สันนิษฐานการขนทรายเข้าวัดว่า แต่โบราณกาลมา คนไทยจะเดินไปไหนมาไหนด้วยเท้าเปล่า เมื่อเดินเข้าไปในวัด ซึ่งวัดในสมัยก่อนจะเทลานทรายไว้สำหรับทำเป็นลานให้พระสงฆ์เดินจงกรม เพื่อปฏิบัติสมาธิ อันเป็นคติมาแต่ศรีลังกา พุทธศาสนิกชนที่เข้าวัดอาจพลาดไปเดินเหยียบย่ำ แล้วมีเม็ดทรายติดเท้าออกมา ดังนั้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จึงขนทรายมาถวายวัด เพื่อไม่ให้เป็นการติดหนี้สงฆ์ ที่นำของสงฆ์ (คือทราย) ติดตัวไป โดยไม่ได้เจตนา
สำหรับการก่อเจดีย์ทรายนั้น เข้าใจว่าเป็นพุทธบูชา ไหน ๆ ก็หาทรายมาได้จำนวนมากเพื่อถวายวัดแล้ว จึงนำทรายมาก่อเป็นเจดีย์ เพื่อเป็นพุทธบูชา ในพระพุทธศาสนากล่าวถึงอานิสงส์แห่งการสร้างเจดีย์ไว้ว่า ผู้สร้างเจดีย์ไม่มีวันตกอบายภูมิ หลังจากสิ้นลมหายใจ จะเกิดใหม่เพียงภพภูมิของมนุษย์และเทวดาเท่านั้น ทุคติไม่ได้มีโอกาสไปเยือนเด็ดขาด
ประสมกับอานิสงส์แห่งการก่อเจดีย์ทรายที่กล่าวไว้ใน คัมภีร์อปทาน กล่าวถึงฤษีตนหนึ่งที่ล้มป่วยหนัก แล้วระลึกถึงพุทธคุณแห่งพระพุทธเจ้านามว่า “พระอัตถทัสสีพุทธเจ้า” แล้วนำทรายมาก่อเป็นเจดีย์ และสักการะด้วยดอกไม้และเครื่องหอมต่าง ๆ พอสิ้นใจก็เกิดเป็นมนุษย์ที่บริบูรณ์ไปด้วยสมบัติ และเทวดาที่มีทิพยสมบัติอันอุดม ไม่เคยไปสู่อบายภูมิอีกเลย