แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง เตือนว่า การใช้เครื่องสำอางหมดอายุอาจเป็นสาเหตุของปัญหาผิวหน้า เช่น สิว ฝ้า กระ ผื่นแพ้ต่างๆ ผิวหนังอักเสบ คัน บวมแดง ร้ายแรงกว่านั้น ก็คือ อาจก่อให้เกิดโรคผิวหนังเรื้อรัง เยื่อบุตาอักเสบ และปากเปื่อย ฯลฯ
เครื่องสำอางสามารถเสื่อมสภาพได้เมื่อเวลาผ่านไป พวกสารกันบูดอาจจะอ่อนฤทธิ์ลงกว่าตอนที่เพิ่งซื้อมา หรือการสัมผัสกับฝุ่นละออง อากาศ แสงแดด ความร้อน ความชื้น หรือเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนอยู่ตามนิ้วที่ใช้ทาเครื่องสำอาง และเข้าไปสะสมอยู่ในผลิตภัณฑ์
จากการสำรวจ พบว่า ผู้หญิงร้อยละ 89 ไม่รู้ว่ามีข้อมูลบอกอายุขัย หรืออ่านแล้วไม่เข้าใจหรือไม่อ่าน เพราะพิมพ์ด้วยตัวอักษรที่เล็กมาก ร้อยละ 72 ไม่เคยล้างฟองน้ำหรือแปรง และร้อยละ 68 จะเปลี่ยนเครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวก็ต่อเมื่อใช้จนหมดแล้วเท่านั้นโดยไม่สนใจว่าใช้มานานเท่าไรแล้ว
เครื่องสำอางที่ดีควรจะระบุวันเดือนปีที่ผลิต จะให้ดียิ่งกว่านั้นควรจะบอกวันหมดอายุเอาไว้ด้วย แต่สาวๆ หลายคนคงจะเจอปัญหาเหมือนๆ กัน นั่นคือเครื่องสำอางที่ซื้อมากลับไม่ได้ระบุวันหมดอายุเอาไว้
คณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.ชี้แจงสาเหตุที่ฉลากเครื่องสำอางไม่ระบุวันหมดอายุว่า “โดยทั่วไปอายุของเครื่องสำอางจะยาวนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ การบรรจุ วัตถุกันเสีย และวิธีการเก็บรักษาเครื่องสำอาง สาเหตุที่กฎหมายไม่กำหนดให้ฉลากเครื่องสำอางแสดงวันหมดอายุให้ผู้บริโภคทราบ ก็เนื่องจากอายุของเครื่องสำอางสามารถผันแปรได้ง่ายตามวิธีการเก็บรักษา หากเก็บรักษาเครื่องสำอางในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ การเก็บอยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิสูง ถูกแสงแดด ความร้อน จะทำให้วัตถุกันเสีย และสารที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอางเสื่อมสภาพเร็ว และอาจจะทำให้เครื่องสำอางนั้นหมดอายุก่อนวันหมดอายุจริงก็ได้ หรืออีกนัยหนึ่ง หากถูกเก็บอยู่ภายใต้สภาวะที่เหมาะสมอาจจะคงคุณภาพได้ยาวนานกว่าวันหมดอายุ ดังนั้น จึงเป็นไปได้ยากที่จะให้ผู้ผลิตกำหนดวันหมดอายุที่แน่นอนแสดงบนฉลาก สำหรับวิธีตรวจสอบเบื้องต้นว่าเครื่องสำอางหมดอายุหรือไม่ สามารถตรวจสอบจากสีและกลิ่นของเครื่องสำอางได้ หากเครื่องสำอางเกิดการเปลี่ยนสภาพ เปลี่ยนสี หรือเปลี่ยนกลิ่น ให้ทิ้งทันที เนื่องจากเครื่องสำอางนั้นเสื่อมสภาพแล้ว” (ข้อมูลจากบริการสายด่วน อย.1556)
