xs
xsm
sm
md
lg

รสชาติอาหาร ตัวการก่อโรค : วิธีบริโภคไม่ให้เกิดโรคแก่ร่างกาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อาหารที่เรารับประทานทุกวัน หากจะให้มีความอร่อยกลมกล่อม จำเป็นจะต้องผ่านการปรุงรสชาติ ไม่ว่าจะเป็น เปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด แต่รสชาติที่ได้ถูกปรุงสำเร็จมาแล้วนั้น เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันดีต่อสุขภาพเราหรือเปล่า เรามีคำตอบให้

หลักการเลือกรสชาติของอาหารและข้อควรระวัง

รสชาติอาหาร ตัวการก่อโรค : วิธีบริโภคไม่ให้เกิดโรคแก่ร่างกาย

รสเปรี้ยว

รสเปรี้ยวมีสรรพคุณในการพยุง เหนี่ยวรั้ง หยุด ระงับการหลั่งเหงื่อ ระงับการปล่อยสารคัดหลั่งต่างๆ การหยุดเลือด คนที่มีภาวะของตับเลือดพร่องให้กินของเปรี้ยวได้เพิ่มขึ้น แต่ถ้าเป็นโรคตับ (ภาวะของตับพร่องมากแล้ว) ห้ามกินของเปรี้ยวโดยเด็ดขาด

รสเปรี้ยว นอกจากจะได้จากผลไม้บางชนิด เช่น มะนาว มะกรูด มะขาม มะม่วงดิบ สับปะรดแล้ว ยังได้จากสารสังเคราะห์ที่เรารู้จักกันดีนั่นคือ น้ำส้มสายชู ทั้งนี้ ความเปรี้ยวที่ได้จากธรรมชาติ เช่น ผลไม้ต่างๆ ไม่ค่อยมีอันตรายต่อร่างกายมากนัก แต่หากบริโภคมากเกินไปก็เป็นอันตรายเช่นกัน

โรคที่มากับอาหารรสเปรี้ยว มีดังต่อไปนี้คือ

1.ท้องร่วง การกินอาหารรสเปรี้ยวมากเกินไปมักทำให้ท้องเสีย ร้อนใน และระบบน้ำเหลืองในร่างกายมีปัญหา จึงทำให้บาดแผลหายช้า

2.กระดูกผุ ความเปรี้ยวที่ได้จากน้ำส้มสายชู แม้จะช่วยขจัดกลิ่นคาวและลดแบคทีเรียในอาหาร แต่ถ้ากินมากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อภาวะกระดูกได้ ดังนั้น ถ้าต้องการได้รสเปรี้ยวจากน้ำส้มสายชู จึงควรใส่แต่น้อย

รสชาติอาหาร ตัวการก่อโรค : วิธีบริโภคไม่ให้เกิดโรคแก่ร่างกาย

รสเผ็ด

รสเผ็ดมีสรรพคุณ กระจาย แผ่ซ่าน ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ความเผ็ดของรสชาติอาหารช่วยให้การทำงานของปอดและลำไส้ใหญ่เป็นไปตามปกติ คนที่ภาวะปอดอ่อนแอ ควรกินอาหารรสเผ็ดให้มากหน่อย แต่ถ้าเป็นโรคปอด (ภาระปอดพร่องมากแล้ว) ห้ามกินของเผ็ดโดยเด็ดขาด

รสเผ็ดช่วยให้เรารับประทานอาหารได้มากกว่าปกติ แถมช่วยขับเหงื่อ ขับลมในกระเพาะอาหารและลำไส้ แก้อาการจุก เสียด แน่น เฟ้อ ช่วยในการขับเสมหะ ทำให้จมูกโล่งเวลาเป็นหวัด ช่วยลดความดันและไขมันในโลหิตได้อีกด้วย กระนั้น อาหารรสเผ็ด หากบริโภคมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน

โรคที่แฝงมากับการกินอาหารรสเผ็ดมีดังต่อไปนี้คือ

1.กรดในกระเพาะอาหาร การกินอาหารเผ็ดทำให้เกิดกรดในกระเพราะอาหาร คนกินเผ็ดจึงมักมีอาการท้องขึ้นและอึดอัด รู้สึกแสบและคันรูทวารหนัก และมีอาการอ่อนเพลียอยู่เสมอ

2.สิว คนที่เป็นสิวหรือมีอาการอักเสบของต่อมไขมัน ไม่ควรรับประทานอาหารรสเผ็ดโดยเด็ดขาด เพราะความเผ็ดจะทำให้ต่อมไขมันทั่วร่างกายทำงานหนักกว่าปกติ จึงทำให้เกิดสิวได้ง่าย

3.อาจทำให้อ้วน เป็นที่ทราบกันดีว่า อาหารรสเผ็ด ทำให้เรามีความอยากกินอาหารมากขึ้น ยิ่งกินเยอะก็จะยิ่งทำให้เป็นโรคอ้วนตามมา ดังนั้นใครที่ไม่อยากอ้วนควรหลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ด

4.โรคไต นอกจากพริกแล้ว อาหารรสเผ็ดจำพวกเครื่องแกงมักมีส่วนผสมของเกลือ กะปิ ผงชูรสซึ่งมีโซเดียมอยู่ในปริมาณมาก การกินอาหารที่มีส่วนผสมของเครื่องแกงเสี่ยงต่อการเป็นโรคไต ความดันโลหิตสูง ไปด้วย

5.โรคหัวใจ อาหารที่มีรสเผ็ดมีฤทธิ์การกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ทำให้หัวใจทำงานหนัก คนชอบกินอาหารรสเผ็ดจึงเป็นการเพิ่มความเสียงต่อโรคหัวใจโดยไม่รู้ตัว

