xs
xsm
sm
md
lg

รร.จปร. กับเรื่องราวกว่าหนึ่งศตวรรษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เป็นนามที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ขนานนามโรงเรียนนายร้อยทหารบก ในกระทรวงกลาโหม เป็น "โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า" เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 องค์พระผู้พระราชทานกำเนิดสถาบันการศึกษาแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 ขณะมีพระชนมายุ 15 พรรษา พระองค์ทรงสนพระทัยในกิจการทหารทุกประเภท ประกอบกับในครั้งนั้นมีบุตรราชตระกูลและข้าราชการที่มีอายุอยู่ในวัยเยาว์เข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังชั้นในหลายคนด้วยกัน

พ.ศ.2411 จัดตั้ง "ทหารมหาดเล็กไล่กา" ในชั้นแรกมีจำนวนประมาณ 12 คน ทำหน้าที่ไล่กาที่บินมารบกวนข้าวสุกในเวลาทรงบาตร และได้จัดตั้งบอร์ดีการ์ดขึ้น 24 คน โดยทรงเลือกจากทหารมหาดเล็กข้าหลวงเดิม และเรียกกันว่า "ทหาร 2 โหล"

พ.ศ.2413 จัดตั้ง"กองทหารมหาดเล็ก" โดยคัดเลือกบุคคลจากมหาดเล็กหลวงได้จำนวน 72 คน และได้รวมทหาร 2 โหล เข้าสมทบอยู่ในพวกใหม่นี้ด้วย

พ.ศ.2414 เมื่อทรงจัดการทหารมหาดเล็กพอมีหลักฐานเรียบร้อยขึ้นแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ขนานนามกองทหารมหาดเล็กนี้ว่า "กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์"

พ.ศ.2415 จัดตั้งโรงเรียนขึ้นในกรมทหารมหาดเล็ก เพื่อสอนวิชาภาษาอังกฤษและภาษาไทย เรียกสถานศึกษาว่า "คะเด็ตทหารมหาดเล็ก" ส่วนนักเรียนเรียกว่า "คะเด็ต" ใช้เวลาศึกษา 2 ปี นักเรียนเหล่านี้นอนตามระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พ.ศ.2424 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนสำหรับทหารหน้าขึ้น จึงกำเนิด "คะเด็ตทหารหน้า" ขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่วังสราญรมย์ มีนักเรียนจำนวน 40 คน เรียกนักเรียน เหล่านี้ว่า "คะเด็ตทหารหน้า"

8 เม.ย. 2430 ให้รวมกรมทหารทั้ง 9 กรมได้แก่ กรมทหารบก 7 กรม ทหารเรือ 2 กรม เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เรียกว่า "กรมยุทธนาธิการ"

5 ส.ค. 2430 โปรดเกล้าฯให้รวมคะเด็ตทหารมหาดเล็ก คะเด็ตทหารหน้า นักเรียนแผนที่และส่วนที่เป็นทหารสก็อต (ทหารมหาดเล็กรุ่นเยาว์สำหรับแห่โสกันต์) เข้าด้วยกันและใช้ชื่อรวมว่า "คะเด็ตสกูล" (ภาษาอังกฤษ)
โดยใช้พื้นที่บริเวณหลังพระราชวังสราญรมย์และพระราชทานกำเนิดเป็น "โรงเรียนทหารสราญรมย์" เนื่องในวันสำคัญนี้จึงถือเป็นวันพระราชทานกำเนิด แหล่งผลิตนายทหารหลักให้แก่กองทัพบก

6 ต.ค. 2440 ได้รวมกองโรงเรียนนายสิบ เข้ามาสมทบอยู่ในโรงเรียนไทหารสราญรมย์ และเรียกชื่อใหม่ว่า "โรงเรียนสอนวิชาทหารบก"

พ.ศ.2441 จัดตั้งกรมเสนาธิการ ขึ้นตรงกับกรมยุทธนาธิการ และต่อมาได้จัดตั้งกรมยุทธศึกษาขึ้นตรงกับกรมเสนาธิการ โดยให้มีหน้าที่อำนวยการสอนแต่อย่างเดียวและตราข้อบังคับใหม่เรียกว่า "ข้อบังคับโรงเรียนทหารบก" และได้เปลี่ยนนามโรงเรียนเป็น "โรงเรียนทหารบก" เมื่อ 27 พ.ย. 2441

