วันนี้ (5 มี.ค.) รศ.ดร.บุปผา ศิริรัศมี สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการวิจัยติดตามผลกระทบจากนโนบายควบคุมการบริโภคยาสูบ (ประเทศไทย) กล่าวว่า เนื่องในวันสตรีสากลตรงกับวันที่ 8 มี.ค.นั้น จากผลการสำรวจติดตามผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่ 2,000 คน และวัยรุ่น 1,000 คน มาเป็นเวลา 7 ปี ตั้งแต่ปี 2548-2554 พบว่า เพศหญิงมีความรู้เรื่องพิษภัยจากการสูบบุหรี่สูงกว่าเพศชาย เช่น การสูบบุหรี่ทำให้แก่เร็วกว่าอายุ เป็นสาเหตุของมะเร็งในช่องปาก โรคหลอดเลือดในสมองเป็นต้น ผู้หญิงรู้สึกว่าสังคมไทยไม่ยอมรับการสูบบุหรี่ในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ชาย ในขณะที่ผู้ชายมากถึง 8 ใน 10 คน ไม่ยอมรับการสูบบุหรี่ของผู้หญิง
“สัดส่วนของเพศหญิงที่สูบบุหรี่ต่ำกว่าเพศชายถึง 10 เท่า ชี้ให้เห็นว่าหญิงไทยไม่นิยมการสูบบุหรี่ สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่ทั้งเพศชายและเพศหญิงเคยพยายามเลิกสูบบุหรี่ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน คือ ประมาณร้อยละ 70 ส่วนของวัยรุ่นพบว่า วัยรุ่นชายสูบบุหรี่มากกว่าวัยรุ่นหญิงถึง 10 เท่า เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ วัยรุ่นไทยทั้งเพศชายและเพศหญิง ยอมรับการสูบบุหรี่ของเพศชายมากกว่าการสูบบุหรี่ของเพศหญิง และเมื่อวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงของการสูบบุหรี่ในวัยรุ่น พบว่า วัยรุ่นชายมีความเสี่ยงต่อการสูบบุหรี่มากกว่าวัยรุ่นหญิงถึง 20 เท่า” รศ.ดร.บุปผา กล่าว