xs
xsm
sm
md
lg

5 วิธีรับมือ เพื่อนร่วมงาน ขี้เหวี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


5 วิธีรับมือ เพื่อนร่วมงาน ขี้เหวี่ยง

เพื่อนร่วมงาน เป็นหนึ่งในองค์ประกอบชีวิตที่ไม่ว่าใครก็ต้องมีรายล้อมอยู่รอบกาย แต่ก็ต้องมีบ้างล่ะ ที่ทำอะไรให้ขัดอกขัดใจ เกิดความขัดแย้งกันบ้าง บางคนเข้าใจและตั้งสติทันก็แยกย้าย บางคนใช้อารมณ์ก็กลายเป็นทำลายบรรยากาศที่ทำงานไปเสียหมด

เนื่องจากเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเบื้องลึกเบื้องหลังของเพื่อนร่วมงานแต่ละคนนั้นเจออะไรมาบ้าง เขาอาจมีปัญหาที่บ้าน มีความเจ็บป่วยบางอย่าง ซึ่งส่งผลต่อการทำงานและการสื่อสารในออฟฟิศ การที่เราเป็นฝ่ายเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับบรรดาเพื่อนขาเหวี่ยงจึงเป็นหนทางที่ดีที่สุด มาดูกันเลยว่ามีอะไรบ้าง

อย่าเก็บมาใส่ใจ

เมื่อไรที่ต่อมขี้วีนกำเริบ คนกลุ่มนี้มักจะเก็บอารมณ์ไม่ค่อยอยู่ จนอาจเผลอพูดบางคำ (หรือหลายคำ) ที่ทำร้ายจิตใจเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆโดยไม่ทันคิดหรือไม่ตั้งใจ (เพราะอารมณ์มันพาไป) เมื่อต้องทำงานร่วมกับเพื่อนขี้วีนจึงควรระลึกไว้เลยว่า อย่าเก็บคำพูดของคนเหล่านั้นมาคิดมากจนทำให้ตัวเองเครียด เหมือนกับที่ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ บอกไว้ในหนังสือ เคล็ดลับบำบัด เครียด(ฉบับใช้ได้ในชีวิตจริง) สำนักพิมพ์อมรินทร์ สุขภาพ ว่า

“ความเครียดในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายของงาน ถือเป็นความเครียดที่ขาดทุน เพราะแม้แต่ศาสดาของทุกศาสนายังเจอมารผจญ แล้วเราเป็นใครถึงคิดว่าจะหนีได้พ้น” คุณหมอประเสริฐจึงแนะนำว่า ถ้ารู้สึกเครียด เพราะเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายเมื่อไร ลองนั่งลงทบทวนตัวเองให้ดีก่อนว่า ความเครียดที่เรามีเกี่ยวอะไรกับเป้าหมายของงานหรือไม่ หากใช่ก็ควรรีบแก้ไข แต่ถ้าไม่ ควรเลิกสนใจเรื่องไม่เป็นเรื่องเหล่านั้น ก่อนที่ตัวเองจะกลายเป็นฝ่ายทุกข์เองค่ะ

เพื่อนร่วมงาน

คิดว่ากำลังฝึกความอดทน

เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากทำงานร่วมกับคนเจ้าอารมณ์ แต่เราจำเป็นต้องยอมรับก่อนว่า ในที่ทำงานทุกที่ย่อม มีคนหลายแบบปะปนกันไป การคาดหวังให้เพื่อนร่วมงานทุกคนมีนิสัยที่ถูกใจเราไปหมดจึงไม่มีทางเป็นไปได้

แบรนดอน  สมิธ (Brandon Smith) ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารงานในองค์กร และเจ้าของเว็บไซต์ the workplacetherapist.com กล่าวว่า

“เพื่อนร่วมงาน จะไม่มีทางลากคุณไปเป็นเหยื่อของความโมโหได้ ถ้าคุณ มีความอดทนมากพอที่จะไม่ไปปะทะคารมกับเขา

“บางครั้งการอยู่เฉยๆก็ดีกว่าการต่อความยาวสาว ความยืด คิดเสียว่าหน้าที่ของพนักงานทุกคนคือการ รับผิดชอบงานของตัวเองให้ดี ส่วนการที่คนอื่นจะ ปฏิบัติตัวตรงหรือไม่ตรงกับความพึงพอใจของเรานั้น ถือเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้”

ดังนั้น ใจเย็นๆเข้าไว้ พยายามเปลี่ยนความคิดของเราเอง และค้นหาข้อดีในตัว

ปรับความเข้าใจ

หากใครมองข้ามก็แล้ว อดทนก็แล้ว แต่กลายเป็นว่านับวันความขี้วีนของเพื่อนกลับยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนคนรอบข้างชักจะอยากเบือนหน้าหนี หนังสือ บอกลาตัวตนที่ไม่ดี สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ แนะนำว่า