พ.ศ.2445 เนื่องจากโรงเรียนทหารบกที่ตั้งอยู่ริมวังสราญรมย์ ซึ่งให้การศึกษาในระดับประถมศึกษา มีจำนวนนักเรียนมากขึ้นจนสถานที่เดิมแคบลง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายโรงเรียนมาตั้งที่ถนนราชดำเนินนอก มีพื้นที่ 30 ไร่เศษและขยายการศึกษา เพิ่มเป็นระดับมัธยมศึกษา

11 พ.ย. 2451 โรงเรียนนายร้อยทหารบก ได้รับพระราชทานธงชัยเฉลิมพลประจำกองโรงเรียนนายร้อยทหารบกชั้นมัธยมและโรงเรียนนายร้อยทหารบกชั้นประถม แสดงว่านักเรียนนายร้อยไม่เพียงเรียนได้ดีเท่านั้น ยังเป็นนักเรียนที่สามารถออกศึกสงคราม เช่นเดียวกับทหารบกทั้งปวง และเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย

26 ธ.ค. 2452 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเปิดโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมอย่างเป็นทางการ

พ.ศ.2468 อันเป็นสมัยที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ทำให้ต้องจัดการย้ายโรงเรียนนายร้อยทหารบกชั้นประถม จากบริเวณหลังพระราชวังสราญรมย์ เข้ามารวมกันที่โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม ถนนราชดำเนินนอก เรียกว่า "โรงเรียนนายร้อยทหารบก" และให้ยกเลิก ชั้นประถม และมัธยม

26 มี.ค. 2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานกระบี่และรางวัล แก่นักเรียนนายร้อยทหารบกที่สำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุดทุกคนเป็นครั้งแรกตลอดจนถึงรัชกาลปัจจุบัน มีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชทานกระบี่เป็นประจำทุกปี

พ.ศ.2477 กรมยุทธศึกษาได้มีการปรับปรุงและจัดระเบียบใหม่ ทั้งบุคคลและหน่วยงาน จึงได้มีการจัดตั้ง "โรงเรียนเท็ฆนิคทหารบก" มีหน้าที่ฝึกอบรมนักเรียนที่จะเป็นนายทหารสัญญาบัตร เหล่าทหารปืนใหญ่ ทหารช่าง ทหารสื่อสาร ทหารช่างแสง และช่างอากาศ สำหรับโรงเรียนนายร้อยทหารบก มีหน้าที่ฝึกอบรมนักเรียนที่จะเป็นนายทหารสัญญาบัตร เหล่าทหารราบ ทหารม้า และนายตำรวจ

3 พ.ค.2489 ยุบโรงเรียนเท็ฆนิคทหารบก และแผนกตำรวจในกรมยุทธศึกษาทหารบก และเปลี่ยนชื่อกรมยุทธศึกษาทหารบก เป็น "โรงเรียนนายร้อยทหารบก" และให้ขึ้นตรงต่อกองทัพบก

1 ม.ค. 2491 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ขนานนามโรงเรียนนายร้อยทหารบก ว่า "โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า" เขียนเป็นอักษรโรมันว่า "Chulachomklao Royal Military Academy" เพื่อเป็นอนุสรณ์และเฉลิมพระเกียรติ ในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นผู้ก่อกำเนิด และได้ดำเนินกิจการเป็นประโยชน์ แก่ประเทศชาติมาด้วยดี

ธ.ค. 2523 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริให้โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ย้ายมาตั้งอยู่ที่บริเวณเขาชะโงก อำเภอเมือง ต่อกับอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก พื้นที่ประมาณ 21,000 ไร่เศษ และได้เริ่มโครงการก่อสร้าง

29 ก.ค. 2529 เคลื่อนย้ายนักเรียนนายร้อย และข้าราชการ ออกจากที่ตั้งเดิม เข้าสู่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ณ ที่ตั้งแห่งใหม่ จังหวัดนครนายก
กำลังโหลดความคิดเห็น