รสชาติอาหาร ตัวการก่อโรค : วิธีบริโภคไม่ให้เกิดโรคแก่ร่างกาย

รสหวาน

รสหวานมีสรรพคุณ บำรุงเสริมสร้าง ลดการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อ ลดอาการปวด คนที่ระบบการย่อยอ่อนแอ พลังม้ามบกพร่อง ให้กินอาหารรสหวานมากหน่อย น้ำตาลจัดอยู่ในอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงานต่อร่างกายในทันทีที่กินเข้าไป ซึ่งส่งผลให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่าอย่างรวดเร็ว หากร่างกายไม่สามารถควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดให้คงที่ ปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำกว่าปกติ อาจทำให้เป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน และมีอัตราเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้ แต่ถ้าเป็นโรคที่เกี่ยวกับการย่อยอาหารอ่อนแอมากๆ โรคเกี่ยวกับเอ็น ไม่ควรกินของหวานจัด

โรคที่แฝงมากับการกินอาหารรสหวานมีดังต่อไปนี้คือ

1.หวานมากไปทำให้อ้วน ไม่ว่าจะเป็นขนมหวาน หรืออาหารรสหวานจัดต่างๆ เมื่อกินเข้าไปมากๆอาจทำให้ร่างกายได้รับพลังงานมากเกินไปและทำให้อ้วน

2.อาหารหวานทำให้ความอยากอาหารลดลง การกินอาหารรสหวานมากเกินไปจะทำให้เรารู้สึกอิ่ม (สังเกตได้จากเวลากินน้ำหวาน หรือขนมหวาน เราจะไม่รู้สึกหิวข้าว) อีกทั้งยังทำให้รู้สึกขี้เกียจ ง่วงนอน มีเสมหะในลำคออีกด้วย ทั้งนี้น้ำตาลและความหวานยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคไฮโดไกลซีเมียอีกด้วย (ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นิตยาสารชีวจิต ฉบับที่ 157 วันที่ 16 เมษายน 2548 หน้า 22-27) ดังนั้นจึงไม่ควรกินอาหารรสหวานก่อนกินอาหารมื้อหลัก เพราะจะทำให้ร่างกายกินได้น้อยลง

3.เบาหวาน อาหารรสหวานนับว่าเป็นอันตรายสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะเมื่อรับประทานเข้าไปมากๆจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขาดความสมดุล จึงทำให้ตับอ่อนผลิตอินซูลินออกมามากกว่าปกติเพื่อกำจัดปริมาณน้ำตาลในเลือด ยิ่งคนเป็นเบาหวานกินหวานมากเท่าไรก็จะยิ่งให้ตับอ่อนทำงานหนัก และเป็นอันตรายมากเท่านั้น อีกทั้งความหวานยังทำให้เกิดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคไต และ ฟันผุ อีกด้วย

รสชาติอาหาร ตัวการก่อโรค : วิธีบริโภคไม่ให้เกิดโรคแก่ร่างกาย

รสเค็ม

รสเค็มมีสรรพคุณ ช่วยการสลายทำให้นิ่ม (สลายก้อนแข็ง) ช่วยระบาย แก้ท้องผูก คนที่มีไตพร่อง (ร้อนใน คอแห้ง ท้องผูก เหงื่อออกตามมือ, เท้า ปอด เมื่อยเอว สมรรถภาพทางเพศลดลง) ให้กินอาหารรสเค็มมากหน่อย โซเดียมเป็นส่วนประกอบสำคัญของเกลือ ทำหน้าที่สำคัญในการควบคุมความสมดุลของของเหลวในร่างกาย รักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ช่วยควบคุมระดับความเป็นกรด- ด่างของเลือด แม้ว่าร่างกายจะผลิตเกลือเพียงน้อยนิด แต่เราก็ไม่เคยขาดเกลือ เพราะร่างกายมีระบบที่สามารถเก็บเกลือไว้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังปรับตัวต่อปริมาณเกลือที่ลดลงได้ อีกทั้ง เกลือ ยังมีอยู่ในผัก ผลไม้ เครื่องปรุงรสต่างๆ แต่ถ้าเป็นโรคที่เกี่ยวกับไต (ไตอ่อนแอมากแล้ว) หรือโรคเลือด ห้ามกินของเค็ม

โรคที่แฝงมากับการกินอาหารรสเค็มมีดังต่อไปนี้คือ

1.ร้อนใน กระหายน้ำ การกินเค็มจัดจะทำให้ระบบการดูดซึมอาหารในร่างกายทำงานหนัก ร่างกายที่ได้รับโซเดียมสูงกว่าปกติจะพยายามจะขับเกลือทิ้งออกทางเหงื่อ ปัสสาวะ จึงทำให้รู้สึกกระหายน้ำ ร้อนใน รู้สึกแสบคอ ยิ่งกินเค็มมากๆอาจทำให้อาเจียน ท้องเดิน หรือเกิดอาการบวมน้ำได้

2.ภาวะขาดน้ำ สำหรับเด็กและทารกซึ่งไตยังไม่สามารถขับถ่ายโซเดียมส่วนเกินได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าผู้ใหญ่ การกินอาหารรสเค็มมากเกินไปอาจยิ่งเพิ่มภาวะเสี่ยงต่อการมีโซเดียมสะสมในร่างกาย และอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรงได้

3.ความดันโลหิตสูง แพทย์และนักโภชนาการเชื่อว่ารสเค็มจะทำให้ร่างกายมีการเก็บกักน้ำเพื่อการสร้างความสมดุล จึงทำให้เลือดในร่างกายไหลเวียนช้า การคั่งของโซเดียมในร่างกายจึงทำให้ความดันโลหิตสูง ตามมา
กำลังโหลดความคิดเห็น