ดังนั้น ผู้บริโภคจึงต้องรู้จักสังเกตด้วยตัวเองว่าเครื่องสำอางที่ใช้อยู่นั้นหมดอายุหรือยัง โดยมีหลักคร่าวๆ ให้พิจารณาดังนี้
- มาสคารา หมดอายุภายใน 3 เดือน หลังจากเปิดใช้ สาเหตุที่มาสคาร่ามีอายุการใช้งานสั้น เนื่องจากด้ามแปรงที่ปัดขนตาเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรีย เพราะต้องจุ่มเข้า-ออก ทำให้สัมผัสกับอากาศบ่อยครั้ง ดังนั้นไม่ควรปั๊มมาสคาร่า ให้ใช้วิธีขยับแปรงกระทบด้ามเบาๆ ก็พอแล้ว
- รองพื้น หากเป็นแบบผสมน้ำ จะหมดอายุภายใน 1 ปีหลังจากเปิดใช้ หากเป็นแบบผสมน้ำมันจะหมดอายุภายใน 1 ปีครึ่งหลังจากเปิดใช้ สามารถยืดอายุการใช้งานให้นานขึ้นโดยปิดฝาให้สนิทแล้วเก็บไว้ในตู้เย็น และใช้แปรงหรือฟองน้ำแทนการสัมผัสรองพื้นโดยตรง
- แป้งฝุ่นทาหน้าหรือบลัชออนทาแก้ม หมดอายุภายใน 2 ปีหลังจากเปิดใช้ ควรยืดอายุการใช้งานด้วยการใช้แปรงแทนการใช้มือสัมผัสโดยตรง
- อายแชโดว์ หมดอายุภายใน 2 ปีหลังจากเปิดใช้ครั้งแรก
- อายไลเนอร์ หรือดินสอเขียนขอบตา หากเหลาเป็นประจำ จะหมดอายุภายใน 2 ปีหลังจากเริ่มใช้ แต่ถ้าหากเป็นอายไลเนอร์ชนิดน้ำจะมีอายุเพียงแค่ 3-6 เดือนหลังจากเปิดใช้
- ลิปสติก หมดอายุภายใน 2 ปีหลังจากเปิดใช้ครั้งแรก แต่ลิปกลอสมีอายุการใช้งานเพียง 1 ปีเท่านั้น โดยเฉพาะแบบจิ้มจุ่ม สามารถยืดอายุการใช้งานของลิปสติกให้นานขึ้นโดยปิดฝาให้สนิทแล้วเก็บไว้ในตู้เย็น และควรใช้คู่กับพู่กันทาปากจะดีกว่าการทาลงบนริมฝีปากโดยตรง เพราะจะทำให้เนื้อลิปสติกปลอดจากการปนเปื้อนของแบคทีเรีย
- ลิปไลเนอร์ หรือดินสอเขียนขอบปาก หมดอายุภายใน 2 ปีหลังจากเปิดใช้ครั้งแรก
- ดินสอเขียนคิ้ว หมดอายุภายใน 2 ปีหลังจากเปิดใช้ครั้งแรก
- ยาทาเล็บ ปกติจะหมดอายุภายใน 1 ปีหลังเปิดใช้ ระหว่างนั้นหากไม่ค่อยได้ใช้ ควรเขย่าขวดบ่อยๆ จะช่วยไม่ให้น้ำยาทาเล็บเกาะตัวกัน หากเก็บไว้จนแข็งให้ใช้น้ำยาล้างเล็บผสมลงไปแล้วเขย่าให้สีละลาย จะช่วยยืดอายุการใช้งานได้
- น้ำหอม หากยังไม่ได้เปิดใช้และเก็บให้ห่างจากแสงสว่างและความร้อน จะหมดอายุภายใน 3 ปี แต่หากเริ่มเปิดใช้ จะหมดอายุภายใน 1 ปีครึ่ง แต่ถ้าเริ่มมีกลิ่นผิดปกติหรือมีกลิ่นฉุน มีสีคล้ำลงหรือเปลี่ยนสี หรือมีลักษณะข้นเหนียว แสดงว่าน้ำหอมนั้นหมดอายุแล้ว
- ครีมหรือโลชั่นบำรุงผิว หมดอายุภายใน 1 ปีหลังจากเปิดใช้ครั้งแรก หรือสังเกตสัญลักษณ์คล้ายรูปกระป๋องเปิดฝาที่ข้างขวด เช่น มีตัวเลข 12M อยู่ในกระป๋อง หมายความว่าหลังจากเปิดใช้จะมีอายุการใช้งาน 12 เดือน
