เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าทำไมในวินาทีแรกที่เรารู้สึกตื้นตันใจกับช่วงเวลาสำคัญ อย่างเช่น ตอนถูกขอแต่งงาน ตอนสอบติดเอนทรานซ์ ตอนรับปริญญา หรือตอนให้กำเนิดเจ้าตัวเล็ก บางครั้งก็ทำเรามีน้ำตาด้วยทั้งที่ไม่ได้เศร้าซะหน่อย และที่แปลกไปกว่านั้นก็คือ ทุกครั้งที่ย้อนกลับไปนึกถึงช่วงเวลาดี ๆ เหล่านี้ อาการตื้นตันใจก็กลับมาได้เสมอ สาเหตุจะเป็นเพราะอะไรนั้น ข้อมูลจากในเว็บไซต์ health.com มีคำตอบรอให้เราอ่านอยู่ตรงนี้แล้ว
ผลการวิจัยล่าสุดที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Psychological Science ของสหรัฐอเมริกา เผยให้เรารู้ว่า ถ้าสมองเกิดการรับรู้อารมณ์ด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ร่างกายก็จะมีปฏิกิริยาตอบสนองกับอารมณ์นั้นด้วยการหลั่งน้ำตาออกมา ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย ในทางกลับกันหากเราไม่ได้รู้สึกอะไรมากกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ปฏิกิริยาดังกล่าวก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดจากกระบวนการปรับสมดุลอารมณ์ของสมองที่เรียกว่า “Emotional Equilibrium”
Oriana Aragon นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเยล ได้ทำการทดลองเพื่อพิสูจน์ว่าทฤษฎีข้อนี้เป็นความจริง โดยให้กลุ่มอาสาสมัครทั้งหมด 679 คน ดูรูปภาพในช่วงเวลาแห่งความสุข ได้แก่ ภาพเด็กแรกเกิด ภาพงานรวมรุ่น และภาพงานแต่งงาน แล้วบอกเล่าความรู้สึกที่มีต่อภาพนั้น ๆ ผลการทดลองปรากฏว่า อาสาสมัครส่วนใหญ่มีปฏิกิริยาตอบสนองกับภาพที่เห็นต่างกันเล็กน้อย นั่นคือ อาสาสมัครบางรายมองภาพแล้วแค่ยิ้ม ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะอาสาสมัครบางคนก็ไม่เคยมีประสบการณ์ในช่วงเวลานั้น ๆ แต่รับรู้ได้ว่านี่เป็นภาพที่น่ายินดี ขณะที่บางรายแสดงอาการตื้นตันใจออกมาอย่างเห็นได้ชัดก็เป็นเพราะพวกเขานึกย้อนไปถึงช่วงเวลาในภาพที่เคยเกิดขึ้นกับตัวเขามาก่อนนั่นเอง
เห็นได้ว่าสมองของเราจดจำเรื่องราวต่าง ๆ ที่เราประสบพบเจอมาได้อย่างแม่นยำ จึงทำให้เรามีปฏิกิริยาบางอย่างต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี ไม่ว่าเหตุการณ์ที่เคยผ่านเข้ามาในชีวิตจะดีหรือร้ายแค่ไหนก็อย่าจมอยู่กับอดีตนานเกินไปนัก เปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ ในแต่ละวันจะดีกว่านะคะ แล้วชีวิตคุณก็จะมีสีสันขึ้นอีกเยอะเลยล่ะ