MGR ออนไลน์ - แรงงานชาวพม่าหลายแสนคนในไทยต้องมอบค่าแรงส่วนหนึ่งของพวกเขาให้รัฐบาลทหารที่ปกครองประเทศ มิเช่นนั้นพวกเขาอาจเสี่ยงต่อการตกงาน ตามกฎระเบียบใหม่ที่กองทัพพม่าประกาศใช้ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเก็บเงินตราต่างประเทศและรักษาการปกครองของกองทัพ
เศรษฐกิจของพม่าอยู่ในภาวะวิกฤตนับตั้งแต่กองทัพโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในต้นปี 2564 โดยเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ เช่น ความขัดแย้ง ความไม่มั่นคงของเศรษฐกิจมหภาค และการย้ายที่ของแรงงานที่จำกัดการผลิต นอกจากนี้ ค่าเงินจ๊าตยังร่วงลงจากประมาณ 1,350 จ๊าตต่อดอลลาร์สหรัฐก่อนการรัฐประหาร เป็น 4,500 จ๊าตต่อดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน
รัฐบาลทหารที่กำลังต่อสู้กับการก่อความไม่สงบและการต่อต้านการปกครองของพวกเขาอย่างกว้างขวาง ได้ตอบโต้ด้วยมาตรการต่างๆ รวมถึงการปราบปรามผู้ค้าทองและค้าข้าวเพื่อหยุดการขึ้นราคา และปราบปรามภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้คนซื้อที่อยู่อาศัยในต่างประเทศ
อีกหนึ่งความพยายามที่จะกระตุ้นเงินสำรองระหว่างประเทศ รัฐบาลทหารได้ประกาศเมื่อปลายปีก่อนว่าชาวพม่าที่อาศัยและทำงานในไทยต้องจ่ายภาษีเงินได้ และยังเริ่มกดดันแรงงานในต่างประเทศให้ส่งเงินเดือนของพวกเขากลับบ้านด้วย
ตอนนี้รัฐบาลทหารกำลังหามาตรการเพิ่มเติม และในคำสั่งที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ส.ค. รัฐบาลทหารระบุว่าคนงานราว 250,000 คนในไทยภายใต้โครงการแรงงานที่รัฐบาลสองฝ่ายเห็นชอบ ต้องจ่ายเงิน 1 ใน 4 ของเงินเดือน หรืออย่างน้อย 6,000 บาท ผ่านธนาคารและหน่วยงานของรัฐ ในช่วง 3 เดือนก่อนยื่นคำร้องต่ออายุเอกสารเพื่อให้พวกเขาอยู่ในไทยต่อได้
แรงงานต้องต่ออายุใบอนุญาตหลังอยู่ในไทยเป็นเวลา 4 ปี ที่สำนักงานในเมืองเมียวดีหรือเกาะสองของพม่าที่ชายแดนไทย
กระทรวงแรงงานของพม่าระบุในหนังสือแจ้งว่า แรงงานต้องแสดงหลักฐานการโอนเงินผ่านธนาคารที่ได้รับการรับรอง
ด้านสถานทูตพม่าไม่ได้ตอบสนองต่อคำร้องขอความคิดเห็นในประเด็นนี้
องค์กรด้านสิทธิแรงงานที่ตั้งสำนักงานในไทยระบุว่าทางหน่วยงานได้รับโทรศัพท์จากคนงานที่ไม่พอใจสอบถามเกี่ยวกับคำสั่งใหม่นี้
“การบังคับโอนเงินเป็นสิ่งที่คนงานไม่สามารถยอมรับได้ แต่ถ้าพวกเขาไม่ทำตาม พวกเขาจะกลายเป็นคนงานผิดกฎหมายและไม่สามารถอยู่ในไทยได้” ออง จอ โฆษกของมูลนิธิสิทธิแรงงาน กล่าว
ออง จอ กล่าวว่า กลุ่มของเขาได้เขียนจดหมายถึงรัฐบาลไทยเพื่อขอให้ทางการอนุญาตให้คนงานยังพำนักอยู่ได้แม้ว่าพวกเขาจะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลทหาร รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ก็ได้ยื่นคำร้องในลักษณะเดียวกันนี้เช่นกัน
แรงงานพม่าจำนวนมากในไทยหลบหนีการปราบปรามการชุมนุมประท้วงที่ปะทุขึ้นหลังการรัฐประหารปี 2564 และที่เพิ่งเข้ามาอีกจำนวนมากจากการหลบหนีการเกณฑ์ทหารหลังจากทางการบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารเมื่อต้นปี
ออง จอ กล่าวว่าหลายคนไม่สามารถกลับบ้านได้เนื่องจากชะตากรรมที่พวกเขาอาจต้องเผชิญที่บ้านเกิด และเขากล่าวเสริมว่าเขาหวังให้ทางการไทยอนุญาตให้คนงานอยู่ต่อได้
มีการประเมินว่ามีแรงงานชาวพม่าประมาณ 2 ล้านคนในไทย หรือประมาณ 75% ของแรงงานต่างชาติทั้งหมดในไทย.