xs
xsm
sm
md
lg

เลือกดื่มชา ชนิดไหนให้ถูกกับโรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประโยชน์ของการดื่มชา

“ชา” เป็นเครื่องดื่มสมุนไพรที่นิยมดื่มกันอย่างแพร่หลายมานานกว่า 5,000 ปีที่แล้ว อีกทั้งยังเป็นสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคในตำราจีนมาช้านาน มีข้อมูลการวิจัยมากมายแสดงให้เห็นว่า ประโยชน์ของการดื่มชาช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและมะเร็งบางชนิดได้ นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มว่าชาช่วยเพิ่มระบบการเผาผลาญของร่างกายและกระตุ้นการทำงานของอินซูลิน และประโยชน์ของการดื่มชายังอาจช่วยในเรื่องสุขภาพช่องปากและฟันได้

สารสำคัญในชาที่พบว่าให้ประโยชน์ต่อร่างกาย คือ ‘สารฟลาโวนอยด์’ ชนิด ‘คาเทซิน’ ซึ่งพบในชาปกติหรือชาที่สกัดกาเฟอีน สารชนิดนี้มีฤทธิ์ต้านสารอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสื่อมของร่างกาย โดยนักวิจัยชาวอเมริกันและชาวอังกฤษพบตรงกันว่า สารต้านอนุมูลอิสระในใบชาแห้งมีฤทธิ์มากกว่าสารต้านอนุมูลอิสระในผักและผลไม้ที่กินกันทั่วไปถึง 22 ชนิด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทดแทนการกินผักผลไม้ได้ เพราะผักผลไม้ให้สารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อชีวิตด้วยเช่นกัน



ชนิดของชา

ชาแท้ๆ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Camellia sinensis ส่วนชาสมุนไพรทั่วไปไม่ใช่ชาแท้ แต่เป็นส่วนผสมของดอก ผล ใบ หรือรากของพืชสมุนไพรต่างๆ เมื่อเป็นเครื่องดื่มมักจะถูกเรียกว่าชา โดยแบ่งประเภทชาตามเทคนิควิธีการผลิตชา

ชาเขียว

เป็นชาที่นำไปอบไอน้ำหรือผ่านกระบวนการดั้งเดิมของคนจีน คือคั่วในกระทะ แล้วนำมากลิ้งก่อนทำให้แห้ง ใบชาจึงไม่ถูกทำปฏิกิริยากับออกซิเจน แต่เดิมชาเขียวเป็นที่นิยมในประเทศจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง โมร็อกโก และตะวันออกกลาง ต่อมาความนิยมชาเขียวแพร่เข้ามาในวันตกซึ่งนิยมดื่มชาดำมาก่อน

ชาดำ ชาแดง

ใบชาถูกทำปฏิกิริยากับออกซิเจน 2-4 ชั่วโมง ก่อนนำไปผ่านกระบวนการเช่นเดียวกับชาเขียว ชาชนิดนี้นิยมดื่มกันในประเทศแถบเอเชียใต้ เช่น ศรีลังกา อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ และอีกหลายประเทศในแอฟริกา

ชาอูหลง

ใบชาถูกทำปฏิกิริยากับออกซิเจนเพียงบางส่วน 2-3 วันก่อนผ่านกระบวนการผลิต กระบวนการกึ่งหมักไม่เกิน 20 % สาระสำคัญในชาอูหลง คือ สารพอลิฟีนอล ชนิด OTPP (Oolong Tea Polymized Polyphenol) ซึ่งไม่พบในชาเขียว การวิจัยพบว่า สารชนิดนี้มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซน์ย่อยไขมัน เพิ่มอัตราการเผาผลาญของไขมัน จึงอาจช่วยลดน้ำหนักได้เล็กน้อย

ชาขาว

เป็นส่วนของยอดอ่อนที่เริ่มโผล่ออกมาและจะถูกเก็บก่อนฤดูใบไม้ผลิ ชาขาวจะผ่านกระบวนการผลิตน้อยที่สุด จึงไม่ถูกทำปฏิกิริยากับออกซิเจน มีวิธีการป้องกันยอดอ่อนไม่ให้ ถูกแสงแดดเพื่อป้องกันการผลิตคอโรฟิลล์ ใบและยอดอ่อนจะถูกนำไปอบอย่างเร็วที่สุด หลังจากเก็บแล้วจึงถูกนำมาทำให้แห้งเพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยากับออกซิเจน

