ในการทำงานเพื่อลดปัญหาเอดส์ งานเพศศึกษาถือเป็น “ขา” หนึ่งที่สำคัญของงานเชิงป้องกัน งานเพศศึกษาไม่ใช่การรณรงค์ให้เยาวชนป้องกันเมื่อมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น แต่ที่มากไปกว่าคือการทำให้เยาวชนมีทักษะในการคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจบนฐานข้อมูลที่รอบด้าน และรับผิดชอบต่อการตัดสินใจในครั้งนั้นๆ ได้
อย่างไรก็ตาม กระบวนการเรียนรู้เพศศึกษารอบด้านของเยาวชนนั้น “ครู” ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญครับ เพราะครูจะเป็นผู้
จัดกระบวนการเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้กับเยาวชนในโรงเรียน แต่น่าเสียดายว่า บ้านเราไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดที่ผลิตครูสอนเพศศึกษาโดยตรง มีแต่ผลิตครูที่จะจบมาเพื่อสอนวิชาหลักๆ เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ สุขศึกษา-พลศึกษา ทำให้ที่ผ่านมา การทำงานเพศศึกษากับเยาวชนของเรา จึงต้องเริ่มที่การสร้างครูที่จะสอนเพศศึกษาด้วยการพัฒนาองค์ความรู้เรื่องเพศวิถี การปรับทัศนคติเรื่องเพศและเยาวชน รวมทั้งฝึกทักษะการสอนโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (การยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ)
แม้ว่ามาตรฐานการเรียนรู้ของวิชาเพศศึกษาส่วนใหญ่จะตรงกับตัวชี้วัดในวิชาสุขศึกษาและแนะแนว แต่ที่ผ่านมาครูที่มาอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมเป็นครูผู้จัดกระบวนการเรียนรู้เพศศึกษากับทางโครงการฯ นั้นหลากหลายมากจนกล่าวได้ว่ามีครูจากทุกกลุ่มสาระ เช่น ครูคอมพิวเตอร์ ครูวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ ครูคณิตศาสตร์ ครูภาษาไทย จนครูที่มาฝึกอบรมบางส่วนรู้สึกว่า “ฉันไม่เกี่ยว” พร้อมทั้งตั้งคำถามว่า ครูจากกลุ่มสาระใดกันแน่ที่ควรเป็นผู้สอนเพศศึกษา?
คำถามข้างต้น ผมตอบไม่ได้หรอกครับ เพราะจากประสบการณ์การทำงานเราพบว่า หลายครั้งที่ครูที่น่าจะเกี่ยวข้องกับงานเพศศึกษาด้วยเนื้อหาวิชาหรือความรับผิดชอบ เช่น ครูสุขศึกษา ครูแนะแนว ครูพยาบาล กลับไม่สามารถจัดกระบวนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ ในขณะเดียวกันเราก็พบอีกว่าครูที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับงานเพศศึกษาเลย เช่น ครูภาษาไทย ครูคอมพิวเตอร์ กลับสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ได้ดี
ดังนั้น เรื่องที่ว่าควรเป็นครูจากลุ่มสาระวิชาใดที่จะเป็นผู้สอนเพศศึกษาจึงไม่มีคำตอบ เพราะคำตอบอยู่ที่ว่า “เรา” ซึ่งไม่ว่าจะเป็นครูจากกลุ่มสาระวิชาใดก็ตาม สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ได้หรือไม่
การจัดกระบวนการเรียนรู้ ต่างจาก การสอน เพราะการจัดกระบวนการเรียนรู้ คือการให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แสดงความเห็น และอภิปรายประเด็นต่างๆ โดยที่ครูทำหน้าที่เป็น “ผู้เอื้ออำนวย” ให้ผู้เรียนสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ ทักษะสำคัญของครูจึงไม่ใช่การบอกหรือสอน แต่เป็นการ “ตั้งคำถาม” เพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดการคิดวิเคราะห์และต่อยอดนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปรับใช้ในชีวิตจริงได้
นอกเหนือจากสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ได้แล้ว ครูที่สามารถสอนเพศศึกษาได้ดี ส่วนใหญ่จะมี “ทัศนคติ” ที่เป็นบวกต่อเรื่องเพศและเยาวชนครับ
“เป็นบวก” ที่หมายถึงไม่ตัดสินวิธีคิดเรื่องเพศที่ต่างไปจากความคิด ความเชื่อของตัวเอง เช่น เราเคยพบครูที่เชื่อว่าเพศหญิงควรรักนวลสงวนตัว แต่เมื่อไปจัดกระบวนการเรียนรู้เราก็พบว่าครูคนนี้ไม่ได้พยายามบอกผู้เรียนว่า หากไม่รักนวลสงวนตัวแล้วจะกลายเป็นคนไม่ดี ไม่มีคุณค่าในตัวเอง ทั้งยังแสดงออกว่าเคารพในวิถีทางเพศของผู้เรียน หากว่าผู้เรียนเลือกที่จะมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่ง เป็นต้น
ท้ายที่สุด สิ่งที่สำคัญอีกประการคือ ทัศนคติที่เชื่อมั่นในศักยภาพของเยาวชน เชื่อว่า แม้จะเป็นเยาวชนก็สามารถคิด วิเคราะห์ และตัดสินใจเลือกวิถีทางเรื่องเพศของตัวเองและรับผิดชอบในสิ่งที่เลือกได้ ประการนี้มีความสำคัญมากเช่นกัน และโดยส่วนตัวของผมเชื่อว่าเป็นทัศนะที่เปลี่ยนได้ยากกว่าทัศนะเรื่องเพศด้วยซ้ำไป เพราะสังคมไทยเคารพความอาวุโส เด็กควรเชื่อฟังผู้ใหญ่ เราจึงมีสุภาษิตมากมายที่บอกให้เด็กเชื่อฟังและปฏิบัติตามผู้ใหญ่แล้วผลดีจะเกิดขึ้นกับตัวเด็กเอง เช่น เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน เป็นต้น แต่วิธีคิดนี้เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เยาวชนบ้านเราไม่เกิดการเรียนรู้ เพราะจะทำอะไรก็มีผู้ใหญ่คอยบอก คอยสั่ง คอยจัดการให้ทุกอย่าง เนื่องจากไม่เชื่อว่าเด็กจะทำได้
ผมคิด 3 เรื่องหลักนี้ คือ ความสามารถในการจัดกระบวนการเรียนรู้ ทัศนคติเรื่องเพศ และความเชื่อมั่นในเยาวชน คือ สิ่งที่บอกว่าเราจะสามารถเป็นผู้จัดการเรียนรู้เพศศึกษาได้มากกว่าความรับผิดชอบตามหน้าที่ว่าเราสอนวิชาอะไร เป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับเพศศึกษาหรือไม่
“นโยบาย” หรือ “ระบบ” การจัดการศึกษาทั้งระดับประเทศและระดับโรงเรียนอาจเอื้อให้งานเพศศึกษาราบรื่น ดำเนินการไปได้เหมือนกับวิชาหลักอื่นๆ แต่ผู้เรียนจะเกิดการ “เรียนรู้” หรือไม่ คำตอบคงไม่ได้อยู่ที่ นโยบาย ระบบหรือการจัดการ
แต่อยู่ที่ “ครูผู้สอน” มากกว่าครับ