นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนนิยมบริโภคน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญมากขึ้น เนื่องจากเชื่อว่าน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญมีคุณภาพเท่ากับน้ำดื่มในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิท ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะน้ำดื่มในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิทมีการควบคุมคุณภาพจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ส่วนน้ำดื่มตู้หยอดเหรียญมีเพียงคำแนะนำในส่วนของคุณภาพน้ำดื่มของกรมอนามัยเท่านั้น ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงมีการสุ่มเก็บตัวอย่างจากตู้หยอดเหรียญทั่วประเทศจำนวน 2,000 ตัวอย่าง ใน 14 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ชลบุรี อุบลราชธานี อุดรธานี นครราชสีมา นครศรีธรรมราช สตูล เชียงใหม่ เชียงราย ตรัง สงขลา นครสวรรค์ พิษณุโลก และ สมุทรสาคร พบว่ามีน้ำดื่มไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 751 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 37.8 ซึ่งจังหวัดที่พบว่าค่าน้ำไม่ผ่านมาตรฐานมากกว่าร้อยละ 50 คือ อุดรธานี ตรัง และสุราษฎร์ธานี ส่วนจังหวัดที่ค่าไม่ผ่านมาตรฐานน้อยที่สุด ได้แก่ สงขลา ร้อยละ 12 ส่วน กทม.ค่าไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ร้อยละ 22 ทั้งนี้ สำหรับการตรวจมาตรฐานนั้นจะดูคุณภาพของน้ำ ตัวกรองน้ำ การปนเปื้อนของจุลินทรีย์ รวมไปถึงสถานที่ตั้งของตู้น้ำหยอดเหรียญ
นพ.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า ตู้น้ำหยอดเหรียญที่ไม่ผ่านมาตรฐานนั้น พบว่า ร้อยละ 26 มีการปนเปื้อนของสารเคมี ซึ่งมาจากสารแขวนตะกอนของตัวกรองน้ำส่งผลให้ค่าความเป็นกรด ด่าง ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน แต่ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ทำอันตรายต่อร่างกาย ขณะเดียวกัน ยังพบจุลินทรีย์ปนเปื้อน ร้อยละ 16 โดยพบเชื้อโคลิฟอร์มมากที่สุด ซึ่งเชื้อชนิดนี้บ่งบอกถึงความสะอาดของน้ำดื่มจากตู้ดังกล่าว ซึ่งหากได้รับเชื้อดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดอาการทางเดินอาหารภายใน 2-24 ชั่วโมง โดยจะมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ดังนั้น อยากขอให้ผู้ประกอบการใส่ใจผู้บริโภคด้วย โดยที่ควรจะมีกำหนดการเปลี่ยนตัวกรองน้ำในแต่ละตู้ มีการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ
นพ.นิพนธ์ กล่าวด้วยว่า การตรวจสอบดูว่าน้ำดื่มมีความปลอดภัยหรือไม่ ต้องอาศัยการสังเกตจากสี กลิ่น และรส รวมถึงปัจจัยแวดล้อมของสถานที่ที่ตั้งตู้น้ำดื่มว่าอยู่ในย่านชุมชน ถนน รวมถึงผู้ประกอบการน้ำดื่มมีการเปลี่ยนไส้กรองน้ำหรือไม่ การใช้ตู้น้ำหยอดเหรียญนั้น เหมาะสำหรับการปรุงอาหาร เนื่องจากความร้อนสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ แต่ไม่เหมาะกับการบริโภคทันที ควรผ่านการต้มเสียก่อนเพื่อความปลอดภัย
“น้ำต้นทางของตู้น้ำหยอดเหรียญที่มาจากน้ำประปานั้น ยืนยันว่า ต้นทางของน้ำมีความปลอดภัย แต่ต้องยอมรับระหว่างทางของน้ำมีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายอย่าง เช่น ท่อน้ำ ไส้กรองน้ำ หากน้ำสะอาดแต่ไส้กรองสกปรก ก็ทำให้ปลายทางของน้ำปนเปื้อนได้ ดังนั้น จึงควรเปลี่ยนไส้กรองน้ำทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี แม้แต่เครื่องกรองน้ำในครัวเรือนก็ควรมีการล้างทำความสะอาดเช่นกัน” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว
นางจุรีภรณ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ผู้บริโภคควรสังเกตสถานที่ตั้งของตู้น้ำโดยไม่ควรตั้งใกล้กับที่ทิ้งขยะ ดูความขุ่นของน้ำซึ่งหากมีสีขุ่นแสดงถึงการปนเปื้อนโลหะหนัก และน้ำดื่มสะอาดจะต้องไม่มีกลิ่น ส่วนขวดที่นำไปใส่น้ำก็ควรที่จะใช้ขวดแก้ว เพราะหากใช้ขวดพลาสติกอาจจะเกิดการกร่อนของพลาสติกแล้วร่วงหล่นลงในน้ำได้ สุดท้ายหากประชาชนยังไม่มั่นใจก็ควรนำน้ามาต้มก่อนที่จะดื่มทุกครั้ง