.เกลือโลหะย้อมผม (Metallic hair dyes) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Hair restorers
ผลิตภัณฑ์ส่วนมากเป็นครีมหรือโลชั่นแต่งผม มีสารออกฤทธิ์สำคัญคือ ตะกั่วอะซิเตด (มีบางผลิตภัณฑ์ที่ใช้ซิลเวอร์ไนเตรต) มีวิธีใช้โดยทาทุกวันจนได้สีตามต้องการ สีจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ และดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง สำหรับผมสีเทา โดยปกติจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลือง น้ำตาล และ ดำ ทั้งนี้ขึ้นกับความเข้มข้นของตะกั่วอะซิเตด จำนวนครั้งที่ทา และระยะเวลา สีที่เกิดขึ้นเนื่องจาก มีการสะสมเกลือโลหะบนส่วนนอกของเส้นผมและทำปฏิกิริยากับแสงแดด และ อากาศ ทำให้เกิดออกไซด์ หรือ ซัลไฟด์ของโลหะซึ่งไม่ละลายน้ำ สีที่เคลือบเส้นผมมักจะติดขอบหมวก ปลอกหมอน ที่นอน การทาซ้ำๆ ที่เส้นผมที่งอกใหม่บ่อยๆ จะมองไม่เห็นความแตกต่างของสีที่เกิดทั้งบริเวณใกล้หนังศีรษะและตลอดความยาวของเส้นผม ทั้งนี้เพราะสีค่อยๆเกิด
ความเป็นพิษ
เกลือโลหะที่ย้อมผมไม่เป็นอันตรายโดยตรงต่อผิวหนัง แต่เมื่อใช้ไปนานๆ จะมีการสะสมของของโลหะในร่างกาย ทำให้เกิดพิษได้ ดังนั้นต้องระมัดระวังในการใช้ดังนี้
1.เก็บให้พ้นมือเด็ก
2.ห้ามใช้กับผิวหนังที่ถลอก
3.ห้ามใช้กับยาย้อมหนวด
4.อย่าให้เข้าตา หากเข้าตาให้ล้างตาอย่างทั่วถึง
5.ล้างมือให้สะอาดทั่วถึงหลังการใช้ทุกครั้ง
2.สมุนไพรย้อมผม (Vegetable hair dyes)
เฮนนา เป็นพืชที่ใช้ย้อมผมตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน ประกอบด้วยผงของใบและกิ่งแห้ง ซึ่งเก็บจากต้นก่อนที่จะออกดอก เนื่องจากมี 2-ไฮดรอกซี-1,4-แนพธาควิโนน (2-hydroxy-1,4-naphthaquinone) หรือที่เรียกว่า ลอร์โซน (Lowsone) ซึ่งละลายในน้ำร้อน
วิธีการย้อม ใช้ผงเฮนนาผสมน้ำเล็กน้อยเป็นลักษณะแป้งเปียกและทำให้เป็นกรดเล็กน้อยพอกบนเส้นผมที่เปียก ห่อเส้นผมไว้ด้วยผ้าเช็ดตัวและทิ้งไว้ประมาณ 5-10 นาที หลังจากนั้นสระด้วยแชมพูจากนั้นล้างออก ปล่อยให้แห้ง โดยระยะเวลาที่ใช้ขึ้นกับสีที่ต้องการ ความหยาบละเอียดของเส้นผม และการออกฤทธิ์ของเฮนนา ความเป็นกรดของสารพอก และอุณหภูมิขณะห่อเส้นผม สีเคลือบจะติดเส้นผมโดยมีผลต่อชั้นนอก (Cuticle) ของเส้นผม ได้สีแดงเรื่อปนน้ำตาล การย้อมซ้ำๆ ทำให้ได้ผลลดลง และทำให้ผมด้าน
เฮนนาอาจย้อมติดปลายนิ้ว หรือ เล็บ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง การย้อมด้วยผงเฮนนามีความยุ่งยากในการใช้
ความเป็นพิษ
เฮนนาไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองและอาการแพ้ ไม่มีความเป็นพิษที่ผิวหนัง และระบบภายในร่างกาย เฮนนาใช้สำหรับย้อมผมเท่านั้น ห้ามใช้กับหนังศีรษะที่เป็นแผล ห้ามใช้ย้อมขนตา ขนคิ้ว หรือ รอบดวงตา
3.ยาย้อมผมชนิดชั่วคราว (Temporary hair dyes)
สามารถล้างออกได้หลังจากการสระผมครั้งแรก ผลิตภัณฑ์นี้ใช้สีที่มีโมเลกุลใหญ่ ซึ่งติดสะสมบนผิวของเส้นผม โดยไม่ซึมเข้าไปที่ชั้นกลาง (Cortex) ของเส้นผมเพื่อให้ปอยผมมีสีจัดจ้า สดใส สีสว่างมากกว่าที่ใช้ในยาย้อมผมชนิดอื่น ยาย้อมผมชนิดนี้มักใช้และสระออกในวันเดียวกัน
ผลิตภัณฑ์ทางการค้า ได้แก่
ก. รินส์โลชั่น (Rinse lotion ) เป็นสีที่ใช้ในรูปสารละลายของน้ำหรือสารละลายของน้ำกับแอลกอฮอล์ ใช้ย้อมได้ทันทีหรือโดยเจือจางด้วยน้ำก่อนการใช้
ข. โลชั่นเซ็ทผมและแต่งสีผม (Coloured setting lotion) ประกอบด้วยสีผสมในตัวกลางสารละลายโพลีเมอร์ในน้ำ หรือในสารละลายของน้ำกับแอลกอฮอล์ เพื่อให้แห้งเร็ว