การเปิดใจพูดคุยกันอย่างตรงไป ตรงมา (แต่สุภาพ) ด้วยกฎ “ฟัง 8 ส่วน : แนะนำ 2 ส่วน” เป็นอีกหนึ่งทางออกที่ดีของปัญหานี้ โดยเริ่มจากการเปิดใจรับฟังเรื่องราวของเพื่อน เพื่อให้เราเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดว่า อะไรคือสิ่งที่ผลักดัน ให้เพื่อนแสดงอารมณ์และพฤติกรรมออกมาแบบนั้น เพราะบางครั้งเขาอาจมีปัญหาเรื่องอื่นๆที่กำลังสุมอยู่ในชีวิต เช่น หนี้สิน คนที่บ้านป่วย หรือเรื่องอะไรก็ตาม จนทำให้เกิดความเครียด แต่ไม่รู้จะระบายอารมณ์อย่างเหมาะสมด้วยวิธีไหน

เมื่อได้รับรู้เรื่องราวทั้งหมดแล้วค่อยแนะนำให้เพื่อนร่วมงานปรับปรุงนิสัย โดยอย่าบังคับ ตำหนิซ้ำ หรือทำให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นตัวปัญหา แต่ให้ใช้คำพูดที่แสดงความหวังดี พร้อมกับย้ำถึงผลดีที่จะเกิดกับตัวเขาและการทำงาน วิธีนี้จะช่วยให้เพื่อนร่วมงานได้ผ่อนคลายอารมณ์ของตัวเอง และช่วยกระชับความสัมพันธ์ในที่ทำงาน ด้วยค่ะ

ช่วยเหลือเขา เมื่อมีโอกาส

“ผู้คนต้องการความช่วยเหลือ แต่ก็อาจโจมตีคุณ เวลาที่คุณช่วยเหลือเขาจริงๆ” เคนต์  เอ็ม.  คีธ (Kent M. Keith) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Anyway: The Paradoxical Commandments กล่าวไว้เช่นนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายครั้งคนเราอารมณ์ไม่ดี ขี้เหวี่ยง ขี้วีน เพียงเพราะรู้สึกว่าสิ่งต่างๆนั้นไม่ได้ดั่งใจ จึงต้องการขอความช่วยเหลือจากใครสักคน เพื่อให้มาช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

ข้อมูลจาก www.eHow.com เว็บไซต์ชั้นนำในด้านการให้คำปรึกษาบอกไว้ว่า การจัดการกับความขัดแย้งในที่ทำงานควรเริ่มจากการแสดงน้ำใจต่อกัน เพื่อลดช่องว่างในการทำงานเป็นทีม เมื่อเห็นเพื่อนร่วมงานกำลังหงุดหงิดหัวเสีย เราอาจเริ่มต้นการพูดคุยกับเขาด้วยประโยคคำถามที่แสดงน้ำใจ เช่น “ให้ฉันช่วยอะไรไหม” หรืออาจเขียนกระดาษโน้ต เล็กๆ เพื่อให้กำลังใจ หรือจะซื้อขนมมาฝากเพื่อแสดงความห่วงใยก็ได้ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เพื่อนร่วมงานอารมณ์ดีขึ้น และ อาการขี้วีนกำเริบน้อยลง

เพื่อนร่วมงาน

ใช้มุกตลก  สยบความวีน

ความจริงแล้วคนขี้วีนนับเป็นคนที่น่าสงสาร เพราะมักจะไม่มีใครชอบ ไม่มีใครอยากเข้าหาเขา ดังที่กรมสุขภาพจิตกล่าวว่า

“การเป็นคนเจ้าอารมณ์ โมโหฉุนเฉียว ง่าย จะส่งผลเสียต่อสัมพันธภาพ ทำให้คนคนนั้นขาด ความสุขและความมั่นคงทางจิตใจ”

แม้การอยู่ร่วมกับคนแบบนี้จะเป็นสิ่งที่หลายคน คิดว่าไม่ใช่เรื่องดีสักเท่าไร แต่หากเลี่ยงไม่ได้จริงๆ เช่น บังเอิญว่าคนคนนี้เป็นเจ้านายหรืออาจจะเป็นลูกค้าคนสำคัญ เราอาจจำเป็นต้องพยายามทำให้สถานการณ์ตึงเครียดน้อยลง ด้วยการทำให้บรรดาคนขี้วีนเหล่านี้หัวเราะเข้าไว้ หากนึกไม่ออก อาจยกเรื่องราวขำๆของตัวเอง มาเล่าให้ฟัง หรือเรื่องราวสัพเพเหระทั่วๆไป เพื่อช่วย สร้างบรรยากาศการทำงานให้ผ่อนคลายมากขึ้น

และเมื่อเราได้หัวเราะ ยังเท่ากับเป็นการกระตุ้นให้ต่อมพิทูอิทารีในสมองขับโกร๊ธฮอร์โมน ซึ่งเป็นการเพิ่มภูมิชีวิต ดังที่ อาจารย์สาทิส  อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต เคยกล่าวเอาไว้

เห็นไหมว่า แค่เริ่มจากปรับเปลี่ยนความคิดและมุมมองที่ตัวเรานิดหน่อย ช่วยลดความตึงเครียดจากความหงุดหงิดของเพื่อนร่วมงานได้เยอะทีเดียว ลองเอาไปใช้ดูนะคะ
กำลังโหลดความคิดเห็น