1. ไม่วางแผนการใช้เงิน
เชื่อว่าหลายคนไม่เคยวางแผนการใช้เงินในแต่ละเดือน และไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องทำ เมื่อมีรายได้จากการทำงานหรือได้รับเงินจากคุณพ่อ คุณแม่มาเท่าไร ก็ใช้จ่ายไปอย่างเต็มที่ อยากทานอะไร อยากได้อะไรก็ซื้อทันที พอรู้ตัวอีกทีก็ตอนสิ้นเดือนซึ่งเงินเริ่มไม่พอใช้แล้ว จึงต้องหาทางประหยัดค่าใช้จ่ายหรือไม่ก็ต้องขอเงินคุณพ่อ คุณแม่เพิ่มเติมให้เป็นภาระท่านอีก
จะดีกว่าไหมหากเรารู้จักวางแผนการใช้เงินตั้งแต่ต้นเดือน โดยเริ่มจากการออมก่อนใช้อย่างน้อย 20% ของรายได้เพื่อให้มีเงินเก็บ ส่วนเงินที่เหลือก็ให้คำนวณออกมาว่าจะต้องใช้สัปดาห์ละเท่าไร หากคิดเป็นรายวัน ควรใช้วันละเท่าไรจึงจะเพียงพอต่อการใช้ใน 1 เดือน วิธีนี้นอกจากจะช่วยให้มีเงินใช้เพียงพอในแต่ละเดือนแล้ว ยังช่วยให้เรามีเงินเก็บทุกเดือนอีกด้วยค่ะ
4 พฤติกรรมที่ทำให้ไม่มีเงินเก็บ รู้แล้วเลี่ยงด่วน !
2. ใช้จ่ายเงินเกินตัว
การใช้จ่ายเงินเกินตัวถือเป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมที่ทำให้ไม่มีเงินเก็บ หลายคนใช้เงินเกินรายได้หรือรายรับที่เข้ามา เช่น ซื้อสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ซื้อของใช้แบรนด์เนม พวกเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เครื่องสำอาง ชอบไปเที่ยวสังสรรค์ ทานอาหารนอกบ้านในร้านหรู ๆ หรือชอบดื่มชา กาแฟราคาแพง เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพราะเป็นห่วงเรื่องภาพลักษณ์ หน้าตา และต้องการการยอมรับในสังคม
แต่หารู้ไม่ว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นตัวผลาญเงินในกระเป๋าอย่างดี และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เราไม่มีเงินเก็บ ดังนั้นลองหาทางปรับลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยในส่วนนี้ลง และพยายามใช้จ่ายเงินในชีวิตประจำวันให้เหมาะสมกับรายได้ที่ได้รับก็จะช่วยให้เรามีเงินเก็บค่ะ
4 พฤติกรรมที่ทำให้ไม่มีเงินเก็บ รู้แล้วเลี่ยงด่วน !
3. ใช้บัตรเครดิตไม่เป็น
บัตรเครดิตเปรียบเสมือนดาบสองคม หากใช้เป็นก็จะเกิดประโยชน์กับเรามากมาย แต่ถ้าใช้บัตรไม่เป็นก็เป็นตัวบ่อนทำลายสถานะการเงินของเราได้เช่นกัน บางคนใช้บัตรเครดิตรูดซื้อสินค้าตามใจ โดยไม่ได้คิดถึงว่าเมื่อครบกำหนดชำระแล้วจะมีเงินไปจ่ายเต็มจำนวนหรือไม่ ซ้ำร้ายกว่านั้นคือ บางคนคิดว่าหากไม่มีเงินจ่ายเต็มจำนวนก็ไม่เป็นไร ใช้วิธีผ่อนจ่ายขั้นต่ำ 10% เอาก็ได้ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดค่ะ เพราะเท่ากับว่าเรายอมเป็นหนี้ และยอมจ่ายดอกเบี้ยสูงถึง 20% ต่อปี นอกจากจะไม่มีเงินเก็บแล้วยังมีหนี้มาให้ปวดหัวอีกต่างหาก
ดังนั้นต้องรู้จักใช้บัตรเครดิตให้เป็น โดยท่องไว้ให้ขึ้นใจว่า รูดบัตรไปเท่าไรต้องหาเงินมาชำระให้ตรงเวลาและเต็มจำนวนเท่านั้น
4. ไม่มีเป้าหมายในการเก็บเงิน
หลายคนใช้จ่ายเงินไปวัน ๆ โดยไม่มีเป้าหมายในการเก็บเงิน ไม่รู้ว่าจะต้องเก็บเงินไปทำไม หรือต้องเก็บเงินเดือนละเท่าไรจึงจะถึงเป้าหมาย เลยไม่คิดที่จะเก็บเงิน หรือเรียกว่าไม่มีแรงจูงใจในการเก็บเงินก็ว่าได้ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราไม่มีเงินเก็บ ในทางกลับกันหากเรามีเป้าหมายในการเก็บเงิน เช่น ตั้งใจจะเก็บเงินจำนวน 200,000 บาท เพื่อเรียนต่อปริญญาโทในอีก 2 ปีข้างหน้า คราวนี้เราก็รู้แล้วว่าจะต้องเก็บเงินไปเพื่ออะไร ทำให้มีแรงจูงใจในการเก็บเงินมากขึ้น และสามารถคำนวณได้ว่าต้องเก็บเงินเดือนละเท่าไรจึงจะมีเงินไปเรียนต่อตามที่ตั้งใจไว้
ช่วงวัยเรียนหรือเพิ่งเริ่มต้นทำงาน เงินเก็บที่มีอาจจะน้อยหรือยังเก็บเงินไม่ค่อยได้ก็อย่าเพิ่งกังวลไป ถ้าเรามีความมุ่งมั่นตั้งใจเก็บเงิน สามารถหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ไม่มีเงินเก็บ หรือเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินที่ไม่ดีตามที่กล่าวไว้ข้างต้นได้ รับรองว่าเราจะมีเงินเก็บไว้ใช้ในอนาคตอย่างแน่นอน หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาวางแผนเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับที่ปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com และ เว็บบอร์ด K-Expert ซึ่งจัดทำขึ้นผ่านทางเว็บไซต์ www.askKBank.com/K-Expert และติดตามข่าวสารการเงินได้ที่ Twitter@KBank_Expert