xs
xsm
sm
md
lg

อาหารปลอดภัย ไร้ยาปฏิชีวนะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัจจุบันการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มปศุสัตว์เป็นที่แพร่หลายมากในหลายประเทศ ส่งผลให้เกิดปัญหาจุลินทรีย์ดื้อต่อยาปฏิชีวนะที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญระดับโลก ในวันนี้ทีมเว็บไซต์ สสส. จะพาทุกท่านไปรู้จักกับยาปฏิชีวนะ ว่าคืออะไร และมีโทษอย่างไรหากเราได้รับสารเหล่านี้เข้าไปในร่างกาย
อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์เนื้อบางแห่งใช้ ‘ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านเชื้อแบคทีเรีย’ ในวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสัตว์ในยามเจ็บป่วย รวมไปถึงแอบใช้เพื่อเร่งการเติบโตของสัตว์ ซึ่งเชื้อแบคทีเรียบางชนิดในสัตว์ถูกทำลายไปได้ แต่บางชนิดนอกจากจะรอดแล้ว ยังข้ามสายพันธุ์ได้อีกด้วย
ซึ่งเชื้อที่รอดนี้แหละค่ะ จะแฝงอยู่ในมูลสัตว์ที่เอาไปทำเป็นปุ๋ย เนื้อสัตว์ที่เรารับประทาน และตกค้างในสิ่งแวดล้อม หากเรารับประทานเนื้อสัตว์หรือผักเหล่านั้นเข้าไปสะสมในร่างกายมากๆ เมื่อร่างกายอ่อนแอ ก็จะมีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อแบคทีเรียดื้อยาได้ง่าย ซึ่งในขณะนี้โรงพยาบาลอาจมียาต้านแบคทีเรียเหลือเพียงไม่กี่ชนิดที่รักษาได้ผล ถ้าเกิดโรคลุกลามรุนแรงขึ้น ยาต้านเชื้อแบคทีเรียรักษาไม่ได้จะส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด
ในปัจจุบันองค์การอนามัยโลก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และองค์การสุขภาพสัตว์โลก ต่างออกมาเรียกร้องให้มีการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะ รวมไปถึงลด ละ เลิกใช้ยาปฏิชีวนะในการกระบวนการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหาร เพราะเป็นสาเหตุสำคัญในการทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากภาวะติดเชื้อและการเจ็บป่วยเล็กน้อยซึ่งเคยรักษาได้ในอดีต
อาหารปลอดภัย ไร้ยาปฏิชีวนะ thaihealth

เพราะในรายงานการทบทวนวรรณกรรมของรัฐบาลสหราชอาณาจักรแสดงให้เห็นว่ามีผู้เสียชีวิตจากการดื้อยาทั่วโลกถึง 700,000 รายต่อปี และในส่วนประเทศไทยมีรายงานในวารสารวิจัยระบบสาธารสุขเมื่อปี พ.ศ. 2555 และบทความของสำนักงานสารสนเทศและประชาสัมพันธ์ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าคนไทยมีการเจ็บป่วย เพราะอาการติดเชื้อกว่า 100,000 คนต่อปี และเสียชีวิตถึง 38,481 รายต่อปี ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล
ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงให้ความสำคัญในเรื่องเชื้อดื้อยา ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-64 โดยตั้งเป้าหมายลดการป่วยเชื้อดื้อยาให้ได้ 50% ลดการใช้ยาต้านแบคทีเรียในคน 20% และในสัตว์ 30% ทั้งนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยใช้ 6 ยุทธศาสตร์การดำเนินงาน ได้แก่ 1.ระบบข้อมูลเพื่อเฝ้าระวังเชื้อดื้อยา ทั้งในคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม 2.ควบคุมการกระจายของยาปฏิชีวนะ 3.ควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลในสถานพยาบาลและร้านยา 4.ป้องกันควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยง 5.สร้างความตระหนักรู้ของประชาชน และ 6.พัฒนากลไกการจัดการแบบบูรณาการ
อาหารปลอดภัย ไร้ยาปฏิชีวนะ thaihealth

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในฐานะ “ผู้บริโภค” เราทุกคนมีสิทธิได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย ดังนี้
1.สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการโฆษณาหรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริงและปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภครวมตลอดถึงสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอย่างถูกต้องและเพียงพอที่จะไม่หลงผิดในการซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม
2.สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยความสมัครใจของผู้บริโภคและปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม
3.สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัยมีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายหรือทรัพย์สิน ในกรณีใช้ตามคำแนะนำหรือระมัดระวังตามสภาพของสินค้าหรือบริการนั้นแล้ว
4.สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ
5.สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและชดใช้ค่าเสียหาย เมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามข้อ 1, 2, 3 และ 4 ดังกล่าว
เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ให้ลดความเสี่ยงและป้องกันอันตรายจากการใช้ยาปฏิชีวนะ แผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับ สสส. และภาคีที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันให้ข้อมูล ความรู้ และส่งเสริมให้ประชาชนใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล เราปลอดภัย คนรอบข้างปลอดภัย “ลด ละ เลิก ใช้ยาปฏิชีวนะ” กันนะคะ
กำลังโหลดความคิดเห็น