ชาขาวจะมีสารฟลาโวนอยด์ชนิดคาเทซินมากที่สุด และมีราคาแพงกว่าชาอื่นๆ ที่ทำมาจากต้นชาชนิดเดียวกัน เนื่องจากชาขาวมีแต่เฉพาะใบและยอดอ่อน จึงทำให้มีสีอ่อนกว่าชาชนิดอื่นๆ นอกจากนี้ยังพบว่ายอดและใบชาอ่อนมีปริมาณสารกาเฟอีนมากกว่าในใบชาแก่เล็กน้อย



Advertisement

ประโยชน์ของชาเพื่อสุขภาพ

ชาทุกชนิดที่กล่าวมามีสารต้านอนุมูลอิสระที่มีฤทธิ์สูงในรูปพอลิฟีนอล ซึ่งประกอบไปด้วยสารฟลาโวนอยด์หลายชนิดที่มีข้อมูลการวิจัยว่าช่วยป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และเส้นเลือดสมองตีบ

สารฟลาโวนอยด์ในชาแสดงผลในงานวิจัยว่าอาจช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน ช่วยป้องกันเกล็ดเลือดเกาะตัวตามผนังเส้นเลือดแดงซึ่งนำไปสู่โรคหลอดเลือดแดง ป้องกันฟันผุจากแบคทีเรีย ป้องกันอนุมูลอิสระ ชาเขียวหรือชาดำหนึ่งถ้วยให้สารฟลาโวนอยด์ประมาณ 150-200 มิลลิกรัม



ชาและโรคหัวใจ

การดื่มชาป้องกันโรคหัวใจเป็นข้อมูลที่พบกันบ่อยมาก เช่น นักวิจัยแนะนำการดื่มชาวันละ 1-5 ถ้วย เพื่อลดโรคหัวใจหรือป้องกันหัวใจวาย

นักวิจัยชาวเนเธอร์แลนด์พบว่า ผู้ที่กินสารฟลาโวนอยด์มากที่สุด มีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจลดลงถึง 68% อาหารที่มีสารฟลาโวนอยด์มากที่สุดคือชาดำ รองลงมาคือหัวหอมและแอปเปิ้ล
รายงานการวิจัยจากองค์การอาหารและเกษตรของสหรัฐอเมริกาพบว่า การดื่มชาดำวันละ 5 ถ้วย ช่วยลดแอลดีแอล (คอลเสตอรอลไม่ดี) ได้ถึง 11.1% และลดคอเลสตอรอลรวม 6.5% ในกลุ่มชายและหญิงที่มีคอลเลสตอลรอลสูงไม่มาก
งานวิจัยในบอสตันพบว่า ผู้ที่ดื่มชาดำวันละ 1 ถ้วย ลดความเสี่ยงหัวใจวายได้ 44% เทียบกับผุ้ที่ไม่ดื่ม
ชาและโรคมะเร็ง

ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า สารฟลาโวนอยด์ในชาอาจช่วยลดความเสี่ยงมะเร็ง แต่ข้อมูลไม่มากเท่ากับชาป้องกันโรคหัวใจ ปัจจุบันงานวิจัยยังดำเนินต่อไป เพื่อพิสูจน์ว่าชาจะป้องกันมะเร็งได้มากน้อยเพียงใด

ชาและการลดน้ำหนัก

ชาเขียวมีสารคาเทซินชนิด EGCG – Epigallocatechin Gallate สูงกว่าชาดำมาก ซึ่งสารชนิดนี้ให้ประโยชน์ต่อการลดน้ำหนัก และอาจเพิ่มระบบเผาผลาญไขมันในร่างกายนอกเหนือจากสารกาเฟอีน โดยการยับยั้งเอนไซม์ที่สลายสารนอร์อีฟิเนฟฟรีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในสมองที่เร่งระบบเผาผลาญของร่างกายและไขมัน