ทั้งหมดนั้นเป็นวิธีการประเมินในเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาวันที่ผลิตประกอบด้วย เพราะเราไม่รู้ว่าเครื่องสำอางนั้นวางอยู่บนชั้นวางสินค้ามานานแค่ไหนก่อนที่เราจะไปซื้อ ต้องคำนวณระยะเวลาการใช้งานหลังจากเปิดใช้ประกอบกับดูวันที่ผลิตหรือวันหมดอายุด้วย
นอกจากนี้ เครื่องสำอางอาจมีอายุการใช้งานนานหรือสั้นกว่านี้ ขึ้นอยู่กับการใช้งานและการเก็บรักษา ดังนั้นทางที่ดีจึงควรหมั่นสังเกตเครื่องสำอางอยู่เสมอ ตามหลักการง่ายๆ ดังนี้
- การดมกลิ่นเป็นวิธีที่ง่ายและใช้ได้ผลมากที่สุด เมื่อซื้อเครื่องสำอางมาใหม่ๆ ให้ลองดมกลิ่นดูแล้วจำไว้ หลังจากนั้น ก่อนจะใช้ทุกครั้งก็ให้ดมกลิ่นดูก่อนเพื่อเปรียบเทียบกันว่ากลิ่นเปลี่ยนไปหรือยัง เพราะเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของน้ำมัน เมื่อหมดอายุแล้วมักจะมีกลิ่นหืน
- สังเกตสีของเครื่องสำอางว่าเปลี่ยนไปหรือไม่ หรือมีเชื้อราขึ้นหรือไม่
- ถ้ามีการแยกชั้นของเนื้อครีม และน้ำมันในผลิตภัณฑ์ หรือลิปสติกที่มีเม็ดเหงื่อหรือหยดน้ำเกาะ ก็ไม่ควรนำมาใช้อีก เพราะเม็ดเหงื่อที่เห็นก็คือไขมันที่แยกตัวออกมาจากเนื้อครีมนั่นเอง
- หากไม่แน่ใจจริงๆ ว่าหมดอายุแล้วหรือยัง ให้ทดลองทาที่ใต้ท้องแขนแล้วทิ้งไว้สัก 30 นาทีก่อนนำไปใช้ เพื่อดูว่าแพ้หรือไม่ แต่หากไม่อยากเสี่ยงก็ทิ้งไปไม่ต้องเสียดาย
วิธีการดูแลรักษาเครื่องสำอาง
- เก็บเครื่องสำอางไว้ในที่สะอาด แห้ง และเย็น หลีกเลี่ยงที่ร้อน ชื้น และแสงแดดส่องถึง
- การเก็บเครื่องสำอางไว้ในตู้เย็นไม่ดีเสมอไป เพราะความชื้นในตู้เย็นจะทำให้เครื่องสำอางที่มีเนื้อเป็นแป้งเสียคุณสมบัติได้
- ควรปิดฝาบรรจุภัณฑ์ให้เรียบร้อยทันทีที่ใช้เสร็จ เพื่อป้องกันฝุ่นและเชื้อโรคที่อาจเข้าไปปนเปื้อน
- อุปกรณ์แต่งหน้า เช่น พัฟฟ์ และแปรง ก็ควรหมั่นล้างทำความสะอาดสักเดือนละครั้งด้วยน้ำสบู่อุ่นๆหรือเปลี่ยนใหม่อยู่เสมอ เพราะเป็นแหล่งสะสมเชื้อแบคทีเรียได้เช่นกัน
- ไม่ควรใช้เครื่องสำอางและอุปกรณ์แต่งหน้าร่วมกับคนอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อโรคถึงกัน
การซื้อเครื่องสำอางลดราคาก็ต้องดูให้ดี เพราะส่วนใหญ่มักเป็นสินค้าใกล้หมดอายุแล้ว จึงสามารถนำมาขายได้ในราคาถูก สำหรับคนที่แต่งหน้าเป็นประจำทุกวันเมื่อเลือกดีแล้วก็ซื้อได้เลย แต่ไม่แนะนำให้ซื้อยกโหล เพราะเครื่องสำอางอาจเสื่อมสภาพก่อนที่จะได้ใช้ น่าเสียดายยิ่งกว่าไม่ได้ซื้อเก็บไว้เสียอีก ส่วนคนที่นานๆ แต่งหน้าที ก็อย่าซื้อเยอะนัก เพราะถ้าซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ ก็ไม่ต่างอะไรกับการเอาเงินไปทิ้งเฉยๆ