ค.ดินสอทาสีผม (Hair crayons) ต้องใช้เป็นประจำเหมือนกับการใช้มาสคาราสำหรับปกปิดเส้นผมที่งอกใหม่หลังการย้อม วิธีการใช้คือ ทำให้ปลายดินสอนี้เปียก แล้วทาตลอดบนเส้นผม เริ่มตั้งแต่หนังศีรษะ
ความเป็นพิษ
ปลอดภัยในการใช้เพราะสีที่ใช้มักเป็นสีที่รับรอง (Certified colour) และใช้เพียงชั่วคราวแล้วล้างออก
4.ยาย้อมผมชนิดกึ่งถาวร (Semipermanent hair dyes)
มีส่วนประกอบของสีซึ่งมีขนาดโมเลกุลเล็ก สามารถซึมเข้าไปถึงชั้นกลาง (Cortex) ของเส้นผมได้โดยไม่ต้องมีสารเปอร์ออกไซด์ สีจะคงทนนาน 3-5 สัปดาห์ สีที่ใช้ได้แก่
1.ไนโตรฟีนีลีนไดอะมีน
2.ไนโตรอะมิโนฟีนอล
3. อะมิโนแอนทราควิโนนส์ และสีอื่นๆ
ผลิตภัณฑ์ทางการค้า ได้แก่ แชมพูย้อมสีผม โลชั่น หรือ โฟมย้อมสีผม
ความเป็นพิษ
เนื่องจากสีบางชนิดที่ใช้เป็นสีเช่นเดียวกับที่ใช้ในยาย้อมผมชนิดถาวร ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง อาการแพ้หรือ ทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลอง ดังนั้นจึงต้องมีการทดสอบอาการแพ้ก่อนใช้ทุกครั้งเช่นเดียวกับยาย้อมผมชนิดถาวร และควรปฏิบัติตามวิธีใช้ และคำเตือนอย่างเคร่งครัด
5.ยาย้อมผมชนิดถาวร (Permanent hair dyes)
ทำให้เกิดสีย้อมติดคงทนถาวรในชั้นกลาง (Cortex) ของเส้นผม ผลิตภัณฑ์นี้มักมี 2 ขวด
ขวดที่1 คือ ส่วนผสมของสีในตัวกลางที่เหมาะสม มักเป็นครีม หรือโลชั่น
ขวดที่ 2 คือ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์
วิธีใช้ ผสมน้ำยาขวดที่ 1 และ 2 เข้าด้วยกัน ผสมกันให้ดี แล้วใช้ทาเส้นผมทันที เกิดปฏิกิริยาขณะที่สีกำลังแพร่กระจายเข้าไปในเส้นผม สีที่เกิดในเส้นผมจะยังคงอยู่หลังจากการล้าง เนื่องจากสีที่เกิดประกอบด้วยโมเลกุลขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะแพร่กระจายออกมาจากเส้นผม สีจึงไม่ถูกกำจัดออกจากเส้นผมโดยง่าย คงทนต่อการสระ จึงเรียกว่ายาย้อมผมชนิดถาวร
ความเป็นพิษ
พาราฟีนีลีนไดอะมีน และ พาราโทลูไดอะมีน เป็นตัวยาสำคัญของยาย้อมผมชนิดถาวรซึ่งนิยมใช้มากในประเทศไทย และเป็นสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ และผิวหนังอักเสบ พารฟีนีไดอะมีน ทำให้ผู้ใช้เกิดอาการแพ้ได้ร้อยละ 4 และเป็นผู้เกิดอาการแพ้รุนแรงร้อยละ 1 โดยเริ่มแรก ผิวหนังมีผื่นแดง มีอาการบวมรอบนัยน์ตา ต่อมาผื่นแดงจะกลายเป็นตุ่มใส และมีน้ำเหลือง มีอาการคันมาก บริเวณที่เกิดเป็นตั้งแต่ศีรษะ ใบหน้า และ ต้นคอ ถ้าแพ้มากทำให้หายใจลำบาก นอกจากนั้นทำให้เกิดจ้ำเขียว เป็นผื่น มีผู้ทดลองพบว่า สารพวกนี้ทำให้เกิดเนื้องอกในสัตว์ทดลองได้
แม้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่สรุปได้ว่ายาย้อมผมทำให้เกิดเนื้องอกในคนก็ตาม ก็ควรล้างผมให้สะอาดด้วยน้ำ เพื่อให้แน่ใจว่าสีที่เหลือทั้งหมดถูกชะล้างออกจากหนังศีรษะ และเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น สตรีมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการย้อมผม
เนื่องจากสีย้อมผมชนิดออกซิเดชั่น ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ การแพ้ไม่สามารถทำนายได้ล่วงหน้า บางครั้งใช้ผลิตภัณฑ์บางอย่างมานานเป็นปีจึงค่อยเกิดอาการแพ้ จึงควรทดสอบการแพ้ก่อนย้อมผมอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ก่อนการย้อมผมทุครั้งด้วยสีดังกล่าว โดยปฏิบัติตามวิธีการใช้ และคำเตือนอย่างเคร่งครัด