วิธีสังเกตอาการ แพ้กุ้ง และการกินกุ้งแบบไม่แพ้
แพ้กุ้ง หนึ่งในอาหารทะเลยอดฮิตที่คนนิยมกินคือ กุ้ง เพราะรสชาติหวานและมีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์แต่ถึงอย่างนั้น กุ้งก็เป็นอาหารต้องห้ามของบางคนเนื่องจากกินแล้วจะเกิดอาการแพ้
ชีวจิต อยากให้ทุกท่านได้กินกุ้งอย่างมีความสุข ห่างไกลจากอาการแพ้ จึงได้รวบรวมวิธีสังเกตอาการแพ้และการกินที่ถูกต้องมาฝากกัน
รู้สาเหตุ + สังเกตอาการแพ้กุ้ง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปรัญรัชต์ ธนวิยุทธ์ภัคดี สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า
อาการแพ้กุ้งคือหนึ่งในกลุ่มอาการแพ้อาหาร (food allergy) มีสาเหตุจากสารในอาหาร (antigen) หรือสารที่เกิดขึ้นจากกระบวนการย่อยอาหาร (breakdown product) กระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดขาวให้สร้างภูมิคุ้มกัน (antibody) ขึ้นมาต่อต้าน อาการแพ้จึงปรากฏ
อาการแพ้จะแสดงออกใน 3 ระบบ คือ
1. ระบบผิวหนัง เช่น มีผื่นขึ้น
2. ระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง
3. ระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด บางรายมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
สำหรับคนที่มีอาการแพ้เมื่ออายุมากขึ้น แม้ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านตั้งข้อสังเกตว่า อาจเกิดจากภูมิคุ้มกันภายในร่างกายบกพร่อง ซึ่งมีสาเหตุมาจากการทำงานหนัก กินอาหารไม่ถูกสัดส่วน พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือหลายปัจจัยร่วมกัน
แพ้กุ้ง แพ้อาหาร แพ้อาหารทะเล
แพ้สารอะไรในตัวกุ้ง
โครงการวิจัยล่าสุดตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2553 เรื่อง “การศึกษาหาสารก่อภูมิแพ้ที่จำเพาะที่เป็นสาเหตุของการแพ้กุ้งน้ำจืดและกุ้งทะเลที่นิยมบริโภคในคนไทย” ชี้ให้เห็นว่า กุ้งน้ำจืดที่พบรายงานการแพ้มากที่สุดคือ กุ้งก้ามกราม ส่วนกุ้งทะเลคือกุ้งกุลาดำ ทั้งนี้อาการแพ้อาจเกิดจากกุ้งเพียงชนิดเดียวหรือมากกว่าหนึ่งชนิด
ดร.สุรพล พิบูลโภคานันท์ นักวิจัยผู้ควบคุมโครงการจากสถาบันอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลนำตัวอย่างเลือดของอาสาสมัครที่แพ้กุ้งมาทดสอบและวิเคราะห์หาสารก่อภูมิแพ้ จึงค้นพบว่า สารก่อภูมิแพ้ที่จำเพาะต่อคนไทยในกุ้งก้ามกราม คือ โปรตีนเฮโมไซยานิน (hemocyanin protein) ส่วนสารก่อภูมิแพ้ในกุ้งกุลาดำ คือ โปรตีนลิพิดไบน์ดิง (lipid binding protein) และโปรตีนแอลฟาแอกตินิน(alpha actinin protein)
ใครบ้างที่มีโอกาสแพ้กุ้ง
สำหรับวิธีสังเกตเบื้องต้น มูลนิธิมาโยเพื่อการศึกษาทางการแพทย์และการวิจัย ประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำว่าผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงเกิดอาการแพ้กุ้งส่วนใหญ่บุคคลในครอบครัวจะมีประวัติการแพ้ และผู้ที่แพ้อาหารทะเล เช่น ปู หอยปลาหมึก มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะแพ้กุ้งร่วมด้วย
หาคุณหมอ ทดสอบอาการแพ้
อาการแพ้ไม่อาจเดาสุ่มได้ ควรทดสอบให้ทราบแน่ชัดว่าร่างกายแพ้กุ้งหรือไม่
การทดสอบอาการแพ้ทำบริเวณผิวหนัง โดยหยดน้ำยาที่สกัดจากสารภูมิแพ้ที่มีอยู่ในอาหารลงบนผิวหนังที่แขนและใช้เข็มสะกิดผิวหนังเพื่อทดสอบการแพ้ (skin prick test) หรือฉีดน้ำยาเข้าผิวหนัง (intradermal test) ทิ้งไว้ประมาณ 10 – 15 นาที หากเกิดรอยนูน ผื่นแดง หรือรู้สึกคัน แสดงว่าแพ้อาหารชนิดนั้น
การป้องกันอาการแพ้ทุกชนิด ไม่ว่าจะแพ้กุ้ง แพ้อากาศหรือแพ้ขนสัตว์ เราป้องกันได้ด้วยการกิน นอน พักผ่อนออกกำลังกาย และทำงานให้สมดุลค่ะ
แพ้กุ้ง แพ้อาหารทะเล
ฉลาดกินกุ้งให้ดีต่อสุขภาพ
อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิตแนะนำการกินกุ้งว่า ควรกินอย่างพอดี คือไม่เกินสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้งหากกินมากกว่านั้นไม่แนะนำ เพราะกุ้งมีคอเลสเตอรอลสูง แนะนำให้กินปลาเป็นหลักดีที่สุด