิ่งอ่านเยอะยิ่งจำไม่ได้ ทำงานที่ละเอียดไม่ได้ มีความรับผิดชอบน้อยลง ทำงานผิดๆ ถูกๆ ขาดงานบ่อย ชอบแยกตัวออกมาอยู่คนเดียว ไม่อยากพูดจากับใคร ไม่มีพลังในการทำงาน ไร้มนุษยสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกับคนอื่น และขาดความสามารถในการแก้ปัญหาและตัดสินใจ เช่น ไม่กล้าแก้ปัญหา ไม่รู้จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร ไม่กล้านำปัญหาที่มีไปปรึกษาใคร เพราะคิดไปเองว่าไม่มีใครรับฟัง กลัวคนรอบข้างมองว่าการที่ตัวเองแก้ปัญหาไม่ได้นั้น เป็นเรื่องที่แย่ โรคนี้ส่งผลกระทบกับหน้าที่การงานอย่างมาก ทำให้บางคนอาจถึงขั้นถูกไล่ออกจากงานได้

3.พฤติกรรมการนอนเปลี่ยนไป

ในขณะที่เรานอนหลับสมองจะผลิตฮอร์โมนที่มีชื่อว่า เมลาโทนิน ซึ่งเป็นสารที่ช่วยให้เราง่วงนอนตามเวลาที่เราควรจะนอน ฮอร์โมนตัวนี้เป็นสารตั้งต้นของสารสื่อประสาทชื่อ ซีโรโทนิน ทำหน้าที่ควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์ ถ้าเกิดภาวะเครียดซีโรโทนินก็จะลดลงส่งผลให้รู้สึกหงุดหงิด และนอนไม่หลับ ส่วนใหญ่คนที่มีภาวะนอนไม่หลับเรื้อรังมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนนอนหลับได้ปกติถึง 4 เท่า

พฤติกรรมนอนไม่หลับเป็นอีกหนึ่งผลกระทบที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เพราะผู้ป่วยจะทำงานไม่เต็มที่ เนื่องจากนอนไม่เต็มอิ่ม หรือบางคนอาจหลับมากเกินไป แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจไม่ถึงขั้นนอนไม่หลับ แต่จะเป็นอาการหลับไม่สนิท หรือหลับไปแล้วตื่นมากลางดึกอาจหลับต่อไม่ได้ การนอนหลับอย่างมีคุณภาพ คือการหลับสนิทอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งคืน เพื่อให้สอดคล้องกับนาฬิกาชีวิตของร่างกาย

4.ไม่มีความสุขกับปัจจุบัน

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีความรู้สึกเบื่อหน่ายไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง สิ่งที่เคยทำแล้วมีความสุข หรือสบายใจก็ไม่อยากทำ ไม่สนใจงานอดิเรกที่เคยทำ และกลัวการทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ รวมไปถึงไม่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว บางคนหมกมุ่นอยู่ในจินตนาการ เพราะคิดว่าการได้อยู่ในโลกที่ตัวเองจินตนาการขึ้น ทำให้มีความสุขมากกว่าการอยู่ในโลกของความจริง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุขในการใช้ชีวิตปัจจุบัน บางคนคิดถึงแต่อดีตที่ผ่านมา โหยหาช่วงเวลาที่เคยเกิดขึ้นและไม่มีทางเกิดขึ้นได้อีก ทำให้เกิดความคิดด้านลบต่างๆ ตามมาอีกมากมาย

5.หมกมุ่นคิดแต่ด้านลบ

ความคิดที่มองทุกอย่างในด้านลบตลอดเวลา นับว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เพราะเป็นพฤติกรรมที่สามารถส่งผลต่อชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างรุนแรง ผู้ป่วยมักมองโลกในแง่ร้าย มีความรู้สึกสิ้นหวังต่อการใช้ชีวิต คิดว่า
ตัวเองไม่มีค่า ไม่มีแรงบันดาลใจในชีวิต มองไม่เห็นอนาคต ตั้งคำถามกับตัวเองเสมอว่าตัวเองเกิดมาทำไม ทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร และมองความล้มเหลวของตัวเองเป็นความผิดพลาดของชีวิต ที่ผ่านมาเห็นได้ว่ามีเหล่าคนดังในวงการบันเทิงเป็นโรคซึมเศร้ากันเยอะมาก พวกเค้ามีความกลัวที่ว่า การมีชื่อเสียงโด่งดังทำให้ไม่มีใครรักในตัวตนที่แท้จริงของพวกเค้า และความคิดในด้านลบทั้งหมดนี้ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความคิดที่จะทำร้ายตัวเอง และอาจถึงขั้นฆ่าตัวตายได้

6.มีความคิดอยากฆ่าตัวตายอยู่ตลอดเวลา

การฆ่าตัวตายส่วนใหญ่มีจุดเริ่มต้นมาจากการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยจะมีความคิดฆ่าตัวตายได้ง่ายกว่าคนปกติถึง 3 เท่า จิตใจของผู้ป่วยโรคนี้จะวนเวียนอยู่กับการหาคุณค่าให้ตัวเอง และกดดันตัวเอง สำหรับคนที่อยู่ในวัยเรียนอาจคาดหวังและกดดันตัวเองในเรื่องการเรียน เช่น คิดว่าการที่ตัวเองอยู่ในสถานศึกษาที่ดีมีชื่อเสียง จะต้องเก่ง ต้องฉลาด และห้ามสอบตก เมื่อสิ่งที่คาดหวังไม่ได้เป็นอย่างที่หวัง ก็เกิดภาวะเครียดขึ้น จากนั้นก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเองไร้
ความสามารถ ไร้คุณค่า เป็นภาระแก่คนอื่น และคิดว่าชีวิตของตัวเองไม่มีประโยชน์กับใคร เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะมีความคิดว่าการตายเป็นทางออกที่ดีที่สุด เริ่มคิดหาวิธีที่ทำให้ตัวเองตาย และลงมือฆ่าตัวตายในที่สุด

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ย่อมต้องการความรักความเข้าใจ คนรอบข้างไม่ควรใช้ประสบการณ์ส่วนตัวเข้าไปตัดสินปัญหาของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า สิ่งที่เราทำได้คือ รับฟังอย่างตั้งใจ ผู้ป่วยไม่ได้ต้องการคำแนะนำ เพราะบางครั้งคำแนะนำอาจเป็นการตัดสินว่า เรารู้มากกว่า และปิดกั้นสิ่งที่เค้าต้องการจะพูด ไม่ควรพูดสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์
คำพูดที่กระตุ้นให้เค้ารู้สึกแย่กว่าเดิม อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้

ควรเฝ้าระวังเรื่องการทำร้ายตัวเอง พาผู้ป่วยไปรับการรักษาจากจิตแพทย์ เพื่อเป็นการดูแลภาวะจิตใจของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และกินยาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งแต่ละคนตอบสนองต่อการรักษาไม่เท่ากัน บางคนต้องการรักษาหลายอย่างร่วมกัน ซึ่งตัวผู้ป่วยเองก็ต้องก้าวข้ามออกจากกรอบ พาตัวเองไปเจอสิ่งใหม่ๆ เพื่อหาความหมายของชีวิตให้เจอ


กำลังโหลดความคิดเห็น