xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์กองทัพอาระกันเตรียมเกณฑ์ทหารกับผู้อยู่อาศัยในรัฐยะไข่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



MGR ออนไลน์ - หนึ่งในกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ทรงพลังที่สุดของพม่าจะเริ่มเกณฑ์ทหารกับผู้อยู่อาศัยทุกคนที่มีอายุมากกว่า 18 ปี ตามการเปิดเผยของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่

กองทัพอาระกัน (AA) ที่ควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของพม่า กำลังจัดการกระบวนการบริหารในรัฐ ที่จะทำให้การเกณฑ์ทหารเป็นข้อผูกมัดทางกฎหมาย แหล่งข่าวใกล้ชิดกับกองทัพอาระกันเปิดเผยกับสำนักข่าววิทยุเอเชียเสรี และเสริมว่ารายละเอียดจะเปิดเผยในเร็วๆ นี้

ชาวบ้านจากเมืองมรัคอูยืนยันว่ากองทัพอาระกันกำลังจัดการประชุมตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อหารือถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหาร

“ผู้ชายที่มีอายุระหว่าง 18-45 ปี จะต้องเข้ารับการฝึกทหารเป็นเวลา 2 เดือน และต้องทำหน้าที่เป็นเวลา 2 ปี” ชาวเมืองมรัคอู กล่าว โดยขอไม่เปิดเผยชื่อด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

เขาเสริมว่าผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 18-35 ปี ก็ต้องเข้าเป็นทหารเช่นกัน

ทั้งนี้ ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลว่าผู้ถูกเกณฑ์จะต้องทำอะไรหรือจะต้องเข้าร่วมการสู้รบหรือไม่ ซึ่งสร้างความกังวลให้กับพลเรือนในพื้นที่ที่เผชิญกับการสู้รบ ที่ได้เห็นการโจมตีตอบโต้อย่างรุนแรงจากรัฐบาลทหารพม่า

ปัจจุบัน กองทัพอาระกันควบคุมเมืองในรัฐยะไข่ 14 เมือง จากทั้งหมด 17 เมือง

ด้วยโครงสร้างทางทหารที่ได้รับการจัดการเป็นอย่างดี และได้รับการสนับสนุนจากคนท้องถิ่นอย่างแข็งแกร่ง กองทัพอาระกันได้จัดตั้งการปกครองโดยพฤตินัยในพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐ จัดเก็บภาษีและบริหารงานอย่างเป็นอิสระจากรัฐบาลกลาง

รัฐบาลทหารพม่ามองว่ากองทัพอาระกันเป็นภัยคุกคามอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นทำให้การควบคุมของกองทัพลดลง และเพิ่มความหวังให้กับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์อื่นๆ ที่ต้องการจะปกครองตนเอง

เมื่อเผชิญกับความพ่ายแพ้ต่อกลุ่มติดอาวุธทั่วประเทศ การลงทุนจากต่างประเทศที่ลดลง และการแปรพักตร์จากกองกำลังของตน ทำให้ในเดือนก.พ.ปีก่อน รัฐบาลทหารได้ประกาศใช้กฎหมายเกณฑ์ทหาร ที่กำหนดให้ชายอายุระหว่าง 18-35 ปี และผู้หญิงอายุระหว่าง 18-27 ปี ต้องเข้ารับราชการทหาร

องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายดังกล่าวของกองทัพอย่างรุนแรง โดยให้เหตุผลว่าสิ่งนี้ทำให้วิกฤตด้านมนุษยธรรมที่มีอยู่ในประเทศเลวร้ายลง และละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

ทอม แอนดรูว์ส ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยพม่า ระบุว่าการที่กองทัพกำหนดให้เข้ารับราชการทหารเป็นสัญญาณของความสิ้นหวังและเป็นภัยคุกคามต่อพลเรือนมากขึ้น

การบังคับใช้กฎหมายนี้ส่งผลให้เยาวชนจำนวนมากอพยพหลบหนีการเกณฑ์ทหาร โดยรายงานระบุว่ามีผู้คนหลายพันคนหลบหนีข้ามพรมแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเข้ามาในฝั่งไทย เพื่อหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร.
กำลังโหลดความคิดเห็น