เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2556 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ทวี ตั้งเสรี รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า หลายคนคิดว่าการออกกำลังกายและเล่นกีฬานั้นเป็นเรื่องที่ดีทำให้จิตใจร่าเริงแจ่มใส แต่กลับมีข่าวอยู่บ่อย ๆ ว่าผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างนักฟุตบอลมีแนวโน้มจะฆ่าตัวตายเป็นจำนวนมาก สาเหตุที่นักฟุตบอลส่วนใหญ่มีแนวโน้มฆ่าตัวตาย เนื่องจากนักกีฬาจะได้รับความกดดันตลอดเวลา ทั้งจากการฝึกซ้อมที่ทำซ้ำ ๆ อยู่ตลอดเวลา การเร่งศักยภาพทางร่างกายเพื่อแย่งตำแหน่งตัวจริงในสนาม
นอกจากนี้ การรักษาฟอร์มการเล่น เป็นปัจจัยที่ทำให้นักกีฬามีความเครียดสูง จนพัฒนากลายเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งอาการของโรค คือ ท้อแท้-หดหู่ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด พักผ่อนเท่าไรก็ไม่พอ หากปล่อยไว้นาน ๆ มักไปสิ้นสุดโดยการฆ่าตัวตาย ทั้งนี้ เพื่อนร่วมทีมและคนในครอบครัวมีส่วนสำคัญที่จะช่วยป้องกันด้วยการให้กำลังใจและประคับประคอง เพื่อช่วยให้นักกีฬากับมาสร้างประโยชน์ให้กับทีมต่อได้
นพ.ทวี กล่าวต่อว่า โรคซึมเศร้ารักษาให้หายขาดได้ด้วยการทานยาเป็นเวลา 6 เดือน และสามารถรับการรักษาได้ตามโรงพยาบาลทั่วไป หากสงสัยว่าตัวเองจะเป็นโรคซึมเศร้า กรมสุขภาพจิตก็มีแบบทดสอบในเว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต พร้อมย้ำว่าโรคนี้เกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่เว้นแม้แต่นักกีฬาอาชีพ ส่วนการป้องกันด้วยการออกกำลังกายนั้น เพียงแค่เดินหรือวิ่งวันละ 30 นาที อาทิตย์ละ 3 - 5 วัน ก็จะลดความเสี่ยงได้