งานวิจัยพบว่าผู้ที่ดื่มชาเขียวเป็นประจำต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปีขึ้นไป มีไขมันในร่างกายลดลง 20% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ดื่มชาเป็นประจำ นักวิจัยในประเทศสวิตเซอร์แลนด์พบว่า สารคาเทซินในชาเขียวช่วยเพิ่มระบบเผาผลาญได้วันละ 78 แคลอรี ในทางทฤษฎี อาจช่วยลดน้ำหนักได้ปีละ 4 กิโลกรัม แม้จะไม่มาก แต่ก็เป็นเหตุผลที่ดีที่จะแนะนำให้ดื่มชาวันละ 2 ถ้วย

ชาและโรคเบาหวาน

รายงานการวิจัยพบว่า สารธรมชาติในชามีผลในการเพิ่มความไวต่ออินซูลินในเซลล์ไขมันถึง 150 เท่า โดยการดื่มชาอูหลงวันละ 6 ถ้วย ช่วยลดความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดได้ ชาอูหลงจึงอาจมีผลในการเสริมฤทธิ์ยาเบาหวานได้

ชาและโรคช่องปาก

สารฟลาโวนอยด์ในชามีผลในการยับยั้งแบคทีเรียในช่องปาก ลดการเกิดฟันผุ



วิธีชงชาที่จะทำให้ได้สารต้านอนุมูลอิสระมากที่สุดคือ การเทน้ำเดือดๆ ลงบนซองชา หรือแช่ใบชานานประมาณ 3-5 นาที แต่ถ้าไม่มีเวลา แนะนำให้จุ่มซองชาลงในน้ำแล้วยกขึ้นประมาร 1 นาที จะช่วยให้สารฟลาโวนอยด์ออกจากชาเร็วขึ้น ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า การจุ่มถึงชาขึ้นลงภยใน 1 นาที กับแช่ถุงชา 4 นาที จะให้สารฟลาโวนอยดพอๆ กัน

โทษของการดื่มชา

ชานอกจากจะมีสารฟลาโวนอยด์ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระแล้ว ยังมีฟลูออไรด์ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อกระดูกและฟันด้วย แต่ถ้ามากร่างกายรับมากไปก็จะให้โทษ เพราะถ้าดื่มมากไปอาจจะเป็นอันตรายต่อฟัน ทำให้ฟันเป็นจุดขาวๆ และทำให้กระดูกเปราะได้

ปริมาณปกติของฟลูออไรด์ที่ได้รับจากอาหารคือ วันละ 0.5 มิลลิกรัม จากน้ำอีก 1.0 มิลลิกรัม โดยผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ผู้ชายรับปริมาณฟลูออไรด์วันละ 3.8 มิลลิกรัม และในผู้หญิง .1 มิลลิกรัม เพื่อป้องกันกระดูกและฟัน ดังนั้นการดื่มชาวันลละ 2 ถ้วยจึงไม่มีปัญหา

เพราะในแต่ละวันเรายังได้รับฟลูออไรด์จากยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากด้วย แม้กระทั่งเครื่องครัวเคลือบสารเทฟลอน แต่กว่าที่ฟลูออไรด์จะสะสมในเซลล์กล้ามเนื้อและทำอันตรายต่อร่างกายได้ จะต้องได้รับฟลูออไรด์ถึงวันละ 10 มิลลิกรัมเป็นเวลานานถึง 10 ปี



ดังนั้น การดื่มชาให้ได้ประโยชน์ที่สุด เพื่อสุขภาพและป้องกันโรค ไม่ว่าจะดื่มชาร้อนหรือชาเย็น ควรดื่มในปริมาณที่พอดีตามที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ นอกจากนี้การดื่มชาเพื่อสุขภาพก็ควรระวังเรื่องการเติมนม น้ำตาลหรือน้ำเชื่อมใดๆ เพราะถึงแม้การเติมน้ำตาลหรือนมไม่ได้ทำให้สารฟลาโวนอยด์ลดลง แต่เป็นการเพิ่มคาร์โบไฮเดรตและไขมันที่ไม่จำเป็นให้แก่ร่างกาย แทนที่การดื่มชาจะช่วยเรื่องสุขภาพการเติมน้ำตาลมากเกินไปอาจทำให้อ้วนและมีปัญหาโรคอื่นๆตามมา และผู้ป่วยที่เป็นโรคโลหิตจาง ไม่ควรดื่มชาพร้อมอาหาร เพราะสารพอลิฟีนอลจะไปลดการดูดซึมธาตุเหล็กในลำไส้ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น