ผู้อ่านนิตยสารหมอชาวบ้าน อยากทราบว่ามีวิธีการกินยาอย่างไรไม่ให้เป็นโรคไต เพราะบางคนก็กินยากันขนาน แล้วจะสังเกตอาการโรคไตด้วยตนเองอย่างไรบ้าง วันนี้ นพ.นัฐสิทธิ์ ลาภปริสุทธิ มีข้อแนะนำมาบอกค่ะ
ปัจจุบันเราได้นำยาหลายชนิดมารักษาความเจ็บป่วย ยาบางชนิดแม้มีผลการรักษาที่ดีแต่ก็มีโทษต่อไต โดยเฉพาะยาที่สามารถหาซื้อได้ง่ายและมีผลเสียต่อไตเป็นอย่างมาก เช่น ยาแก้ปวดลดการอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (โอบูโพรเฟน ไตโคฟีแนก ซีลีคอกซิบ) ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคืองทำให้เกิดอาการบวม ความดันโลหิตสูง และไตทำงานลดลงด้วย จึงควรใช้ยาปริมาณน้อยที่สุด และใช้ระยะเวลาสั้นที่สุด สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคไตอยู่แล้ว ควรเลี่ยงการใช้ยากลุ่มนี้
ส่วนยากลุ่มที่เป็นพืชสมุนไพร ซึ่งมีการโฆษณาอย่างแพร่หลายในปัจจุบันนั้น สามารถตรวจพบผลข้างเคียงต่อไตจากการแพ้ยาได้เช่นกัน และยากลุ่มสมุนไพร ยังขาดการตรวจสอบมาตรฐานการผลิต ซึ่งอาจทำให้ส่วนประกอบสำคัญทางยาเปลี่ยนแปลงไป หรืออาจปนเปื้อนสารโลหะหนักที่เป็นพิษต่อไต ดังนั้นเมื่อใช้ยากลุ่มนี้จึงควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง เพื่อจะได้ระมัดระวังถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นได้
อย่างไรก็ดี ไม่อยากให้กลัวการใช้ยาไปเสียทั้งหมด ยาที่ใช้ควบคุมความดันโลหิตสูงและเบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ สามารถชะลอความเสื่อมของไตได้ ดังนั้น ความเชื่อที่ว่า การกินยามากทำให้ไตวาย ก็คงไม่ถูกเสียทั้งหมด
มีวิธีสังเกตอาการผิดปกติที่พบได้เมื่อไตเสื่อมเรื้อรัง ได้แก่ ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ปัสสาวะมีฟองมาก มีอาการบวมบริเวณหนังตาหรือเท้า ถ้าไตทำงานลดลงมาก อาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียนได้ หากมีอาการเหล่านี้ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจการทำงานของไต ซึ่งการตระหนักถึงการใช้ยาควบคู่ไปกับการตรวจคัดกรองโรคไตเป็นระยะ ๆ จะช่วยให้ห่างไกลโรคไตวายได้